xs
xsm
sm
md
lg

“คลัง” เร่งหามาตรการสู้บาทแข็ง ห่วงกระทบส่งออก ฉุด ศก. ชะงัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คลัง” เต้นสั่งหามาตรการเพิ่มเติมคุมบาทแข็งให้อ่อนค่าลง ห่วงกระทบภาคส่งออก และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แนะผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี หามาตรการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หวังช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงิน

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังหามาตรการเพิ่มเติมเพื่อทำให้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องให้อ่อนค่าลง เพื่อจะได้ไม่กระทบกับการส่งออก และการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เร่งชำระหนี้ต่างประเทศก่อนกำหนด ซึ่งทำได้ส่วนหนึ่ง แต่ไม่มาก เพราะปัจจุบัน ประเทศไทยกู้เงินจากต่างประเทศน้อย เนื่องจากกู้ภายในประเทศเป็นหลัก เพราะมีสภาพคล่องภายในประเทศจำนวนมาก

“การดูแลค่าเงินบาทเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีหลายเครื่องมือที่ ธปท. ใช้ดูแลอยู่ แต่ในส่วนของ รมว.การคลัง ก็ต้องให้หามาตรการทางการคลังช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ทำอยู่ เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาทให้ช้าลง หรือให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง จะได้ไม่กระทบกับการขยายตัวเศรษฐกิจ ที่กำลังขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงการคลังจะเร่งหามาตรการทางการคลังเพิ่มเติมว่าจะทำอย่าไรให้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอ่อนค่าลง” นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่า ส่วนหนึ่งผู้ประกอบการก็ต้องมีมาตรการดูแลตัวเอง ด้วยการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะช่วยลดความเสี่ยงในธุรกิจได้มาก

นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทแข็งค่า เพราะมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ระสั้น เพราะได้ดอกเบี้ยสูง อย่างไรก็ตาม ธปท. ก็เข้าดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นโดยการรับซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไว้เอง ซึ่งมีต้นทุนสูง เพราะต้องซื้อในราคาที่แพง

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ที่ 1.50% คิดว่ามีความเหมาะสม ใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่ 1.25% และคาดว่าจะมีแนวโน้มจะปรับขึ้นในเดือน มี.ค. ที่จะถึงนี้ ซึ่งน่าจะทำให้เงินทุนไหลเข้าลดลง และทำให้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลง

อย่างไรก็ตาม สศค. มองว่า ธปท. ควรมีมาตรการส่งเสริมให้เอกชนนำเงินไปลงทุนต่างประเทศมากกว่าที่ทำอยู่ปัจจุบัน เพื่อให้เงินที่ไหลเข้าและไหลออก อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งจะส่งผลทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นนั้นมาจากหลายสาเหตุ โดยหลัก ๆ มาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง ซึ่งเป็นไปทุกสกุลเงิน โดยค่าเงินบาท ค่าเงินออสเตรเลีย และค่าเงินเยน แข็งค่าขึ้น 1.8-1.9% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และค่าเงินสกุลอื่น เช่น ยูโร แข็งค่าขึ้นมากกว่า 2% เนื่องจากนักลงทุนมั่นใจการขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลดลง ขณะที่เศรษฐกิจเอเชีย ยุโรป ฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลสูงในช่วงปลายปี 2560 มาจากผู้ส่งออกขายเงินตราต่างประเทศมาก

นอกจากนี้ ยังมีเงินทุนระยะสั้นไหลเข้าภูมิภาคเอเชีย แต่จากการติดตามของ ธปท. ยังไม่พบความผิดปกติเมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค และยืนยันว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นไม่กระทบต่อการขยายตัวการส่งออก เนื่องจากการส่งออกที่ขยายตัวได้มาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวเป็นหลัก ค่าเงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ


กำลังโหลดความคิดเห็น