xs
xsm
sm
md
lg

หายนะในตลาดTFEX (จบ)/สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


     คงจะมีคนตั้งคำถามอยู่เหมือนกันว่า ทำไมต้องตั้งตลาดอนุพันธ์ (TFEX) หรือเป็นเพราะว่า เมื่อตลาดหุ้นประเทศอื่นเขามีกัน ตลาดหุ้นไทยจึงต้องมีบ้าง
     เอาล่ะ สมมุติว่า จำเป็นต้องมีตลาดอนุพันธ์ แต่สิ่งที่น่าตั้งคำถามกันต่อไปคือ จำเป็นเพียงใดที่จะต้องพยายามให้นักลงทุนแห่เข้าไปเก็งกำไร
     สินค้าในตลาดอนุพันธ์ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการลงทุน แต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำมาซื้อขายเพื่อการเก็งกำไร ไม่สามารถซื้อเพื่อการลงทุนระยะยาว ไม่มีปัจจัยพื้นฐานที่จะวิเคราะห์ความเหมาะสมของราคา ไม่มีเงินปันผล และมีอายุไขสั้นๆเพื่อเก็งกำไรเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น

     การลงทุนในหุ้นสามัญ มีปัจจัยพื้นฐานที่จะวิเคราะห์การลงทุน ซื้อเพื่อลงทุนระยะยาวได้ จะถือหุ้นไว้ตลอดชีวิตก็ไม่เป็นไร ตราบใดที่บริษัทจดทะเบียนไม่มีอันเป็นไปเสียก่อน
     แต่การซื้อขายตราสารนอนุพันธ์มีความซับซ้อน และส่วนใหญ่ยังไม่ประสบความสำเร็จจากการลงทุนในหุ้นสามัญ
     การซื้อขายอนุพันธ์ซึ่งมีความซับซ้อนกว่า เต็มไปด้วยความเสี่ยง และเป็นการเก็งกำไรกึ่งการพนัน
     บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมบางแห่งที่บริหารเงินของประชาชนกว่า 1 ล้านล้านบาท มีกองทุนภายใต้การบริหารจัดการนับร้อยกองทุน แต่ไม่เคยลงทุนในตราสารอนุพันธ์เลย เพราะกลัวความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ถือหน่วยลงทุน
     เจ้าหน้าที่การตลาดหรือมาร์เก็ตติ้งของบริษัทโบรกเกอร์จำนวนไม่น้อยที่พยายามเตือนลูกค้า แนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในตลาดTFEX เพราะเห็นถึงความเสี่ยง และเห็นว่า การเล่นตราสารอนุพันธ์ เป็นการเลนพนันชัดๆ
 
    ตลาดหลักทรัพย์ก่อตั้งเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2518 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการระดมทุนของบริษัทเอกชนและการลงทุนของประชาชน

     ช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์ก่อกำหนด ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์และผู้บริหารตลาดอนุพันธ์ในปัจจุบัน อาจยังไร้เดียงสา จึงไม่เข้าใจปรัชญาของตลาดหุ้น และเน้นการจัดกิจกรรม เพื่อปลุกเร้า กระตุ้น จนเข้าข่ายการมอมเมาให้นักลงทุนมีพฤติกรรมเป็นนักเก็งกำไรระยะสั้น โดยเฉพาะการเก็งกำไรในตลาดอนุพันธ์
     กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ตลาดหลักทรัพย์พยายามเจาะมาหลายปีแล้วคือ กลุ่มนักเรียนนักศึกษา ซึ่งเดิมเน้นให้ความรู้ความเข้าใจการลงทุนในตลาดหุ้น แต่ช่วงหลังๆพยายามหว่านล้อมชักจูงให้เข้ามาเล่นอนุพันธ์


