xs
xsm
sm
md
lg

ไนท์แฟรงค์ ชี้รีเจกต์พุ่ง ฉุดดีมานด์คอนโดฯ ลดฮวบ 59%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อุปทานและอุปทานใหม่คอนโดมิเนียมในกรุงเทพ ปี 2551-2559
“ไนท์แฟรงค์” ชี้ยอดรีเจกต์พุ่งฉุดดีมานด์คอนโดฯ ย่านชาญเมืองลด จับตาคอนโดฯเก่าย่าน CBD สู้ศึกคอนโดฯ ใหม่รอบ CBD พร้อมเผยปี 59 คอนโดฯ เปิดใหม่ 52,195 หน่วย ขณะที่ยอดขาย 26,595 หน่วย ลดฮวบ 59%

นายแฟรงค์ ข่าน กรรมการบริหารและหัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาด้านโครงการที่พักอาศัย บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ตลาดคอนโดฯ ในกรุงเทพฯ ในปี 2559 มีการเติบโตในระดับที่ลดลงกว่าปี 2558 เนื่องจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจไทย ซัปพลายพื้นที่เขตชานเมือง (Peripheral areas) ในกรุงเทพฯ มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด โดยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 76 ของซัปพลายทั้งหมดในปี 2559 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการขยายเส้นทางขนส่งมวลชนไปสู่ย่านชานเมืองกรุงเทพฯ นักพัฒนาหลายราย จึงเลือกพัฒนาโครงการตามเส้นทางขนส่งมวลชนสายใหม่ในย่านชานเมือง เนื่องจากมีที่ดินเพียงพอต่อการพัฒนาในราคาที่สมเหตุสมผล

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการพัฒนารถไฟใต้ดิน (MRT) สายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) จะเป็นกรณีศึกษาแก่นักพัฒนา และผู้ซื้อคอนโดฯ ในย่านนี้ เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารจริงมีจำนวนน้อยกว่าเกือบสามเท่าของจำนวนผู้โดยสารที่ถูกคาดการณ์ไว้ เนื่องจากเส้นทางสายนี้ยังไม่ได้เชื่อมต่อกับเส้นทางขนส่งมวลชนสายอื่นๆ สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ตลาดคอนโดฯ ตามแนวสายสีม่วง ที่เปิดดำเนินการไปเมื่อปีที่แล้ว ยังคงมีหน่วยที่เหลือขายอยู่ในตลาด

โดยรวมแล้ว ความต้องการคอนโดฯ มีปริมาณลดลงมาก เนื่องจากความต้องการคอนโดฯ ในพื้นที่เขตชานเมืองกรุงเทพฯ ที่น้อยลง เพราะผู้ซื้อจำนวนมากไม่สามารถกู้ยืมจากธนาคารได้ ราคาคอนโดฯ ในพื้นที่เขตชานเมืองกรุงเทพฯ จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่คอนโดฯ ในย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) และพื้นที่รอบนอกศูนย์กลางธุรกิจ (City Fringe areas) จะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากซัปพลายใหม่มีน้อย หน่วยคอนโดฯ ใหม่ๆ ในพื้นที่รอบนอกศูนย์กลางธุรกิจจะต้องแข่งขันกับหน่วยคอนโดฯ เก่าในย่านศูนย์กลางธุรกิจที่มีการบำรุงรักษาอาคารอย่างดี เนื่องจากหน่วยคอนโดฯ ใหม่ในพื้นที่รอบนอกศูนย์กลางธุรกิจมีราคาสูงกว่าหน่วยคอนโดฯ เก่าในย่านศูนย์กลางธุรกิจ

