xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรไทย​ ประกาศ​ยุทธศาสตร์​เป็น​แพลตฟอร์ม​อันดับ​ 1​ ตอบ​โจทย์​ทุกด้าน​ของ​ลูกค้า​

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กสิกรไทยกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ Customers’ Life Platform of Choice แพลตฟอร์มหนึ่งเดียวที่ลูกค้าเลือก เพื่อตอบโจทย์ทุกด้านของชีวิต เตรียมทุ่มงบไอทีปีละ 4,000-5,000 ล้านบาท ก้าวสู่ยุคดิจิทัลทุกรูปแบบ และเป็นอันดับหนึ่งดิจิทัลแบงกิ้งต่อเนื่อง ตั้งเป้าปี 61 เพิ่มฐานลูกค้าเป็น 15.1 ล้านราย K PLUS 10.8 ล้านราย สินเชื่อรวมโต 5-7% สอดรับเศรษฐกิจไทยโต 3.7% และเอ็นพีแอล 3.3-3.4%

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ระบบธนาคารพาณิชย์กำลังเผชิญกับความท้าทาย และโอกาสในการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่มีผลต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ทางธุรกิจหลายด้าน ประกอบด้วย ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทยในปี 2561 คาดการณ์ว่า จีดีพีจะขยายตัวที่ 3.7% โดยคาดหวังแรงหนุนสำคัญจากการลงทุนโครงการภาครัฐมาช่วยชดเชยการส่งออก และการท่องเที่ยว ที่อาจเติบโตชะลอลง หลังเร่งขึ้นมากแล้วในปีนี้ ส่วนตัวแปรที่กดดันภาพรวมเศรษฐกิจ คือ กำลังซื้อของประชาชน ซึ่งเผชิญแรงถ่วงจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และรายได้เกษตรกรที่มีโอกาสชะลอลง ทั้งนี้ ด้วยภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่แม้จะยังประคองการเติบโตไว้ได้ แต่ถ้าเทียบกับประเทศในอาเซียน ก็ยังถือว่าโตต่ำกว่าหลายประเทศ จึงเป็นเหตุผลที่ธุรกิจไทยน่าจะยังคงให้ความสนใจขยายธุรกิจ และการลงทุน ไปยังประเทศในอาเซียนต่อเนื่อง

ปัจจัยด้านพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปคนไทยใช้ชีวิตและทำธุรกรรมการเงินบนโลกออนไลน์มากขึ้น โดยพฤติกรรมการใช้ Mobile Banking เพิ่มขึ้น จากสัดส่วนจำนวนบัญชี Mobile Banking ต่อประชากรที่ 0.9% ในปี 2553 เป็น 34.8% ในปี 2559 เช่นเดียวกับผู้ใช้ e-Money, Internet Banking และบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน ซึ่งสะท้อนว่า ธุรกรรมบนออนไลน์ทวีความสำคัญอย่างมาก

ปัจจัยแนวนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนการเกิดสังคมไร้เงินสด สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 5 ปีของสมาคมธนาคารไทย ที่ต้องการผลักดันบริการด้านการเงินดิจิทัล เพื่อลดต้นทุนการจัดการเงินสดในระบบ และประเทศ นำไปสู่การพัฒนาบริการใหม่ อาทิ การขยายบัตรเดบิตชิปการ์ด, การขยายร้านค้ารับบัตรด้วยเครื่องอีดีซี, บริการพร้อมเพย์, การชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดมาตรฐาน ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมลูกค้า และมีการพัฒนาบริการใหม่ให้เข้าสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยการแข่งขันจากผู้ให้บริการรายใหม่ และข้ามอุตสาหกรรม ที่ทำให้ธนาคารต้องสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ควบคู่กับการสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า ผ่านการใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนอง และต่อยอดความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด เร็วที่สุด และปลอดภัยที่สุด

นายปรีดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ทิศทางเศรษฐกิจของไทยและภูมิภาค พฤติกรรมผู้บริโภค แนวนโยบายจากภาครัฐ และบริบทการแข่งขันต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นปัจจัยที่ธนาคารกสิกรไทยให้ความสำคัญ และประเมินอย่างต่อเนื่อง เพื่อการกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ให้ธนาคารสามารถปรับตัวตอบสนองต่อการแข่งขันดังกล่าว และยังคงไว้ซึ่งความได้เปรียบในการทำธุรกิจ และคงความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของลูกค้าในระยะยาว

ด้านนายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจัยความท้าทายต่าง ๆ นำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ของธนาคารกสิกรไทย ซึ่งธนาคารยังดำเนินธุรกิจโดยการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centricity) พร้อมกำหนดเป้าหมายให้ธนาคารเป็น Customers’ Life Platform of Choice หรือแพลตฟอร์มหนึ่งเดียวที่ลูกค้าเลือก เพื่อตอบโจทย์ทุกด้านของชีวิต โดยพัฒนาจุดแข็งจากการเป็นอันดับหนึ่งในดิจิทัลแบงกิ้ง และกำหนดกลยุทธ์การให้บริการ 3 ด้าน ได้แก่ (1) ให้บริการมากกว่าความเป็นธนาคาร (Beyond Banking) (2) ลูกค้าไว้วางใจ (Embedded Trust) และ (3) ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ครอบคลุมทุกที่ทุกเวลา (Everyone, Everyday, Everyway, Everywhere

ทั้งนี้ การเป็น Customers’ Life Platform of Choice เพื่อให้บริการของธนาคารเข้าไปมีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันของลูกค้า ต้องวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรม และความต้องการ จนสามารถคาดการณ์ความต้องการของลูกค้าได้ล่วงหน้า เพื่อเสนอบริการได้ตรงความต้องการของแต่ละบุคคล โดยเน้นผ่าน 4 แอปพลิเคชันสำคัญ ได้แก่

เค พลัส (K PLUS) แอปพลิเคชันธนาคารบนมือถือที่มีฐานผู้ใช้งานอันดับหนึ่ง คาดว่าในปี 2560 จะมีผู้ใช้งานที่ 8 ล้านราย และในปี 2561 จะเพิ่มผู้ใช้งานเป็น 10.8 ล้านราย

เค พลัส ช็อป (K PLUS SHOP) แอปพลิเคชันสำหรับร้านค้า เพื่อรับชำระด้วยคิวอาร์โค้ดมาตรฐานแอปแรกของไทย คาดว่าในปี 2560 จะมีร้านค้าใช้งาน 200,000 ร้าน และในปี 2561 จะเพิ่มเป็น 1,000,000 ร้าน

เค พลัส เอสเอ็มอี (K PLUS SME) แอปพลิเคชันธนาคารบนมือถือเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี คาดว่าในปี 2560 จะมีผู้ใช้งานที่ 420,000 ราย และในปี 2561 จะเพิ่มเป็น 500,000 ราย

พรวนฝัน (Pruanfun) เมนูตลาดนัดบนมือถือใน K PLUS ที่นำเสนอสินค้าที่น่าสนใจ เลือกสรรสำหรับลูกค้า เริ่มใช้งานในปี 2561 คาดว่ามีสินค้าประมาณ 50,000 รายการ

เทคโนโลยีเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาบริการยุคใหม่ ซึ่งกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ เคบีทีจี จะเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับธนาคารพัฒนาบริการ เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ประทับใจและมีชีวิตที่ดีขึ้น (Customer-Centric Technology for Better Life) โดยใช้งบประมาณพัฒนาด้านไอทีปีละประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาที่สำคัญในปี 2561 ได้แก่

การพลิกโฉม K PLUS จากโมบายแบงกิ้งสู่การเป็น Lifestyle Platform Banking ที่จะตอบสนองการใช้งานของลูกค้าทุกกลุ่ม ทำให้บริการผ่านแอปพลิเคชันกลุ่ม K PLUS มีมิติบริการที่ครอบคลุมหลากหลาย เช่น เมนูพรวนฝัน ที่นำเสนอรายการสินค้าเพื่อตอบสนองการใช้งานชอปปิ้งออนไลน์