      ตลาดหลักทรัพย์แทรกซึมเข้าไปในหลายสถาบันการศึกษา เปิดหลักสูตรอบรมการลงทุน แต่ปูพื้นฐานความรู้การลงทุนไม่ทันเท่าไหร่ ก็ชักชวนให้ทดสอบการเป็นนักลงทุนจริงแล้ว โดยเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นจริง
     ไม่รู้ว่า ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์และตลาดอนุพันธ์คิดได้อย่างไร ในการชักจูงกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเข้ามาเล่นอนุพันธ์ ซื้อขายเก็งกำไรเดลิเวทีฟวอร์แร้นต์(DW)รายวัน ทั้งที่เป็นตราสารที่อันตรายสุดๆ จนแม้แต่นักลงทุนหน้าเก่าๆ มีประสบการณ์ลงทุนนับสิบปี ยังไม่ค่อยมีใครกล้าลองดีเล่นDW สักเท่าไหร่
     ทำไมไม่เตือนนักเรียนนักศึกษาหรือนักลงทุนรุ่นใหม่ ให้ระมัดระวังการเก็งกำไร หลีกเลี่ยงซื้อขายรายวัน
     ทำไมจึงพยายามปลูกฝังพฤติกรรมการเก็งกำไรระยะสั้นให้เยาวชน จนทุกคนเพ้อฝันอยากจะรวยเร็วในทางลัด แทนที่จะปูพื้นฐานความรู้ด้านการลงทุน การวางแผนออมเงิน และการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการเล่นหุ้นหรืออนุพันธ์
    

    นักศึกษาจำนวนหนึ่ง ขอเงินผู้ปกครองมาเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นและอนุพันธ์ เพราะคิดว่าการลงทุนเป็นเรื่องง่าย การหากำไรจากตลาดหุ้น ไม่เกินความสามารถที่จะทำได้ บางคนคิดจะเป็นเศรษฐีในตลาดหุ้นกันทีเดียว โดยแห่เข้าไปเล่นอนุพันธ์ เพราะคิดว่าเป็นช่องทางที่จะรวยเร็ว
    แทบไม่ต้องอธิบายว่า ผลลัพธ์การลงทุนของนักเรียนนักศึกษาที่ตกเป็นเหยื่อของแผนการสร้างนักลงทุนหน้าใหม่เป๋นอย่างไร
    นักศึกษาหลายคนต้องสูญความมั่นใจ ต้องเสียใจที่นำเงินของผู้ปกครองมาเสียหาย และสาปส่งการลงทุนในตลาดหุ้น
 
    ทุกวันนี้ ตลาดหลักทรัพย์กำลังเดินหลงทาง โดยมุ่งมอมเมาพฤติกรรมการเก็งกำไรระยะสั้น ทั้งในตลาดหุ้นและตลาดอนุพันธ์ มุ่งแต่การพัฒนาในเชิงปริมาณ ทั้งปริมาณสินค้าในตลาดหุ้นและตลาดอนุพันธ์ ทั้งปริมาณนักลงทุน โดยคำนึงถึงการพัฒนาด้านคุณภาพน้อยมาก
    การเติบโตของตลาดอนุพันธ์ จึงเหมือนการปั่นฟองสบู่ลูกใหญ่ๆที่รอวันแตกสลาย
    เหตุการณ์ความปั่นป่วนในตลาดTFEX เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนนับพันคนต้องเจ็บหนัก เพราะถูกบังคับขายสัญญาซื้อขายดัชนีเซท 50 ล่วงหน้า เป็นสัญญาณเตือนภัยในหายนะของตลาด TFEX
    ถ้าผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ ผู้บริหาร TFEX ยังก้มหน้าก้มตา มอมเมา ปลุกเร้า กระตุ้นให้นักลงทุนแห่เข้ามาเก็งกำไรในตลาด TFEX ต่อไป ไม่ตระหนักถึงความเสียหายของนักลงทุน
    หายนะใหญ่ในตลาด TFEX คงหนีไม่พ้น

กำลังโหลดความคิดเห็น