ด้าน นางสาวพจมาน วรกิจโภคาทร ผู้อำนวยการด้านการตลาดและงานขาย บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ราคาคอนโดฯ ในเขตชานเมืองกรุงเทพฯ คาดว่าจะยังคงมีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม นักพัฒนาจำเป็นต้องทำการสำรวจตลาดก่อนเริ่มพัฒนาโครงการคอนโดฯ ในบางพื้นที่ของเขตชานเมืองกรุงเทพฯ ด้วยราคาขายที่ปรับตัวสูงขึ้นมากของคอนโดฯ ในย่านศูนย์กลางธุรกิจ และพื้นที่รอบนอกศูนย์กลางธุรกิจ ตลาดรีเซล (Resales market) ของคอนโดฯ ในย่านศูนย์กลางธุรกิจจะต้องแข่งขันกับโครงการคอนโดฯใหม่ๆ เนื่องจากมีช่องว่างด้านราคาขายที่ต่างกันมาก สำหรับคอนโดฯ เหล่านี้ ผู้อยู่อาศัย (End-users) อาจให้ความสนใจกับหน่วยคอนโดฯ รีเซลในอาคารเก่าที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีมากกว่าที่จะซื้อหน่วยคอนโดฯ โครงการใหม่ เนื่องจากคอนโดฯ เก่ามีราคาที่ถูกกว่า และขนาดหน่วยที่ใหญ่กว่า
อุปทาน อุปสงค์ และอัตราการครอบครอง ปี 51-59
จากรายงานผลวิจัยของไนท์แฟรงค์ประเทศไทย พบว่า ภายในสิ้นปี 2559 คอนโดฯ ในกรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งหมด 435,805 หน่วย โดยจำนวนประมาณ 52,195 หน่วย ถูกเปิดตัวไปในปี 2559 แสดงการเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 13.6 จากปีก่อน ซัปพลายใหม่ส่วนใหญ่เป็นของบริษัทมหาชน ปริมาณซัปพลายที่มีมากไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของความต้องการคอนโดฯ แต่อย่างใด โครงการที่เปิดตัวใหม่ๆ ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในพื้นที่เขตชานเมืองกรุงเทพฯ โดยสามารถคิดเป็นร้อยละ 76 ของซัปพลายใหม่ปี 2559 ตามมาด้วยพื้นที่รอบนอกศูนย์กลางธุรกิจ โดยอยู่ที่ร้อยละ 14

ส่วนปริมาณซัปพลายใหม่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจปี 2559 มีจำนวน 5,259 หน่วยโดยคิดเป็นร้อยละ 10 โดยส่วนใหญ่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 มีการเปิดตัวโครงการใหม่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจ 9 โครงการ, โครงการในพื้นที่รอบนอกศูนย์กลางธุรกิจ 12 โครงการ จำนวน 7,597 หน่วย หรือคิดเป็นร้อยละ 14 และโครงการในพื้นที่เขตชานเมือง 50 โครงการ 39,939 หน่วย คิดเป็น 76% โดยโครงการใหม่ที่เปิดตัวในพื้นที่เขตชานเมืองส่วนใหญ่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 พัฒนาตามแนวเส้นทางรถไฟใต้ดิน MRT สายสีน้ำเงินสายที่ 2 (หัวลำโพง-ท่าพระ-หลักสี่) และสายที่ 3 (หลักสี่-พุทธมณฑลสาย 4) และตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า BTS สายใต้ (แบริ่ง-สำโรง-สมุทรปราการ) ที่มีการก่อสร้างแล้วเสร็จมากกว่าร้อยละ 80 ในขณะนี้

แนวโน้มดีมานด์ มีจำนวนหน่วยคอนโดฯ ประมาณ 315,393 หน่วยที่ถูกขายออกไปจากทั้งหมด 435,805 หน่วย คิดเป็นอัตราขายที่ร้อยละ 72.4 ซึ่งลดลงไปจากปีก่อนจากร้อยละ 75.3 หน่วยของคอนโดฯ ที่ถูกขายออกในปี 2559 โดยมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 26,595 หน่วย ลดลงไปร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีประมาณ 64,170 หน่วยที่ขายออกไปในปี 2558 ทั้งนี้ อาจเป็นผลมาจากกำลังซื้อที่ลดลงของผู้ซื้อ และมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นของธนาคาร ดังนั้น นักพัฒนาจำต้องสร้างแคมเปญส่งเสริมการขายพิเศษต่างๆ เพื่อกระตุ้นยอดขาย เช่น การลดราคา, ข้อเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษ และอื่นๆ

ส่วนแนวโน้มด้านราคาของโครงการคอนโดฯ ที่เปิดตัวใหม่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วกรุงเทพฯ ในราคาที่แตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับทำเลพื้นที่ ราคาขายเฉลี่ยของหน่วยคอนโดฯ ในย่านศูนย์กลางธุรกิจ อยู่ที่ 229,180 บาทต่อ ตร.ม. เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 ตามมาด้วยราคาขายเฉลี่ยของหน่วยคอนโดฯ ในพื้นที่รอบนอกศูนย์กลางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 หรือคิดเป็น 134,842 บาทต่อ ตร.ม. และราคาขายเฉลี่ยของหน่วยคอนโดฯ พื้นที่เขตชานเมืองที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 คิดเป็น 76,002 บาทต่อ ตร.ม.


กำลังโหลดความคิดเห็น