xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ มองจีดีพีไทยยังโตต่ำกว่าศักยภาพ ชี้นักลงทุนรอการเลือกตั้ง กระตุ้นกำลังซื้อและการลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กสิกรไทย มองจีดีพีไทยยังโตต่ำกว่าศักยภาพ ชี้นักลงทุนรอการเลือกตั้ง กระตุ้นกำลังซื้อและการลงทุน เตือนบาทผันผวนกรอบ 30.80-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

นายกอบสิทธิ์ ศิลป์ชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจปี 2560 ที่สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศเติบโตร้อยละ 3.9 ว่าเป็นการเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ ซึ่งควรจะเติบโตร้อยละ 5 และเกือบต่ำสุดในภูมิภาค เป็นรองเพียงสิงคโปร์เท่านั้น เพราะแม้การส่งออกจะดีขึ้น แต่อุปสงค์ในประเทศยังไม่ฟื้นตัว โดยธนาคารกสิกรไทยคาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวร้อยละ 4 เพราะยังรอการลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัว ซึ่งนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศยังรอความชัดเจนเรื่องการปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้ง หากมีการเลือกตั้งปลายปีนี้ตามโรดแมปที่วางไว้ จะทำให้เกิดความเชื่อมั่น และการลงทุนภาคเอกชนจะตามมา แต่หากเลื่อนออกไป อาจจะทำให้โครงการลงทุนเอกชนชะลอออกไปก่อน

นอกจากนี้ หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นปลายปีนี้ บรรดาพรรคการเมืองจะมีการหาเสียง โดยเน้นนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งมีกว่า 10 ล้านคน จะทำให้เม็ดเงินกระจายสู่ภาคการเกษตร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจขายปุ๋ย วัตถุดิบการเกษตร เป็นต้น ทำให้บรรยากาศและกำลังซื้อเกษตรกรกลับมาคึกคัก

นายกอบสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ปีนี้ต้องจับตาการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เนื่องจากมีความผันผวนสูง โดยธนาคารกสิกรไทยมีการปรับประมาณการมาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด คาดว่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าสุดในรอบ 5 ปี ที่ 30.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลที่เงินบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลในระดับสูงมาจากการท่องเที่ยวขยายตัวดี โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยจำนวนมาก และทิศทางของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง หลังสหรัฐฯ มีท่าทีพอใจที่ดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า อย่างไรก็ตาม มองว่าหลังสงกรานต์ เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่า เนื่องจากจะมีการจ่ายปันผลของบริษัทจดทะเบียนประมาณ 37,000 ล้านบาท เงินทุนต่างชาติจะเริ่มไหลออก ประกอบกับหมดฤดูกาลท่องเที่ยว การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะน้อยลง เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า โดยคาดว่าจะอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายปี

นายกอบสิทธิ์ กล่าวว่า มาตรการดูแลเงินบาทอาจมีข้อจำกัด เพราะถ้าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าแทรกแซงค่าเงินบาท จะสุ่มเสี่ยงต่อการที่สหรัฐฯ อาจจะใช้เป็นข้ออ้างใช้มาตรการกีดกันทางการค้าไทย เพราะขณะนี้ประเทศไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ กว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึงร้อยละ 8 ของจีดีพี หากไทยแทรกแซงค่าเงินเกินร้อยละ 2 อาจจะสุ่มเสี่ยงเข้าเงื่อนไขสหรัฐฯ กีดกันทางการค้าไทย แม้ว่าประเทศไทยอาจไม่ใช่เป้าหมายเหมือนจีน กับเม็กซิโก ก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น