xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต. คาดสรุปเกณฑ์ ICO ใน Q1/61 เตรียมเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ก.ล.ต. คาดสรุปเกณฑ์ ICO ใน Q1/61 เตรียมเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ เข้าที่ประชุม ครม.ปลาย ม.ค.-ต้น ก.พ. หวังให้บังคับใช้ได้ทันภายในปีนี้

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำหับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คาดว่าจะสรุปเกณฑ์กำกับการทำ Initial Coin Offering (ICO) ภายในไตรมาส 1/61 หลังครบกำหนดเวลาเปิดรับฟังความเห็น และเตรียมเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงปลาย ม.ค.-ต้น ก.พ. 61 หวังให้บังคับใช้ได้ทันภายในปีนี้

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นเกี่ยวกับเกณฑ์กำกับดูแล ICO โดยได้รับฟังความคิดเห็น เช่น ICO จะถือว่าเป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งหรือไม่ โดยคาดว่าจะสรุปเกณฑ์ออกมาได้เห็นชัดเจนในช่วงไตรมาส 1/61 นี้ อย่างไรก็ตาม มองว่านักลงทุนควรมีความระมัดระวังอย่างมาก และทาง ก.ล.ต. จะไม่ได้เข้าไปดูแลเต็มที่เหมือนหลักทรัพย์ปกติ

“ICO ไม่ได้มีการเก็บบันทึกย้อนหลัง แต่เป็นการวาดฝันภาพของอนาคต ซึ่งเรื่องความเป็นไปได้นั้น ยังไม่ได้ถูกพิสูจน์ เพราะฉะนั้น ด้านของนักลงทุนเองต้องมีความเข้าใจว่า ถ้าคุณอยากจะเข้ามาสู่ตลาดนี้ จะต้องมีความเข้าใจถึงบริบท จะต้องมีความรู้ดี โอกาสที่ประสบความล้มเหลวก็เยอะมาก แต่หากประสบความสำเร็จจริง ผลตอบแทนก็หลายร้อยเปอร์เซ็นต์” นายรพี กล่าว

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงปลาย ม.ค.-ต้น ก.พ. 61 ทั้งในเรื่องของความเป็นอิสระของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF), อิเล็กทรอนิกส์เทรดดิ้งแพลตฟอร์ม ขณะที่ความคาดหวังของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะสามารถบังคับใช้ได้ทันภายในปีนี้

นายรพี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนงานของ ก.ล.ต. ในปีนี้ คือ การที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงตลาดทุนมากขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ผลตอบแทนของตลาดทุนอยู่ในระดับสูงมาโดยตลอด โดยให้กลับมามองถึงการให้คำแนะนำของบริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ ที่มีนายหน้าซื้อหลักทรัพย์เป็นในรูปแบบของการขายของ โดยได้จัดกิจกรรมให้คำแนะนำเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ที่สนใจจะใช้ตลาดทุนเป็นเครื่องมือ โดยต้องมองถึงผู้ประกอบการที่มีความพร้อมที่จะดูแลพอร์ตการลงทุนของลูกค้า และแยกการแนะนำออกจากกระบวนการขาย เพราะหากทั้ง 2 เรื่องเข้ามาร่วมกัน ก็จะถูกครอบงำโดยกระบวนการขาย

ต่อมา คือ การใช้ตลาดทุนในการระดมทุนในรูปแบบต่าง ๆ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาเกี่ยวข้อง และจะทำให้การระดมทุนในรูปแบบต่าง ๆ แตกต่างไปจากเดิมค่อนข้างมาก โดยจะมีกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ออกมา เพื่อที่จะแยกของดีออกจากของเสีย และให้ประชาชนสามารถแยกได้ว่า อันไหนเป็นการฉ้อโกง และอันที่ต้องการระดมทุนอย่างจริงจัง และเปิดช่องทางให้สามารถเข้าระดมทุนได้

ส่วนสุดท้าย คือ การที่ประเทศไทย หรือตลาดทุนไทย ที่มีจะส่วนร่วมหรือเป็นส่วนช่วยประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา สปป.ลาว และพม่า สามารถที่จะเจริญเติบโต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตลาดเพื่อนบ้านให้มากขึ้น

นายรพี กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (61-63) ของ ก.ล.ต. จะครอบคลุม 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่ สนับสนุนผู้ให้บริการด้านการให้คำแนะนำและวางแผนทางการเงินที่ประชาชนเข้าถึงได้และมีคุณภาพ (wealth advice for all) เป็นการสนับสนุนผู้ให้บริการด้านการให้คำแนะนำและวางแผนทางการเงินที่ประชาชนเข้าถึงได้และมีคุณภาพ และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีฟินเทคเพื่อตอบโจทย์และเป็นเครื่องมือช่วยวางแผนทางการเงิน, สร้างโอกาสในการระดมทุนสำหรับทุกหน่วยเศรษฐกิจ สร้างทางเลือกช่องทางการระดมทุนใหม่สำหรับธุรกิจ SMEs และ startups ขจัดอุปสรรคและลดต้นทุนการเข้าถึงทุนในช่องทางปัจจุบัน ส่งเสริมการระดมทุนของประเทศเพื่อนบ้าน และสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาค

รวมทั้งสร้างศักยภาพการแข่งขันของตลาดทุนไทย โดยการยกระดับสมรรถนะโครงสร้างพื้นฐานรองรับการประกอบธุรกิจแบบดิจิทัล รู้เท่าทันความเสี่ยง และกำกับดูแลได้อย่างตรงจุด ยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนและธนาคารที่ขายหน่วยลงทุน และยกระดับมาตรฐานการออกมาตรการการกำกับดูแลโดยการปฏิรูปกฎเกณฑ์ที่ใช้ในตลาดทุนให้มีเท่าที่จำเป็น มีการวิเคราะห์ต้นทุน (compliance cost) ผลกระทบ และประเมินผลสัมฤทธิ์ พร้อมทั้งสร้างระบบฐานข้อมูล และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการทำงานของ ก.ล.ต. ในอนาคต โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างเต็มที่
กำลังโหลดความคิดเห็น