xs
xsm
sm
md
lg

สแตนชาร์ดฯ คาดจีดีพีปีนี้โต 3.6%-ปีหน้า 4.3% รับแรงหนุนลงทุนเกิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประมาณการเศรษฐกิจปีนี้เติบโต 3.6% และปีหน้าที่ 4.3% รับแรงหนุนจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่เริ่มขับเคลื่อน และการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ตามเศรษฐกิจโลกที่เติบโตต่อเนื่อง ขณะที่่เงินบาทยังแข็งค่าต่อคาดสิ้นปีนี้อยู่ที่ 32.50 และปีหน้าแตะ 31.00

นาย​คิม​ ลีฬหะพันธุ์​ นักเศรษฐศาสตร์​ ประจำ​ประเทศไทย​ ธนาคาร​สแตนดาร์ด​ชาร์เตอร์​ด​ ไทย​ เปิด​เผย​ว่า​ สแตนดาร์ด​ชาร์เตอร์​ด​ คาดการณ์​จี​ดี​พี​ไทย​ปี​ 2560​ เติบโต​ได้​ 3.6% และ​ 4.3%ใน​ปี​ 2561 โดย​การ​เติบโต​ของ​เศรษฐกิจ​ได้รับ​ปัจจัย​หนุน​จาก​ทั้ง​ใน​และ​ต่างประเทศ​ โดยเฉพาะ​ภาค​การ​ส่งออก​ที่​ขยายตัว​สูง​ตาม​การค้าโลก​ที่​เพิ่มขึ้น​ ขณะที่​ปฏิทิน​ทางการเมือง​มี​ความ​ชัดเจน​ขึ้น​ หลังจากที่​นายกรัฐมนตรี​ให้​สัมภาษณ์​ว่า​มี​การ​เลือกตั้ง​ประมาณ​เดือน​พฤศจิกายน​ปีหน้า​ และ​การลงทุน​ใน​โครงสร้าง​พื้นฐาน​ขนาดใหญ่​ที่​เริ่ม​จะ​เกิดขึ้น​ ซึ่ง​ปัจจัย​ต่าง ๆ ​เหล่านี้​จะ​สนับสนุน​เศรษฐกิจ​ไทย​ในช่วง​ที่​เหลือขอ​ง​ปี​นี้​ และ​ในปีหน้า​ โดย​เฉพาะ​ใน​ด้าน​ของ​โครงการ​ลงทุน​ที่​จะ​มี​ต่อเนื่อง​ไป​ ซึ่ง​จาก​เม็ด​เงิน​ลงทุน​โครงสร้างพื้นฐาน​ที่​ตั้งไว้​ 1.79 ล้าน​ล้าน​บาท​นั้น​ คาด​ว่า​จะ​มี​การ​เบิกจ่าย​ในปีหน้า​ 200,000 ล้านบาท​ จาก​ช่วง​ 2 ปี​ที่ผ่านมา​ ที่​มี​การ​เบิกจ่าย​เพียง​ 50,000​ ล้าน​บาท​ หรือ​ไม่ถึง​ 5% ของ​วงเงิน​รวม​

นอกจากนี้ 4 นโยบายของรัฐบาลที่จะช่วยสนับสนุนด้านเศรษฐกิจไทยในอนาคตนั้น นอกจากโครงการลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ซึ่งรัฐบาลน่าจะเป็นผู้นำแล้ว ในส่วนของโครงการระเบียบเศรษฐกิจตะวันออก หรือ อีอีซี ก็ได้รับความสนใจทั้งจากนักลงทุนในและต่างประเทศ รวมถึงการเป็นศูนย์กลางของประเทศในกลุ่ม CLMV ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนุนด้านการลงทุน และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่แม้จะต้องใช้เวลาในการดำเนินการอีกระยะหนึ่ง ก็ถือเป็นส่วนช่วยที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในอนาคต

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปีหน้าธนาคารจะมองเศรษฐกิจเติบโตได้เกินกว่า 4% ที่ 4.3% ก็ตาม แต่ก็ยังถือว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพของไทยที่ประเมินกันไว้ที่ 5% ซึ่งแรงขับเคลื่อนที่ยังขาดอยู่ก็เป็นด้านการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มเข้ามาในช่วงปลายปีหน้า หรือต้นปี 2562 หลังจากภาครัฐได้ขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ออกมาต่อเนื่อง

ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยยายของไทยนั้น ธนาคารคาดว่าจะเริ่มมีการปรับขึ้นในช่วงกลางปีหน้า โดยอาจจะปรับขึ้น 2-3 ครั้ง ซึ่งในจุดนี้ถือว่าเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาขี้น ดังนั้น เอกชนควรจะเตรียมพร้อมที่จะรับกับวงจรดังกล่าว

“คำถามที่เรามักจะได้รับจากผู้ลงทุนก็คือ หากไม่ได้เกิดการเลือกตั้งขึ้นตามที่ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งตรงนี้เราจะให้ความสำคัญกับความต่อเนื่องของนโยบายมากกว่าการเลือกตั้งด้วยซ้ำ ซึ่งเท่าที่ดูรัฐบาลนี้ก็ถือว่ามีความต่อเนื่องของนโยบายสามารถผลักโครงการลงทุนขนาดใหญ่ออกมาได้ มีเสถียรภาพในระดับหนึ่ง คือ อยู่มา 3 ปีกว่าแล้ว ดังนั้น หากไม่ได้เกิดการเลือกตั้งตามกำหนดนั้น จะมีผลกระทบอะไร ก็ไม่มี อีกคำถามคือ รัฐจะเอาเงินที่ไหนมาลงทุน โครงการลงทุนของรัฐเงินทุนกว่า 50% จะมาจากการกู้ยืม จากปัจจุบันหนี้ภาครัฐยังอยู่ในระดับที่ต่ำประมาณ 40% และตั้งเป้าไว้ว่าจะไม่เกิน 50% ขณะที่การกู้ยืมเงินมาลงทุนจะเป็นในลักษณะทยอยกู้ จึงไม่น่าจะมีปัญหากับสัดส่วนหนี้ที่รัฐบาลตั้งไว้”

นายดิฟยา ดาเวช นักกลยุทธ ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวว่า ธนาคารมองแนวโน้มค่าเงินของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง จากเงินลงทุนเข้ามาทั้งในส่วนของตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และตลาดอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากยังเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเติบโตที่ดีรับผลจากการค้าโลกฟื้นตัว ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐฯ ยังถูกกดดันจากปัจจัยความไม่แน่นอนของนโบบายเศรษฐกิจต่าง ๆ กดดันให้อ่อนค่าอยู่ ซึ่งในส่วนของค่าเงินบาทก็เคลื่อนไหวสอดคล้องกับภูมิภาค แต่จะแข็งค่ากว่าที่ระดับ 8% เนื่องจากไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง แม้ในบางเดือนที่ดุลการค้าขาดดุลอยู่บ้าง แต่ก็จะถูกชดเชยด้วยการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี ดังนั้น จึงประเมินค่าเงินบาทที่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในปลายปีนี้ และ 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในปลายปีหน้า

นายเอ็ดเวิร์ด ลี หัวหน้าทีมวิจัย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวว่า ในช่วงที่รอยต่อระหว่างปี 2559 กับ 2560 เกิดหลายปัจจัยที่นักลงทุนมีความกังวล ไม่ว่าจะเป็นกรณี Breix, นโยบายเศรษฐกิจของนายประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ แต่เมื่อผ่านมาแล้วก็พบว่ามันไม่ได้เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีปัจจัยบวกเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวดีต่อเนื่อง เศรษฐกิจกลุ่มอียูฟื้นตัวขึ้นดีกว่าเดิม และเศรษฐกิจจีนที่เติบโตกว่าที่คาดไว้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้การค้าของโลกฟื้นตัว แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามกรณีข้อพิพาทคาบสมุทรเกาหลีที่ตึงเครียดขึ้น รวมถึงการคัดเลือกประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ คนใหม่ และนโยบายการปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทรัมป์ ซึ่งหากเกิดขึ้นได้ ก็จะทำให้เงินเฟ้อเร่งตัว และส่งผลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดด้วย โดยธนาคารคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ และอีก 2 ครั้งในปีหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น