xs
xsm
sm
md
lg

ยอดหนี้คงค้าง มิ.ย. 61 ลดลงเหลือ 6.53 ล้านล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สบน.เผย สิ้นเดือน มิ.ย. 61 รัฐบาลมีหนี้คงค้างกว่า 6.53 ล้านล้านบาท ลดลง 0.64% ต่อจีดีพี เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มาปิดที่ระดับ 40.67% ส่วนภาระหนี้ของรัฐนั้น 87.53% จะเป็นหนี้สิ้นที่มีอายุมากกว่า 1 ปี โดย 85.80% จะเป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ ซึ่งมีความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้ และได้รับผลกระทบจากภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในระดับต่ำ ด้านหนี้ต่างประเทศลดลงสุทธิกว่า 1.5 หมื่นล้าน

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ออกรายงานถึงสถานะหนี้ของรัฐบาลเมื่อสิ้นเดือน มิ.ย. 61 ว่า รัฐบาลมีหนี้สาธารณะคงค้างทั้งสิ้น 6,531,509.63 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ในเดือน มิ.ย. 60 แล้วจะลดลงราว 0.64% มาอยู่ที่ระดับ 40.67% เมื่อเทียบกับเมื่อเดือนก่อนหน้าที่เคยอยู่ที่ระดับ 40.78% และลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เคยอยู่ที่ระดับ 41.31% ส่วนภาระหนี้ของรัฐนั้น 87.53% จะเป็นหนี้ที่มีอายุมากกว่า 1 ปี โดยหนี้สาธารณะคงค้างราว 85.80% จะเป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้ และได้รับผลกระทบจากภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในระดับต่ำ

ทั้งนี้ สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ลดลงนั้น เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และยังมีการชำระคืนหนี้สินของรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน หนี้ของการยางแห่งประเทศไทย หนี้ของการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รวมถึงหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันให้แก่สถาบันการเงินเพาะกิจ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นต้น

ด้านหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลในเดือน มิ.ย. 61 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าของปีเดียวกัน ลดลงสุทธิ 15,676.02 ล้านบาท เนื่องจากการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้สกุลเงินต่างประเทศให้เป็นสกุลเงินบาทของโครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต จำนวน 14,718.02 ล้านบาท และจากการชำระคืนเงินกู้สกุลต่างๆ รวมถึงการบริหารความเสี่ยง และการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน

ส่วนการเบิกจ่ายเพื่อการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 14,230.76 ล้านบาท ในเดือน มิ.ย. 61 มีการเบิกจ่ายเงินกู้โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสายสีเขียว โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ช่วงนครปฐม-ชุมพร และโครงการทดแทนและปรับปรุงขยายระบบไฟฟ้า เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น