xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ เผย KR-ECI เดือน ส.ค. ลด-ครัวเรือนกังวลสินค้าแพง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือน 3 เดือน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากความกังวลในเรื่องภาระหนี้สินที่ลดลง ขณะที่ดัชนีเดือน ส.ค. พลิกกลับมาปรับตัวลดลง กังวลในเรื่องของราคาสินค้าสูงขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ขยับขึ้นเล็กน้อย จากเดิมที่ระดับ 46.3 ในเดือน ก.ค. มาอยู่ที่ระดับ 46.5 ในเดือน ส.ค. เนื่องจากครัวเรือนภาคเกษตรบางส่วนมีความกังวลลดลงต่อประเด็นเรื่องภาระหนี้สินในอนาคต หลังรัฐบาลออกมาตรการลดภาระหนี้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรรายย่อย ซึ่งประกอบไปด้วยโครงการขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. เป็นระยะเวลา 3 ปี (1 ส.ค. 2561-31 ก.ค. 2564) และโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย เป็นระยะเวลา 1 ปี (1 ส.ค. 2561-31 ก.ค. 2562)

อย่างไรก็ตาม ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในเดือน ส.ค.2561 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.8 เนื่องจากครัวเรือนมีมุมมองที่เป็นกังวลมากขึ้นต่อประเด็นเรื่องสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าและบริการภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาอาหารสด และราคาพลังงานในประเทศ ที่เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 1.18 และร้อยละ 0.68 ตามลำดับ ซึ่งการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสด ส่วนหนึ่งเป็นผลเนื่องมาจากเทศกาลสารทจีนที่ทำให้ความต้องการอาหารสดเพิ่มขึ้น รวมถึงสภาพอากาศมีฝนตกชุกทั่วประเทศ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย
ขณะที่ราคาพลังงานภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นส่วนหนึ่งเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ทั้งนี้ ราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นยังส่งผลให้ครัวเรือนมีค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ร้อยละ 23.2 ของครัวเรือนที่มีค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) เพิ่มขึ้นในเดือนส.ค. มาจากระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศที่สูงขึ้น นับเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นจากการสำรวจในเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 12.8

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องความกังวลของครัวเรือนต่อเหตุการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน และในระยะข้างหน้า พบว่า ราว 2 ใน 3 ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังไม่มีความกังวลว่า สถานการณ์น้ำท่วมจะทวีความรุนแรงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยไม่ค่อยประสบปัญหาน้ำท่วม รวมถึงมีความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะคลี่คลายไปในทางที่ดี เนื่องจากรัฐบาลเข้ามาดูแลเร่งแก้ปัญหา ต่างจากครัวเรือนในพื้นที่ต่างจังหวัดจะมีความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงท้ายปี 2561 มากกว่า

ทั้งนี้ เมื่อมองไปในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 ประเด็นที่ต้องติดตามต่อเนื่องยังเป็นในเรื่องของระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศที่คาดว่าจะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของราคาอาหารสดที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลกินเจ รวมถึงค่าโดยสารสาธารณะบางประเภทที่ผู้ประกอบการหลายฝ่ายขอปรับขึ้น เนื่องจากแบกรับต้นทุนไม่ไหว แม้ภาครัฐจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร


กำลังโหลดความคิดเห็น