xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ ธปท. จับตาบาทผันผวน-พร้อมคลอดมาตรการสกัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ว่าแบงก์ชาติ สั่งติดตามการเคลื่อนไหวค่าเงินบาท และทุนเคลื่อนย้ายใกล้ชิด หลังบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว พร้อมเตรียมทบทวนมาตรการเพิ่ม หวั่นเศรษฐกิจพัง “ประสาร” เตือนนักลงทุนระมัดระวังการเก็งกำไรค่าเงิน

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงอย่างรุนแรง ส่งผลให้เงินสกุลต่าง ๆ ในภูมิภาค รวมทั้งเงินบาท ปรับแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่ง ธปท. กังวลว่า หากเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่อง อาจกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงได้

ทั้งนี้ ธปท. จะยกระดับการดูแลและเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท และเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับให้สถาบันการเงินให้มีความเข้มงวดในการทำธุรกรรมที่ปกติในช่วงดังกล่าวจะมีการทำธุรกรรมที่หนาแน่น จึงจะให้ดูว่ามีการทำธุรกรรมที่ไม่เป็นไปตามหลักหรือไม่ รวมทั้งพร้อมทบทวนและยกระดับมาตรการเพิ่มเติม หากเห็นว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินผิดปกติ ซึ่งหากพบความผิดปกติ ธปท. จะแจ้งข้อมูลต่อไป

“ธนาคารกลางในแต่ละประเทศจะต้องรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยมองภาพรวมทั้งระบบ การดำเนินนโยบายการเงินต้องมองระยะยาว ซึ่งทุกอย่างมีคนได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ เงินบาทแข็งค่าผู้ประกอบการนำเข้าจะได้ประโยชน์ แต่ผู้ส่งออกจะเสียประโยชน์”

นายวิรไทย กล่าวว่า ค่าเงินเปรียบเสมืองเหรียญที่มี 2 ด้าน ที่มีผลกระทบกับค่าเงินทุกสกุล ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องบริหารความเสี่ยง และหันมาตั้งราคาขายด้วยค่าเงินบาท หรือสกุลเงินท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น เป็นการลดผลกระทบจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงได้ เนื่องจากที่ผ่านมา การส่งออกไปยังสหรัฐฯ มีเพียง 10-11% ของการส่งออกรวมเท่านั้น จึงสามารถดำเนินการได้

“สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทมีความผันผวนมาก ซึ่งเกิดจากสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่า โดย ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์ และเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากพบสิ่งปกติ ธปท. ก็พร้อมที่จะยกระดับความเข้มงวดมากขึ้น แต่ในขณะนี้ยังไม่พบสิ่งปกติ และพร้อมกำชับสถาบันการเงินให้มีความเข้มงวดในการทำธุรกรรมว่าผิดหลักการหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงที่มีธุรกรรมหนาแน่น” นายวิรไท กล่าว

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องมาจากปัจจัยภายนอก คือ เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ผันผวนในระยะสั้นจากคำสัมภาษณ์ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ที่ไม่สอดคล้องกัน ซึ่งเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสกุลใหญ่ เมื่อมีความผันผวน ย่อมกระทบต่อเงินสกุลทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีโอกาสเคลื่อนไหวทั้ง 2 ทิศทาง ทั้งแข็งค่า และอ่อนค่า ดังนั้น นักลงทุนที่จะเก็งกำไรค่าเงินต้องระมัดระวัง เพราะอาจมีความเสี่ยงได้

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยในประเทศจากการที่ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ทำให้เงินบาทแข็งค่าค่อนข้างเร็ว ซึ่ง ธปท. มีนโยบายดูแลไม่ให้เงินบาทผันผวนจนเกินไป จนกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยมีเครื่องมือที่เหมาะสม

สำหรับภาคธุรกิจมีทั้งได้และเสียประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่าตามโครงสร้างธุรกิจ โดยหากเอกชนทำการค้ากับสหรัฐฯ จะประสบปัญหาเรื่องการแข่งขันด้านราคา แต่หากเป็นผู้นำเข้า ก็จะได้ประโยชน์ เพราะต้นทุนในการนำเข้าต่ำลง


กำลังโหลดความคิดเห็น