xs
xsm
sm
md
lg

โครงการบ้านล้านหลังรูปแบบชัดเจนใน 2 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กรมธนารักษ์” เผยรูปแบบโครงการบ้านล้านหลังจะมีความชัดเจนในอีก 1-2 เดือน โดยมีแนวคิดจะสำรวจที่ราชพัสดุ ซึ่งโดนบุกรุก เบื้องต้น มีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 3-4 หมื่นราย ซึ่งกรมธนารักษ์ สามารถที่จะเข้าไปดำเนินการได้ ตั้งแต่การปรับปรุงที่อยู่อาศัยเดิม หรือพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่

น.ส.อมรรัตน์ กล่ำพลบ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะโฆษกกรมธนารักษ์ เปิดเผยถึงรายละเอียดโครงการ “บ้านล้านหลัง” ซึ่งเป็นโครงการตามนโยบายของรัฐบาล ในส่วนที่กรมธนารักษ์ จะรับมาดำเนินการว่า โดยเบื้องต้น คาดว่ารูปแบบและรายละเอียดของโครงการจะแล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือน

สำหรับแนวความคิดของโครงการนั้น กรมธนารักษ์ จะสำรวจที่ราชพัสดุที่มีปัญหาโดนบุกรุก เบื้องต้น ขณะนี้มีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 3-4 หมื่นราย ซึ่งกรมธนารักษ์ สามารถที่จะเข้าไปดำเนินการ ตั้งแต่การปรับปรุงที่อยู่อาศัยเดิม หรือพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ โดยรูปแบบดังกล่าวนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาการบุกรุก รวมทั้งช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามนโยบายรัฐ ส่วนการพัฒนาจะอยู่ในพื้นที่จังหวัดใดนั้น กรมธนารักษ์ จะขอดูในรายละเอียด เพื่อกำหนดว่ามีพื้นที่ไหนเข้าหลักเกณฑ์ที่จะนำเข้าโครงการได้บ้างอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ได้จัดงานพิธิวันคล้ายวันจัดตั้งครบรอบ 14 ปี เมื่อวันที่ 20 ส.ค.61 ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ ทั้งนี้ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงโปรดมีพระบัญชามอบถวายสมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์ เพื่อเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ในพิธีบำเพ็ญกุศลงานคล้ายวันจัดตั้งบริษัทฯ และทรงประกอบพิธีเจิมป้ายอาคารที่ทำการสำนักงานแห่งใหม่ ทรงประพรมน้ำพระพุทธมนต์ และทรงประทานพระโอวาท

ทั้งนี้ นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพส. เป็นประธานเปิดงาน GRAND OPENING “อาคารธนพิพัฒน์ อัตลักษณ์แห่งความยั่งยืน” และนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานกรรมการ ธพส. ได้ร่วมแสดงความยินดี และเปิดงานอาคารดังกล่าว ซึ่งได้รับประทานนามอาคารจากสมเด็จพระสังฆราช ว่า “อาคารธนพิพัฒน์” แปลว่า อาคารที่เจริญด้วยทรัพย์สมบัติ อันเป็นสิริมงคล อาคารนี้มีการออกแบบภายใต้แนวคิดการนำรูปทรงปีกนกวายุภักษ์ มาเป็นโครงของตัวอาคาร สื่อถึงความเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงการคลัง และกรมธนารักษ์ โดยมุ่งเน้นออกแบบให้เป็นอาคารอนุรักษ์พลังงานที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า คำนึงถึงประสิทธิภาพการใช้งานในอนาคต

สำหรับการก่อสร้าง ไปจนถึงการบำรุงรักษาอาคารที่คำนึงถึงปัจจัยสำคัญที่ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน ทั้งพลังงาน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น