xs
xsm
sm
md
lg

กรุงศรีโชว์สินเชื่อเอสเอ็มอีโตทะลุเป้า-จับตาผลกระทบสงครามการค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรุงศรีเผย 9 เดือนแรกสินเชื่อเอสเอ็มอีโต 13% สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 8% พร้อมจับตาสงครามการค้ากระทบการเบิกใช้สินเชื่อ ตรึงเอ็นพีแอลที่ 4%

นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า ผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ในช่วง 9 เดือนแรกของปี สินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดกลาง และขนาดเล็ก เติบโต 13% ที่ 194,000 ล้านบาท จาก ณ สิ้นปี 2560 ที่ 171,000 ล้านบาท จากสินเชื่อ Trade Finance เติบโต 11% สินเชื่อซัปพลายเชนเติบโต 18% ค่าธรรมเนียมเติบโต 19% เงินฝากต้นทุนต่ำ (Average LC CASA) เติบโต 20% หรือมีสัดส่วน 15% ของพอร์ตสินเชื่อรวม ขณะที่เอ็นพีแอล อยู่ที่ 4% จากเอ็นพีแอลของระบบรวม ณ สิ้นไตรมาส 2 ที่ 4.45%

“การเติบโตของสินเชื่อเอสเอ็มอีใน 9 เดือนที่ 13% ก็ถือว่าสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้วที่ 8% แต่เราก็ไม่ได้ตั้งเป้าใหม่ ซึ่งเชื่อว่าในช่วงที่เหลือของปีสินเชื่อก็คงจะเติบโตในอัตราความเร็วที่ใกล้เคียงเดิม และยังคงเป้าหมายเอ็นพีแอลที่ 4% เท่าเดิม”

สำหรับแนวโน้มในระยะต่อไปนั้น ธนาคารก็เริ่มมองเห็นถึงผลกระทบจากสงครามการค้าที่เริ่มจะเข้ามาตั้งแต่ปลายปีนี้แล้ว เพราะสินเชื่อเทรดไฟแนนซ์ของธนาคารน่าจะโตสูงกว่านี้ นอกจากนี้ ก็อาจจะส่งผลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่งออกได้รับผลกระทบ ทำให้มีการเบิกใช้สินเชื่อน้อยลง ซึ่งธนาคารก็จะต้องพยายามหาลูกค้าเพิ่มจากปัจจุบันที่สัดส่วนสินเชื่อปัจจุบันมาจากลูกค้าเก่า-ใหม่ อย่างละ 50% ซึ่งปัจจัยนี้ก็ถือเป็นอีกเรื่องที่ท้าทายของธนาคารในปีหน้า

ล่าสุด ธนาคารเปิดตัวกลุ่มบริการ Krungsri SME Empowerment บริการเพื่อต่อยอดธุรกิจผ่านการผสานพลังศักยภาพระหว่างกรุงศรี และ MUFG โดยในปีที่ผ่านมา ได้จัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้กับลูกค้าในการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีการเติบโตสูง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจด้วยบริการ SME Online Business Matching เพื่อขยายช่องทางการจำหน่ายให้กับลูกค้า SME ผ่านแพลตฟอร์มเว็บไซต์ของธนาคาร และความร่วมมือกับพันธมิตรของธนาคารทั้งในและต่างประเทศ

ส่วนผลสำรวจความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ SME ทุกๆ ไตรมาส ล่าสุด ไตรมาส 3 Krungsri SME Index โดยรวมปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสที่แล้วมาอยู่ที่ 3.82 จาก 3.20 โดยได้รับปัจจัยหนุนจากภาคการส่งออกของไทยที่ขยายตัวต่อเนื่อง และความคืบหน้าของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขณะที่แนวโน้มไตรมาส 4 ดัชนีความเชื่อมั่น SME อยู่ในแดนบวกที่ 27.26 จากไตรมาสก่อนที่ 16.89 โดยผู้ประกอบการมองแนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 4 จะยังเติบโตได้ดีต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น