xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นแนวทางกำกับดูแล ICO

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแล Initial Coin Offering (ICO) สำหรับการออกและเสนอขายดิจิทัลโทเคนที่เข้าข่ายเป็นหลักทรัพย์ เพื่อวางแนวทางกำกับดูแลให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ เพิ่มทางเลือกในการระดมทุนและการลงทุน ขณะที่ยังสามารถป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่สุจริตอาศัย ICO เป็นช่องทางหลอกลวงเงินจากประชาชน โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน ศกนี้

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เปิดเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแล Initial Coin Offering (ICO) สำหรับการออกและเสนอขายดิจิทัลโทเคนที่เข้าข่ายเป็นหลักทรัพย์ เพื่อวางแนวทางกำกับดูแลให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ เพิ่มทางเลือกในการระดมทุนและการลงทุน ขณะที่ยังสามารถป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่สุจริตอาศัย ICO เป็นช่องทางหลอกลวงเงินจากประชาชน

สำหรับ ICO เป็นการระดมทุนรูปแบบดิจิทัล ที่มีศักยภาพในการตอบโจทย์การเข้าถึงทุนของเทคสตาร์ทอัป (tech startup) และธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) และได้รับความนิยมทั่วโลกจนเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ระดมทุนผ่าน ICO สามารถออกแบบให้ดิจิทัลโทเคน (digital token) ของ ICO แสดงสิทธิของผู้ถือดิจิทัลโทเคนได้อย่างหลากหลาย ICO บางกรณีจึงอาจเข้าข่ายเป็นหลักทรัพย์ที่ผู้ระดมทุนต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ของ ก.ล.ต. ดังนั้น ความชัดเจนในแนวทางของ ก.ล.ต. จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น สนับสนุนกลไกตลาด สร้างมาตรฐานในการระดมทุน รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดตัวช่วย สำหรับผู้ลงทุนในการแยก ICO เพื่อการระดมทุนอย่างแท้จริง ออกจากกรณีที่ผู้ไม่สุจริตพยายามใช้ช่องทางดังกล่าวหาประโยชน์จากประชาชน

แนวทางที่ ก.ล.ต. เสนอในครั้งนี้ จึงประกอบด้วยการกำหนดให้ “ส่วนแบ่งร่วมลงทุน”* เป็นนิยามทั่วไปของหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นตราสารการลงทุนที่มีเงื่อนไขเป็นมาตรฐาน นอกเหนือจากหลักทรัพย์ที่มีการประกาศกำหนดไว้แล้ว เพื่อให้ไม่มีช่องว่างในการกำกับดูแล และทดลองเปิดช่องทางให้เฉพาะ ICO ที่เข้าข่ายเป็นส่วนแบ่งร่วมลงทุนสามารถเสนอขายได้เฉพาะกับ (1) ผู้ลงทุนประเภทสถาบัน (institutional investor) (2) กิจการเงินร่วมลงทุน (venture capital fund) (3) นิติบุคคลร่วมลงทุน (private equity fund) (4) ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (ultra high net worth investor) และ (5) ผู้ลงทุนรายย่อย ซึ่งจะถูกจำกัดวงเงินลงทุนแต่ละรายไม่เกิน 300,000 บาทต่อโครงการ

ทั้งนี้ ผู้ต้องการระดมทุนในรูปแบบ ICO ต้องทำผ่าน ICO portal ที่ ก.ล.ต. ยอมรับ โดย ICO portal ต้องสามารถดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ได้อย่างครบถ้วน เช่น การคัดกรองคุณภาพ เพิ่มความโปร่งใส และสร้างความมั่นใจในตลาด ICO เป็นต้น โดยเงื่อนไขในการยอมรับ ICO portal อาจครอบคลุมถึงการทำ due diligence และคัดกรองผู้ระดมทุนจากผู้ที่ไม่สุจริต การตรวจสอบ source code ของ smart contract ที่จะใช้ enforce สัญญาโดยอัตโนมัติเทียบกับ white paper การมีกระบวนการเพื่อทำความรู้จักตัวตนของผู้ลงทุน (Know-Your-Client) การดูแลไม่ให้ผู้ลงทุนรายย่อยลงทุนเกินวงเงิน การมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันของการซื้อขายและถือครองดิจิทัลโทเคน และการให้ความร่วมมือกับ ก.ล.ต. ในการกำกับดูแลหลังการเสนอขาย
 

ก.ล.ต. เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ (http://capital.sec.or.th/webapp/phs/upload/phs1509108390hearing_34_2560.pdf) ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือโทรศัพท์/โทรสาร ที่โทร. 0-2033-9936 หรือทาง e-mail : aunchisa@sec.or.th และ archari@sec.or.th จนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2560
กำลังโหลดความคิดเห็น