xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรลูกหนี้ร้อง “คลัง” ลดหนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กลุ่มเกษตรกรเดินหน้าชุมนุมหน้าธนาคารกสิกรไทย เรียกร้องลดเงินกู้ และยกเว้นดอกเบี้ยสำหรับมูลหนี้เกิน 2.5 ล้านบาทต่อราย

กลุ่มสหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย หรือ สกท. และสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรแห่งประเทศไทย กว่า 300-400 คน เดินทางจากหน้ากระทรวงการคลัง เพื่อมาชุมนุมที่หน้าธนาคารกสิกรไทย เรียกร้องให้ธนาคารยกเว้นดอกเบี้ยเงินกู้ และลดเงินต้นลง 50% สำหรับหนี้เกิน 2.5 ล้านบาทต่อราย ที่มีจำนวน 200 คน คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 2,000 ล้านบาท

วันนี้ (23 ส.ค) ม็อบเกษตรกรจำนวนประมาณ 300-400 คน ได้เดินทางมาที่ธนาคารกสิกรไทย พหลโยธิน เพื่อเรียกร้องขอให้กระทรวงการคลัง และธนาคารพาณิชย์ ลดหนี้ให้ 50%

นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า เกษตรกรต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ลดหนี้ลง 50% สำหรับลูกหนี้ที่มีมูลหนี้เกิน 2.5 ล้านบาททุกราย ซึ่งปัจจุบันมีลูกหนี้ดังกล่าวไม่เกิน 200 คน คิดเป็นมูลหนี้ทั้งหมดประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมา สมาคมธนาคารไทยได้ร่วมมือกับกองทุนฟื้นฟูเพื่อเกษตรกร ที่มีมูลหนี้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ลดหนี้ให้แล้ว 50% ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร และสนองนโยบายของรัฐบาล

สำหรับข้อเสนอครั้งนี้ สมาคมธนาคารไทยจะขอไปหารือกับธนาคารสมาชิกว่าจะดูแลลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวอย่างไร ที่ผ่านมา ลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระต้องมาเจรจากับธนาคารพาณิชย์เป็นรายๆ ไป ขึ้นอยู่กับการเจรจา และความจำเป็นของเกษตรกร และธนาคารเจ้าหนี้

ส่วนประเด็นที่ดินของเกษตรกรที่เป็นหลักประกันที่มีอายุความเกิน 10 ปี ต้องเข้าสู่ขั้นตอนของการขายทอดตลาดนั้น คงต้องเป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายต่อไป สมาคมฯ ธนาคารแต่ละแห่งได้เจรจากับลูกหนี้อย่างละเอียดมีการปรับโครงสร้างหลายครั้งแล้ว

นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล ประธานกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มูลหนี้ของเกษตรกรเป็นหนี้กับธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่มีมูลหนี้เกิน 2.5 ล้านบาท จึงเดินทางมาเรียกร้องขอให้ช่วยลดหนี้ดังกล่าว 50% ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการผ่อนชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่จะนำเงินไปหักได้เฉพาะดอกเบี้ย เงินต้นยังคงเดิมแถมมีส่วนเพิ่มขึ้น ดังนั้น เกษตรกรขอเงินกู้เพิ่มเสริมสภาพคล่อง และทำการเกษตรเพิ่ม จึงทำได้ลำบาก

“ที่ผ่านมา เกษตรกรได้รับการปฏิเสธจากแบงก์เวลาขอกู้เพิ่มเติม โดยแบงก์ยื่นเงื่อนไขให้ชำระหนี้ก้อนเดิมให้หมดก่อน และเกษตรกรไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่ม เพราะทรัพย์สินที่มี เช่น ที่ดิน ใช้ค้ำประกันเงินกู้หมดแล้ว และแบงก์กำลังจะนำหลักประกันมาขายทอดตลาด เพราะคดีกำลังจะขาดอายุความ จึงจำเป็นต้องเดินทางมาเรียกร้องให้แบงก์รัฐ และเอกชน เพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร”


กำลังโหลดความคิดเห็น