xs
xsm
sm
md
lg

กนง. เสียงแตก 1 ต่อ 6 คงดอกเบี้ยนโยบาย 1.5%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กนง. เสียงแตก มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% ย้ำความจำเป็นในการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ เพื่อหนุนให้เศรษฐกิจโตลดลง ขณะที่ภาคการส่งออก และท่องเที่ยว ขยายตัวดีหนุนเศรษฐกิจ จับตามาตรการกีดกันทางการค้ายังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออัตราแลกเปลี่ยน และเศรษฐกิจไทย

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.5% ต่อปี โดยคณะกรรมการเห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ตามแรงส่งจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย และเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะจากภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นเวลานาน เศรษฐกิจไทยในภาพรวมที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งจากปัจจัยด้านต่างประเทศ และในประเทศ รวมทั้งในการประชุมช่วง 2 ครั้งที่ผ่านมา พบว่ามีความจำเป็นในการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยระดับต่ำ เริ่มมีความจำเป็นน้อยลง

สำหรับภาพรวมของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า และการท่องเที่ยว ตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่มีแรงส่งเพิ่มขึ้น โดยการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากผลดีของการย้ายฐานการผลิตของบางอุตสาหกรรมมายังไทย การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องตามปัจจัยสนับสนุนจากการจ้างงานที่ปรับดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม หนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง จึงทำให้กำลังซื้อฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและได้รับสนับสนุนเพิ่มเติมจากโครงการภาครัฐที่ชัดเจนมากขึ้น แต่ยังต้องติดตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนต่างๆในระยะข้างหน้า ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป มีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยเฉลี่ยทั้งปียังอยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำจากราคาอาหารสดที่ผันผวนสูงตามสภาพภูมิอากาศและปริมาณผลผลิต ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ หลังจากเกิดเหตุการณ์เรือท่องเที่ยวล่มที่ภูเก็ต ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนชะลอตัวลงไปบ้าง ทำให้เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะนโยบายการค้าของสหรัฐ และมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ

ด้านภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลาย และเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทรงตัวใกล้เคียงเดิม ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ภาคเอกชนยังระดมทุนได้ต่อเนื่อง ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทต่อดอลลาร์ ยังเคลื่อนไหวผันผวนจากทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก รวมทั้งความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้า โดยค่าเงินบาทมีทิศทางสอดคล้องกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค ซึ่งในระยะข้างหน้าอัตราแลกเปลี่ยนยังผันผวน คณะกรรมการฯจึงให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไป

“กรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น มองว่า กรรมการประเมินเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ไว้เสมอ ซึ่งสำหรับไทยผลกระทบไม่มาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่มีเสถียรภาพอ่อนแอ เรามีทุนสำรองสูง หนี้ต่างประเทศไม่มาก และมาลงทุนในตลาดพันธบัตรของไทยไม่มากนัก ทำให้เห็นว่า ค่าเงินบาทของไทยเคลื่อนไหวแบบแคบๆ” นายจาตุรงค์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร นอกจากนี้ คณะกรรรมการ ยังให้ติดตามภาวะการแข่งขันในตลาดสินเชื่อ เพื่อที่อยู่อาศัย และภาวะอุปทานคงค้างของอาคารชุดในบางพื้นที่ รวมทั้งพฤติกรรมก่อหนี้ของภาคครัวเรือน เนื่องจากสถานะหนี้ครัวเรือนยังไม่ปรับดีขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น