xs
xsm
sm
md
lg

คลังเผยงบปี 62 ดึงลงทุนเข้าระบบ CoST เพิ่มกว่า 200 โครงการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“กรมบัญชีกลาง” เล็งปี 62 เตรียมดึงหน่วยงานเจ้าของโครงการลงทุนเข้าสู่ระบบ CoST เพิ่มอีก 200-300 โครงการ เพื่อประหยัดงบประมาณ เผยรูปแบบโครงการลงทุนส่วนท้องถิ่นจะมุ่งเน้นงานอาคาร และงานถนน ส่งผลให้การแข่งขันด้านราคาสูงเกินกว่า 15% ส่วนการเปิดเผยข้อมูลส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับน่าพอใจเฉลี่ย 82.81%

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวระหว่างสัมมนา “โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐของประเทศไทย (CoST) ประจำปี 61” ว่า นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนา CoST ประจำปี 2018 ว่า ระบบการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้างภาครัฐ หรือ Construction Sector Transparency Initiative ซึ่งเป็นระบบที่กว่า 50 ประเทศในโลกนำมาใช้กัน สำหรับประเทศไทยนั้น เริ่มนำมาระบบดังกล่าวใช้เมื่อปี 57 โดยโครงการแรกที่นำมาใช้ คือ โครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ช่วงที่ 2 ซึ่งทำให้โครงการนี้ สามารถประหยัดงบประมาณในการลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากสามารถประมูลได้ในราคา 5 หมื่นล้านบาท เทียบจากราคากลาง ซึ่งกำหนดไว้ที่ 6.2 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ระบบ CoST ซึ่งริเริ่มโดยประเทศอังกฤษนั้น จะเป็นระบบที่สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยมีผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย (Multi -Stakeholder) ที่มาจากภาครัฐ และเอกชน ที่จะเข้ามาตรวจสอบโครงการตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขั้นประเมินผลของโครงการ อีกทั้งยังมีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อการตรวจสอบอีกด้วย

ปลัดกระทรวงการคลัง ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากไทยได้คัดเลือกโครงการก่อสร้างภาครัฐเข้าร่วมโครงการ CoST จำนวน 147 โครงการ มูลค่าก่อสร้างรวม 113,665 ล้านบาท จากทั้งหน่วยงานระดับกรม รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะมีกระทรวงเข้าร่วมทั้งสิ้น 12 กระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนสูงสุดถึง 99,627 ล้านบาท ขณะที่กระทรวงมหาดไทยเข้าร่วมสูงสุด 104 โครงการ

นอกจากนี้ นายประสงค์ ยังกล่าวต่อไปว่า เนื่องจากในปีงบฯ 62 จะมีจำนวนโครงการ และมูลค่าโครงการที่น่าจะสูงกว่าปีงบฯ 61 จึงจะมีส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมโครงการ CoST อีกเป็นจำนวน 200-300 โครงการ โดยจะเป็นการคัดเลือกโครงการเข้าร่วม และเป็นโครงการแบบสมัครใจ เนื่องจากหลังบริษัท ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เข้าร่วมโครงการได้ ทำให้ประหยัดงบประมาณนับหมื่นล้านบาท จึงต้องการดึงหลายโครงการเข้าร่วมมากขึ้น

ด้าน น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการของหน่วยราชการ และรัฐวิสาหกิจ จะมุ่งเน้นงานถนน สะพาน และงานชลประทาน ขณะที่โครงการในส่วนท้องถิ่นจะมุ่งเน้นงานอาคาร และงานถนน และจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลจะมีความสัมพันธ์กับการแข่งขันด้านราคาทิศทางเดียวกัน ดังนั้น จึงพบว่า โครงการมูลค่างานต่ำมักจะมีผู้เข้าแข่งขันมาก ส่งผลให้การแข่งขันด้านราคาสูงเกินกว่า 15% ส่วนการเปิดเผยข้อมูลส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับน่าพอใจเฉลี่ย 82.81% ขณะเดียวกัน ยังมีการติดตามและประเมินผลโครงการ โดยสุ่มคัดเลือก 10 โครงการต้นแบบจากหลากหลายมิติ

อย่างไรก็ตาม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้เริ่มเข้าร่วมโครงการ CoST เช่น ประเภทการก่อสร้าง งบประมาณ และพื้นที่ เพื่อตรวจสอบข้อมูลที่เปิดเผย และมีการจัดเวทีภาคประชาชน เพื่อสอบถามความคิดเห็นหรือรับฟังปัญหาผลกระทบจากโครงการก่อสร้างที่สุ่มตรวจนั้น พบว่า การเปิดเผยข้อมูลตามแนวทาง CoST ของหน่วยงานระดับกรม อยู่ที่ 90% ขณะที่หน่วยงานระดับท้องถิ่น อยู่ที่ 80% นอกจากนี้ ยังมีข้อห่วงใยของประชาชนในเรื่องการบริหารจัดการโครงการภายหลังการก่อสร้าง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด ทั้งนี้ ภาพรวมประชาชนในพื้นที่มีความเชื่อมั่นว่า โครงการที่ดำเนินการทั้ง 10 โครงการจะมีความโปร่งใสในการก่อสร้าง และสามารถบริหารจัดการข้อร้องเรียน เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการ CoST ในไทยได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อปี 60 โดยมีโครงการก่อสร้างภาครัฐที่เข้าร่วมโครงการ CoST รวม 5 โครงการ ทั้งหมดเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบในวงกว้าง ต่อมาในปี 61 มีการคัดเลือกโครงการก่อสร้างภาครัฐเข้าร่วมโครงการ CoST เพิ่มมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น