xs
xsm
sm
md
lg

ธพว. จัดแพกเกจ 7 หมื่นล้านอุ้มรายย่อยทั่วประเทศ 7 หมื่นราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธพว. ออกแพกเกจสินเชื่อเสริมแกร่ง เติมทุน ครอบคลุมทุกกลุ่มเอสเอ็มอี 7 หมื่นล้าน เน้นช่วยเหลือคนตัวเล็ก-ผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้กว่า 7 หมื่นราย และมีส่วนสำคัญช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเกิดการขยายตัว ต่อยอดไปสู่การจ้างงานสร้างอาชีพในระบบอีกไม่ต่ำกว่า 3 แสนราย อีกทั้งยังเดินหน้าปล่อยหน่วยรถม้าเติมทุน 1,000 คัน บริการถึงถิ่นขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเติบโตยั่งยืน

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กล่าวถึงแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยในปีนี้ว่า ธนาคารเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือเป็นของขวัญปีใหม่ 2 ด้าน คือ 1. มาตรการด้านการเงิน ผ่านแพกเกจสินเชื่อ วงเงินรวมกว่า 70,000 ล้านบาท และ 2. มาตรการช่วยเหลือและยกระดับผู้ประกอบการ ซึ่งการช่วยเหลือทั้งสองด้านจะลงลึกถึงเศรษฐกิจท้องถิ่นฐานรากทั่วประเทศ

สำหรับมาตรการด้านการเงินนั้น ธนาคารได้จัดเป็นแพกเกจสินเชื่อวงเงินรวม 70,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 โครงการ ดังนี้ 1. โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) วงเงิน 50,000 ล้านบาท เน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว ท่องเที่ยวชุมชน และเกษตรแปรรูป วงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท 3 ปีแรก คิดอัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี ฟรีค่าธรรมเนียม 4 ปีแรก เมื่อใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน พิเศษกู้ 1 ล้านบาท ผ่อนเพียงวันละ 460 บาทเท่านั้น

2. โครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำหรับ SMEs คนตัวเล็ก วงเงิน 8,000 ล้านบาท วงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยมุ่งสนับสนุน SMEs กลุ่มนิติบุคคล ที่ประสบปัญหาด้านการเงิน เข้าถึงแหล่งทุนยาก เงินทุนไม่พอ รวมถึงต้องการเริ่มต้นธุรกิจ หรือเปลี่ยนแปลงธุรกิจ สามารถยื่นกู้ได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

3. สินเชื่อ Factoring วงเงิน 12,000 ล้านบาท วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท โดยมีโปรโมชั่น 7:1:0 โดย 7 ตัวแรก คือ พร้อมอนุมัติสินเชื่อภายใน 7 วัน, 1 คือ เบิกจ่ายภายใน 1 วัน และ 0 คือ ฟรีค่าธรรมเนียมเรียกเก็บหนี้การค้า

“แพกเกจด้านการเงินที่มอบเป็นของขวัญดังกล่าว ธนาคารมั่นใจว่าจะช่วยให้คนตัวเล็ก ผู้ประกอบการ SMEs รายย่อย ได้รับโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนกว่า 7 หมื่นราย และมีส่วนสำคัญช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเกิดการขยายตัว ต่อยอดไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพในระบบอีกไม่ต่ำกว่า 3 แสนราย” นายมงคล กล่าว

ทั้งนี้ แพกเกจสินเชื่อดังกล่าวสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ที่เห็นชอบอนุมัติวงเงิน 245,000 ล้านบาท เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2561 มอบให้แก่ผู้ประกอบการผ่าน 5 โครงการ นอกจาก 3 โครงการสินเชื่อข้างต้นแล้ว ยังประกอบด้วย โครงการ Transformation Loan เสริมแกร่ง (Soft Loan เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรระยะที่ 2) วงเงิน 20,000 ล้านบาท และโครงการสินเชื่อ SMEs ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) วงเงินรวม 165,000 ล้านบาท

สำหรับมาตรการช่วยเหลือและยกระดับผู้ประกอบการในปี 2561 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ SME Development Bank ทั้งเชิงนโยบาย และด้านการทำงานภายใน จุดประสงค์เพื่อยกระดับให้ธนาคารสามารถช่วยเหลือพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs อย่างแท้จริง และครอบคลุมบริการไปยังเศรษฐกิจชุมชนอย่างทั่วถึง โดยธนาคารจะยกระดับความสามารถองค์กรด้วยการเพิ่มบุคลากร และพัฒนาระดับ Digital Banking และที่สำคัญ ให้บริการหน่วยรถเคลื่อนที่ (Mobile Unit) ภายใต้ชื่อโครงการ “รถม้าเติมทุน เสริมสร้าง SMEs ไทย ฉับไว ไปถึงถิ่น” ซึ่งภายในปีนี้ (2561) จะทยอยออกให้บริการรวมทั้งสิ้น 1,000 คัน โดยจะเป็นบริการครบวงจร ทั้งด้านการเงิน และช่วยเหลือทางธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งจากมาตรการช่วยเหลือทั้งด้านการเงิน และด้านยกระดับความสามารถ จะช่วยเพิ่มรายได้แก่ SMEs ทั่วประเทศ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่เน้นสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก และเติบโตจากเศรษฐกิจภายในประเทศ (Local Economy) อย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น