xs
xsm
sm
md
lg

ASP ชี้แรงกดดันตลาดลดลง แต่ยังไม่หมด คาดแนวรับแกว่งตัวในกรอบ 1,660 จุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเซีย พลัส เผยมุมมองตลาดหุ้นไทยช่วงสัปดาห์นี้ (20-24 ส.ค. 61) แม้ว่าแรงกดดันที่มาจากการเมืองในประเทศ และสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนผ่อนคลายลง เปิดโอกาสให้ดัชนี SET Index ปรับตัวขึ้นได้ในระยะสั้น แต่ยังอยู่ในกรอบจํากัด ขณะที่ในส่วนของกําไรบริษัทจดทะเบียนยังคงแข็งแกร่ง คาดแนวรับแกว่งตัวในกรอบ 1,660 จุด ชู KKP และ DCC หุ้นเด่นรอบสัปดาห์

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า แนวโน้มดัชนี SET Index ในรอบสัปดาห์นี้ เคลื่อนไหวที่กรอบ 1,690.04 จุด เปลี่ยนแปลง -15.92 จุด หรือ -0.93% โดยแรงกดดันที่คลายตัวลงเปิดโอกาสให้เกิดการปรับตัวขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นไทย แต่เพดานการดีดตัวขึ้นยังจํากัด

แรงกดดัน SET Index สัปดาห์นี้ผ่อนคลายลงบางส่วน เริ่มจากแนวคิดในการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย กกต. พ.ศ.2560 ไม่น่าจะมีการเดินหน้าต่อในขั้นตอนของ สนช. ทําให้กรอบเวลาการจัดการเลือกตั้งช่วง ก.พ.-พ.ค.2562 ยังคงเดิม ลําดับต่อไปเป็นเรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ซึ่งปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดความคาดหวังเชิงบวกว่า ทั้ง 2 ฝ่ายมีแผนเดินหน้าเข้าสู่การเจรจาช่วงปลายเดือน ส.ค.2561 เชื่อว่า ความผ่อนคลายใน 2 ประเด็นดังกล่าวน่าจะเปิดช่องทําให้ SET Index สามารถฟื้นกลับมายืนในแนวบวกได้บ้าง แต่เชื่อว่า เพดานการดีดตัวขึ้นน่าจะจํากัดอยู่ในพื้นที่บริเวณ 1,700-1,710 จุด เพราะยังมีปัจจัยแวดล้อมในแง่มุมอื่นที่ยังมีนํ้าหนักในทาง กดดันอยู่เฉพาะอย่างยิ่งในปัญหาของตุรกี แม้จะมีโอกาสขยายวงไม่มาก แต่ก็น่าจะเป็นปัจจัยที่ให้ Fund Flow ยังมุ่งหน้าไป Dollar Asset ซึ่งเชื่อกันว่ามีความปลอดภัยในช่วงเวลาปัจจุบัน

ในส่วนของตลาดหุ้นไทย พบว่า ช่วง 3 วันทําการ (14-16 ส.ค.) นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิ 7.2 พันล้านบาท หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่องมาตั้งแต่ 20 ก.ค.2661 ครึ่งแรกของปี 2561 บริษัทจดทะเบียนมีกําไรสุทธิ 5.5 แสนล้านบาท 50% ของประมาณการทั้งปี ผลประกอบการงวดไตรมาส 2/2561 ของบริษัทจดทะเบียนยังแข็งแกร่ง โดยมีกําไรสุทธิรวม 2.6 แสนล้านบาท เพิ่ม 19.9% YoY แต่ลดลง 11.9% QoQ ซึ่งอยู่ในความคาดหมาย เพราะเมื่อนําไปรวมกับกําไรสุทธิ 1Q61 พบว่า กําไรครึ่งแรกของปี 2561 อยู่ที่ 5.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 50% ของประมาณการกําไรสุทธิทั้งปี ซึ่งคาดไว้ที่ระดับ 1.1 ล้านล้านบาท หรือ 110.78 บาทต่อหุ้น ลดความเสี่ยงต่อการที่จะปรับลดประมาณการกําไรทั้งปี

“ดังนั้น ที่ระดับ SET Index ที่เคยลงไปใกล้ 1,660 จุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีค่า PER ณ สิ้นปี 2561 ตํ่าเพียง 15 เท่า ซึ่งถือเป็นฐาน PER ที่น่าจะรองรับแรงกดดันได้ดีในเชิงกลยุทธ์การลงทุน ที่บริเวณดังกล่าวจึงเป็นระดับที่หมาะสมสําหรับนักลงทุนระยะยาวจะทยอยสะสมหุ้นเพื่อการลงทุน เลือกหุ้น Domestic Play ที่จ่ายเงินปันผลต่อเนื่อง เห็นได้ว่า ความเสี่ยงที่กดดันตลาดหุ้นในปัจจุบันโดยหลักมาจากปัจจัยภายนอกประเทศ ขณะที่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจภายในประเทศยังแข็งแกร่ง Investment Theme ในช่วงนี้จึงยังเป็น Domestic Play โดยให้ความสําคัญไปกับหุ้นที่สามารถจ่ายเงินปันผลได้อย่างต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ ตัวเลือกสําหรับสัปดาห์นี้ได้แก่ KKP (FV@B90) โดยที่ราคาปัจจุบันให้ Dividend Yield ราว 8% ต่อปี และช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการประชุมบอร์ดเพื่อพิจารณาเงินปันผลในช่วงวันที่ 24 หรือ 25 ส.ค. โดยที่ EPS งวด ครึ่งแรกของปี 2561 อยู่ที่ 3.62 บาทต่อหุ้น อีกบริษัทหนึ่ง ได้แก่ DCC (FV@B 2.90) แม้ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้ว และจะขึ้น XD 28 ส.ค. แต่ภาพรวมทั้งปีให้ Dividend Yield ราว 5.5% ขณะที่มีแผนปรับช่องทางการจัดจําหน่ายซึ่งอาจสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กิจการ ติดตามสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน และพัฒนาการของเหตุการณ์ในตุรกี ปัจจัยต่างประเทศที่สําคัญ คือ 23 ส.ค. ครบกําหนดวันที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนําเข้า 25% รอบที่ 2 กับจีน 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงผู้แทนการค้าของทั้ง 2 ฝ่ายจะกลับมาเจรจาอีกครั้งในวันที่ 22-23 ส.ค. จึงต้องติดตามว่าจะมีข้อสรุปที่ผ่อนปรนหรือไม่ อีกประเด็น คือ ปัญหาในตุรกีที่ยังต้องให้นํ้าหนักหลังจากค่าเงินลีราอ่อนค่าราว 53% นับตั้งแต่ต้นปี ผลที่ตามมา คือ ลูกหนี้ในตุรกีต้องเผชิญต่อหนี้สินที่เพิ่มขึ้นตามค่าเงินที่อ่อนตัวดังกล่าว ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงต่อการผิดชําระหนี้ กระทบต่อฐานะเงินกองทุนธนาคารพาณิชย์ โดยเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ คือ ฝั่งยุโรปราว 73.3% มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 54,579 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น