xs
xsm
sm
md
lg

จุดเปลี่ยนนโยบายการเงินที่นักลงทุนต้องเตรียมพร้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางทั่วโลกดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยมุ่งหวังที่จะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งในรูปแบบของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำถึงติดลบ รวมถึงการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบหรือที่เราคุ้นชินต่อคำว่า มาตรการ QE ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมา สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจโลกอยู่ในระดับสูง เม็ดเงินเหล่านั้นได้กระจายเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงทองคำเช่นกัน

ปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวกลับสู่ระดับการขยายตัวถือเป็น “ปกติ” ดัชนีชี้วัดระบบเศรษฐกิจสำคัญหลายตัวทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชียล้วนแต่บ่งชี้ไปในทิศทางที่เข้มแข็งขึ้น และแน่นอนว่า เมื่อเวลา “เปลี่ยน” เศรษฐกิจโลก “เปลี่ยน” ไปในทิศทางที่ดีขึ้น ก็ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มส่งสัญญาณว่าจะ “เปลี่ยน” แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินจากเดิมที่เป็นไปในลักษณะผ่อนคลายเพื่อกลับสู่ภาวะปกติ (Monetary Policy Normalization) เช่นกัน


โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED ถือว่าเป็นธนาคารกลางขนาดใหญ่ที่เริ่มต้นกระบวนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมถึงมีการประกาศจะเริ่มต้นปรับลดขนาดงบดุล FED ในปีนี้ด้วย ล่าสุด ธนาคารกลางชั้นนำหลายแห่ง นอกเหนือจาก FED เช่น ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB, ธนาคารกลางอังกฤษ หรือ BOE และธนาคารกลางแคนาดา ออกมาส่งสารที่สอดคล้องกัน

คือ ธนาคารกลางทั่วโลกจะมีการปรับลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ มาตรการ QE และจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แน่นอนว่าสัญญาณแบบสายเหยี่ยวจากธนาคารกลางทั่วโลก ส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดสินทรัพย์ทั่วโลก แรงกระทบดังกล่าว กระเพื่อมมากกว่าผลการประชุมครั้งล่าสุดของ FED ซะด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในระยะสั้นถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลายแห่งที่บ่งชี้ว่า จะปรับลดนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายส่งผลหนุนให้ยูโร ดอลลาร์แคนาดา และปอนด์แข็งค่า ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันดอลลาร์สหรัฐให้อ่อนค่า และส่งผลในเชิงบวกต่อราคาทองคำ

แนวโน้มดังกล่าวกลายเป็นปัจจัยใหม่ที่อาจกดดันราคาทองคำในอนาคต เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทั่วโลกส่งผลให้เกิดแรงเทขายพันธบัตรระยะยาวจากนักลงทุนและเป็นผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรส่งผลให้ต้นทุนในการถือครองทองคำก็สูงขึ้นตามไปด้วย เพราะทองคำนั้นไม่ให้ดอกเบี้ยผลตอบแทนในการถือครอง และปัจจัยดังกล่าวกดดันราคาทองคำ

จุดสิ้นสุดของนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายที่ใกล้เข้ามา ถือเป็นสิ่งที่นักลงทุนทองคำจะต้องเรียนรู้ และเตรียมพร้อมรับมือเพื่อปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะสม ทั้งนี้ แนะนำนักลงทุนติดตามความชัดเจนของการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ อย่างใกล้ชิด
กำลังโหลดความคิดเห็น