xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมจัดงาน “Startup Thailand 2018” ดึงเงินลงทุนกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บอร์ดสตาร์ทอัปเตรียมจัดงาน “Startup Thailand 2018” หวังดึงเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ ตั้งเป้าเกิดการลงทุนกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 4/2560 เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการไตรมาส 3 และ 4 ปี 2560 ตามแผนการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นของประเทศไทย (พ.ศ. 2559-2564) พร้อมทั้งพิจารณาการขับเคลื่อนแผนการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (สตาร์ทอัป) ของประเทศไทยว่า แผนการดำเนินงานปี 2561 เตรียมจัดงาน Startup Thailand 2018 วันที่ 17-20 พฤษภาคม 2561 ภายใต้แนวคิด “Invest Nation” โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจใหม่ในประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด และดึงดูดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ โดยตั้งเป้าหมายให้เกิดการลงทุนกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงผลักดันให้เกิดนักรบใหม่ทางเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถขยายตลาดไปสู่ตลาดต่างประเทศ

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้คณะทำงานเพื่อเสนอแนะนโยบายและมาตรการภาครัฐเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (คณะทำงานชุดที่ 4) หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาภาพรวมของปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ Startup ในแต่ละระยะ เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงกับความต้องการของ Startup มากยิ่งขึ้น

คณะกรรมการฯ เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นและนวัตกรรมเชิงนโยบาย พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.บ.) ของคณะทำงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (คณะทำงานชุดที่ 2) ที่มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นฝ่ายเลขานุการ โดยร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนแก้ไขข้อจำกัด และอุปสรรคต่าง ๆ ที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาของระบบนิเวศในการสนับสนุนสตาร์ทอัป โดยมีการกำหนดขอบเขตคำนิยามของสตาร์ทอัปไว้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นและนวัตกรรมเชิงนโยบาย ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาสตาร์ทอัปของประเทศไทย รวมทั้งจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้าน 2 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น ซึ่งมีหน้าที่จัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองวิสาหกิจเริ่มต้น รวมทั้งพิจารณาให้และเพิกถอนสิทธิประโยชน์แก่สตาร์ทอัปที่ได้รับการส่งเสริม และคณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบาย เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลโครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบาย ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัปประเภทนิติบุคคล และนิติบุคคลอื่น ทุกสาขาสามารถนำเสนอสินค้าและบริการภายในพื้นที่หรือสภาพแวดล้อมของการประกอบธุรกิจ และการให้บริการที่จำกัดภายใต้กรอบหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่ยืดหยุ่น ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะทำงานชุดที่ 2 นำเสนอร่าง พ.ร.บ. ต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

ส่วนโครงการ Startup Club ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา มีความคืบหน้าอย่างมาก ปัจจุบันมีโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา เข้าร่วมโครงการ Startup Club รวม 109 สถาบันใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ และเริ่มดำเนินกิจกรรมแล้ว 17 สถาบันใน 15 จังหวัด รวมทั้งมีการจัดทำ Facebook Page “Startup Club Thailand” (https://www.facebook.com/startupclubth) เพื่อเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของคณะกรรมการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นช่องทางสื่อสาร แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่าง Startup Club ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นชอบโครงการพัฒนาครู และบุคลากร ในสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่รับผิดชอบ Startup Club ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ครู และบุคลากร ที่เกี่ยวข้องให้สามารถถ่ายทอดกระบวนการ และแนวความคิดด้านการประกอบการให้แก่เด็กนักเรียนได้ โดยจะเป็นกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ 6 ครั้ง ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งเห็นชอบชุดเอกสารมาตรฐาน ประกอบด้วย หนังสือ และสื่อออนไลน์ ในประเด็นการเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัป ความรู้ทางการเงิน และภาษี ที่จะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียน และตารางกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสตาร์ทอัป สำหรับปี 2561 เพื่อให้สามารถใช้เป็นแหล่งความรู้ และฐานข้อมูลในการดำเนินการ ทำให้ Startup Club เป็นแหล่งเรียนรู้ ค้นคว้า และพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการสำหรับนักเรียนอย่างยั่งยืน โดยการจัดทำชุดเอกสาร และตารางกิจกรรมดังกล่าว คณะกรรมการฯ ได้รับการความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เป็นอย่างดี และได้กำหนดจะส่งมอบชุดเอกสารมาตรฐานพร้อมตารางกิจกรรมข้างต้นให้กับ Startup Club ภายในเดือนธันวาคม 2560

จากการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ที่ได้เน้นส่งเสริมด้านการสร้างความตระหนักรู้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การบ่มเพาะ และการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ส่งผลให้เว็บไซต์ PeoplePerHour ซึ่งเป็นผู้จัดอันดับ Startup City Index ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 7 ของโลก และอันดับที่ 1 ของเอเชีย ในการเป็นเมืองเพื่อเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัป โดยพิจารณาจากความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ต้นทุน และคุณภาพชีวิต การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ใน 4 ประเด็น (การแก้ไขเพิ่มเติมให้บริษัทจำกัดดำเนินการได้ในประเด็นหุ้นกู้แปลงสภาพ การทยอยให้หุ้น (Vesting) สิทธิที่จะซื้อหุ้นในราคาที่กำหนด (ESOP) และหุ้นบุริมสิทธิ) มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการของร่างกฎหมายเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 และปัจจุบัน ร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
กำลังโหลดความคิดเห็น