xs
xsm
sm
md
lg

ธปท. คาดการณ์กำไรแบงก์พาณิชย์ปีนี้ลดลงเหลือ 2 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แบงก์ชาติ ประเมินกำไรสุทธิทั้งปีของแบงก์พาณิชย์ประมาณ 2 แสนล้านบาท ปรับลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เพราะต้องตั้งสำรองหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ประเมินเอ็นพีแอล พุ่งสูงสุดไตรมาศ 4 หลังจากนั้น จะทรงตัวระยะหนึ่ง และทยอยปรับลดลงตามลำดับ สินเชื่อทั้งปีเติบโต 4% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่สงต่อเนื่อง

นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในปีนี้ กำไรสุทธิน่าจะเติบโตลดลงเมื่อเที่ยบกับปีที่แล้ว หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะสูงที่สุดในช่วงไตรมาส 4 หลังจากนั้น จะทรงตัวระยะหนึ่ง โดยมีการกำกับดูแลและแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ส่วนสินเชื่อทั้งปีขยายตัวประมาณ 4% เป็นการเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ส่วนผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ปี 2560 นั้น สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ทรงตัว โดยสินเชื่อธุรกิจกระจุกตัวในธุรกิจบางประเภท ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวได้ต่อเนื่อง สำหรับคุณภาพสินเชื่อ NPL โดยรวมเริ่มทรงตัว แต่ยังด้อยลงในส่วนของธุรกิจ SME ซึ่งสะท้อนผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่กำไรสุทธิลดลงจากการกันสำรอง เพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง อย่างไรก็ตาม ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีเสถียรภาพ มีเงินสำรอง เงินกองทุน และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไปได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ทรงตัวที่ 3.3% เมื่อเทียบระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชำระคืนหนี้ของธุรกิจขนาดใหญ่ สอดคล้องกับภาพรวมการระดมทุนของภาคเอกชนผ่านตราสารหนี้ ที่ขยายตัวชะลอลง ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกพอร์ตสินเชื่อ ทั้งนี้ หากรวมสินเชื่อ และการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ จะขยายตัวที่ 4.5%

สินเชื่อธุรกิจ (67% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 2.2% ชะลอลงจาก 2.7% ในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ และธุรกิจ SME โดยในส่วนของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวที่ 4.2% ซึ่งชะลอลงส่วนหนึ่งจากการชำระคืนหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม มีการใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้นในธุรกิจพลังงาน ขนส่ง และบางธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม และพาณิชย์ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SME (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวที่ 2.4 % โดยเพิ่มขึ้นจากธุรกิจพลังงาน อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก

สินเชื่ออุปโภคบริโภค (33% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.6% เมื่อเทียบระยะเดียวกันปีก่อน จากสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 5.6% ตามทิศทางการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ กอปรกับสินเชื่อรถยนต์เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 7.0% สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ที่ขยายตัวต่อเนื่อง และส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานต่ำในปีก่อน นอกจากนี้ สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิต ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.5% และ 3.1% ตามลำดับ

คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ภาพรวมสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) ต่อสินเชื่อรวม เริ่มทรงตัวที่ 2.97% ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนที่ 2.95% โดยมียอดคงค้าง NPL ที่ 428 พันล้านบาท ขณะที่คุณภาพสินเชื่อของพอร์ตสินเชื่อธุรกิจ SME และสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังด้อยลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan : SM) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 2.72 %

อย่างไรก็ตาม ระบบธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อ ทำให้เงินสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 584 พันล้านบาทโดยสัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันอยู่ที่ร้อยละ 166.2 ในไตรมาส 3 ปี 2560 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 46.7 พันล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน

จากการกันสำรองเพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset : ROA) ลดลงมาอยู่ที่ 1.04% จากไตรมาสก่อนที่ 1.09% ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) ค่อนข้างทรงตัวที่ 2.78% ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง รวมทั้งสิ้น 2,447 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการจัดสรรกำไร และการเพิ่มทุน โดยอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common Equity Tier 1 : CET1 ratio) อยู่ในระดับสูงที่ 18.4% และ 15.8%
กำลังโหลดความคิดเห็น