แมชชีน คอมเมิร์ช (Machine Commerce) เป็นการนำเทคโนโลยี Machine Learning มาวิเคราะห์และพัฒนาแนวทางการนำเสนอบริการให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละราย รวมทั้งการให้ข้อมูลการตลาดแบบเจาะจงเป้าหมายผ่านเมนู Mobile Life PLUS บน K PLUS

เมนูโอนเงินข้ามประเทศผ่าน K PLUS (Low-Value Remittance) ในปี 2561 จะเป็นครั้งแรกที่ลูกค้าธนาคารของไทย สามารถทำรายการโอนเงินไปต่างประเทศด้วยตัวเอง ทางสมาร์ทโฟนผ่าน K PLUS ไปยังผู้รับเงินปลายทางกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ในจีน, สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, สิงคโปร์, ฮ่องกง, ออสเตรเลีย และกลุ่มสหภาพยุโรป เป็นการเปิดมิติใหม่ของการโอนเงินรายย่อยไปต่างประเทศ

การเสนอสินเชื่อด้วยแมชชีน เลนดิ้ง (Machine Lending) เป็นการนำเทคโนโลยี Machine Learning มาวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่ายของลูกค้า เพื่อประเมินความเสี่ยง และคาดการณ์ความต้องการวงเงินสินเชื่อ และนำเสนอให้แก่ลูกค้าก่อนที่ลูกค้าจะขอ ทั้งในกลุ่มลูกค้าบุคคล และลูกค้าธุรกิจ

การวางหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนบล็อกเชน (Enterprise Letter of Guarantee on Blockchain) ที่ธนาคารกสิกรไทยพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งในปี 2561 จะมีการขยายฐานลูกค้าผู้ใช้งานเพิ่มอีก 7-10 บริษัท และคาดว่าจะมีสถาบันการเงินเข้ามาเชื่อมต่อระบบอีก 4-5 แห่ง

บริการหักบัญชีและชำระดุลระบบสากล (Clearing and Settlement) ผ่านบล็อกเชนธนาคารกสิกรไทย เป็นหนึ่งในธนาคารหัวหอกจากหลายประเทศทั่วโลก ได้ร่วมกับไอบีเอ็ม พัฒนาบริการ เพื่อให้ธุรกิจทั่วโลกสามารถทำสัญญา และโอนเงินระหว่างประเทศ ได้รวดเร็วเกือบเรียลไทม์ ช่วยให้ทราบสถานะธุรกรรมหักบัญชี และสามารถชำระดุลจากการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางได้

นอกจากนั้น ธนาคารกสิกรไทยมีการสร้างพันธมิตรในระบบนิเวศดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกเหนือจากการตั้งทีมงาน Digital Partnership ภายในธนาคาร และกลุ่มบริษัท KBTG แล้ว ธนาคารมีบริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด ทำหน้าที่เข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัป เพื่อแสวงหานวัตกรรมที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของธนาคาร และนำมาต่อยอดการให้บริการ ด้วยวงเงินลงทุนเริ่มต้น 1,000 ล้านบาท โดยปี 2560 ได้ลงทุนไปแล้ว 250 ล้านบาท เป็นการลงทุนตรงในธุรกิจสตาร์ทอัป 2 ราย และลงทุนผ่าน VC Fund 2 กองทุน สำหรับปี 2561 บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล ตั้งเป้าวงเงินลงทุนเพิ่มประมาณ 200-300 ล้านบาท เน้นกลุ่มสตาร์ทอัปที่เสริมศักยภาพของผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร ซึ่งจะรวมถึงเทคโนโลยี AI และ Blockchain ประมาณ 4 ราย และการลงทุนผ่าน VC Fund จำนวน 1 กองทุน

นายพิพิธ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์การเป็น Customers’ Life Platform of Choice ดังกล่าว ในปี 2561 ลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ใหม่จากบริการของธนาคารกสิกรไทย ที่พัฒนาขึ้นเพื่อการเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของลูกค้า โดยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่นี้ ธนาคารได้กำหนดแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ ได้แก่

ธุรกิจกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ มุ่งเน้นเป็นธนาคารเพื่อลูกค้าเอสเอ็มอี (Bank for SMEs Customers) ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าแบบครบวงจร (Total Solution Provider) ตั้งเป้าหมายสินเชื่อลูกค้าเอสเอ็มอี เติบโต 4-6% รายได้ค่าธรรมเนียมเติบโต 2-4% ครองส่วนแบ่งทางการตลาดในแง่มูลค่าสินเชื่อที่ 28%

ธุรกิจกลุ่มลูกค้าบรรษัท มุ่งเป็นธนาคารที่ลูกค้าเชื่อมั่น ตอบโจทย์ความต้องการรอบด้านของลูกค้าธุรกิจ (Trusted Bank for Corporate Customers) โดยตั้งเป้าหมายสินเชื่อธุรกิจลูกค้าบรรษัทเติบโต 5-7% รายได้ค่าธรรมเนียมเติบโต 2-5% ครองส่วนแบ่งทางการตลาดสินเชื่อที่ 22%

ด้านธุรกิจข้ามประเทศ ยังคงเดินหน้ายุทธศาสตร์การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3 (The Bank of AEC+3) ผ่านกลยุทธ์การขยายธุรกิจสู่ภูมิภาค “Dual Track Regional Digital Expansion” ดำเนินเป็น 2 แทร็กคู่ขนาน คือ การขยายธุรกิจธนาคารทั่วไป (Classical Expansion) ด้วยการขยายเครือข่าย และยกระดับการให้บริการในแต่ละประเทศ หาแนวทางเปิดสาขาในเวียดนาม และเมียนมาร์ ภายในปี 2561-2562 และการขยายธุรกิจธนาคารดิจิทัล (Digital Expansion) พัฒนาระบบชำระเงินและรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Issuing and Acquiring Business) โดยนำความรู้และประสบการณ์ในประเทศไทยไปใช้ในภูมิภาค ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวสูง โดยในปี 2561 ในกลุ่มประเทศ CLMVI คาดว่าจะมีการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์เติบโตกว่า 20%

การเป็นศูนย์กลางการชำระเงินในภูมิภาค (Regional Settlement Hub) โดยการเปิดให้บริการโอนเงินทุกสกุลเงินท้องถิ่นใน AEC+3 (Exotic Currency Settlement Initiative) เป็นธนาคารแห่งแรกในไทย ลูกค้าที่ทำการค้ากับต่างประเทศในภูมิภาคไม่ต้องแลกเปลี่ยนเงินผ่านหลายสกุล ซึ่งเริ่มให้บริการตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2560 มียอดการโอนเงินกว่า 16,000 ล้านบาท และเตรียมเชื่อมโยงบริการการชำระเงินของเครือข่ายธนาคารในภูมิภาคเข้าด้วยกัน โดยธนาคารกสิกรไทยในไทยเป็นศูนย์กลางรับคำสั่งเพื่อชำระเงินต่อไปยังปลายทางในภูมิภาค

ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้าหมายภาพรวมการดำเนินงานในปี 2561 อัตราการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ (Loan Growth) 5-7% อัตราการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (Non-Interest Income Growth) อยู่ในระดับทรงตัว มีอัตราส่วนผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) 3.2-3.4% และอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม (NPL Ratio (Gross)) 3.3-3.4%

นางสาวขัตติยา กล่าวตอนท้ายว่า ความท้าทายจากปัจจัย และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่นำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ การเป็น Customers’ Life Platform of Choice ธนาคารได้มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่เข้ามาพัฒนาบริการ และกำหนดแผนการดำเนินงานของธนาคารทุกด้าน ที่มีเป้าหมายสู่ความเป็นผู้นำด้านดิจิทัลเป็นสำคัญ โดยเชื่อมั่นว่า ธนาคารจะสามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ การเป็นธนาคารที่อยู่เคียงข้างลูกค้าในชีวิตประจำวัน ทั้งในด้าน ไลฟ์สไตล์ และการทำธุรกิจ และทำให้ธนาคารกสิกรไทยสามารถดำรงความเป็นผู้นำการให้บริการได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น