xs
xsm
sm
md
lg

อนันดา ยึดโมเดลญี่ปุ่น ระบบการจัดการเมืองอัจฉริยะรองรับยุคดิจิตอล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชานนท์ เรืองกฤตยา
“อนันดา” ยึดโมเดลญี่ปุ่นเมืองต้นแบบ Smart City ระบบการจัดการเมืองอัจฉริยะ ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัย พร้อมหนุนธุรกิจ Startup ต่อยอดนวัตกรรมใหม่ใช้พัฒนาโครงการในอนาคต หวังก้าวสู่ผู้นำด้าน Technology & Innovation

การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในยุคปัจจุบัน จะไม่ใช่แค่ทำเล คุณภาพงานก่อสร้าง อีกต่อไป เพราะเมื่อผู้ประกอบการสามารถก้าวข้ามคำว่าคุณภาพ และทำเลไปได้แล้ว การแข่งขันหลังจากนี้ยังต้องสร้างความแตกต่างในรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การบริการหลังการขาย เทคโนโลยีการอยู่อาศัยเพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย การออกแบบที่แตกต่าง ยกระดับคุณภาพชีวิต สะท้อนไลฟ์สไตล์ของลูกบ้าน นอกจากนี้ การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในยุคปัจจุบันจะต้องอาศัยเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่เพื่อการอยู่อาศัย

นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเติบโตของเมืองใหญ่ในแต่ละประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่อง ความหนาแน่นของการพักอาศัย และสัดส่วนของการอยู่อาศัยในพื้นที่เมืองที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ในการบริหารจัดการเมืองตามมา ปัญหาในหัวเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกจะมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน ประกอบไปด้วย ปัญหาจราจรที่แออัด ปัญหามลภาวะ ปัญหาความสิ้นเปลืองด้านพลังงาน ปัญหาการจัดการของเสีย และปัญหาอื่นๆ ทางสังคม ในยุคทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก และสถาบันการศึกษาชั้นนำต่างๆ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาการจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐาน และระบบต่างๆ ของเมือง หนึ่งในไอเดียสำคัญที่ได้มีการพูดถึง และได้รับความสนใจมาก คือ การพัฒนาเมืองแบบ Smart City หรือแบบนครอัจฉริยะ

ปัจจุบัน Smart City หรือเมืองอัจฉริยะเป็นกระแสที่กำลังมีการพัฒนากันทั่วโลก เพราะเป็นเรื่องของการนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาปรับใช้กับเมืองเพื่อให้มีความน่าอยู่มากขึ้น ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะของเมืองได้อย่างรวดเร็ว การเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันเพื่อช่วยพัฒนาระบบบริการให้มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับพื้นที่ มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างความปลอดภัยได้มากขึ้น แนวคิดในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาเมืองให้มีความอัจฉริยะนั้น จะต้องมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคธุรกิจ รัฐบาล รวมถึงประชาชนในพื้นที่ร่วมกันพัฒนาเมือง

ในหลายประเทศก็ได้มีการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐ และภาคธุรกิจ เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สเปน เป็นต้น โดยมีบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกได้เข้ามาร่วมมือกับรัฐบาลในการนำเอาเทคโนโลยี ICT เข้ามาช่วยบริหารจัดการเมือง และชุมชนให้มีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้นจนประสบความสำเร็จในการเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ

สำหรับประเทศไทยภาครัฐให้ความสำคัญกับการพัฒนา และการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารมาใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการพัฒนาประเทศมาโดยตลอด และเมื่อโลกเริ่มก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิตอล การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ทางความคิดในทุกภาคส่วนจึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะภาครัฐได้เริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อน และพัฒนาประเทศ รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งด้านการให้บริการแก่ประชาชน และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เทคโนโลยีดิจิตอลสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโอกาสทางการเรียนรู้เพิ่มรายได้ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน และก้าวทันความเปลี่ยนแปลงบนเวทีโลก

“หากรัฐบาลสนับสนุนการทั้งในด้านของกฎระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมายที่เป็นอุปสรรค์ในการพัฒนาเมืองขนาดใหญ่ การขอใบอนุญาตแบบ One stop service การเวนคืนที่ดิน หรือการจัดหาที่ดินในพัฒนา รวมถึงความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่า ประเทศไทยจะสามารถพัฒนาเมืองขนาดใหญ่ในรูปแบบ Smart city ได้ไม่อยาก เพราะผู้ประกอบการมีศักยภาพในการพัฒนาอยู่แล้ว” นายชานนท์ กล่าว
Kashiwa-no-ha Smart City
หากจะกล่าวถึงประเทศที่มีการพัฒนาตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ ด้านประชากร ที่สำคัญโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่พัฒนา และบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็คงจะต้องยกให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นแบบอย่างที่มีการพัฒนาที่มีศักยภาพ

“คาชิวา โน ฮา” เมืองต้นแบบ Smart City

นายโคอิจิ คาโตะ ผู้บริหารฝ่ายวางแผนกลุ่มธุรกิจระหว่างประเทศⅡ บริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จำกัด เปิดเผยว่า เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการวิจัย และพัฒนาก้าวล้ำที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก และบริษัทฯ เองก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีมาโดยตลอด โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิต หรือการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้มีประสิทธิภาพตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างดีที่สุด ซึ่งหนึ่งในโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ และทันสมัยที่สุดนั่นก็คือ เมืองต้นแบบด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่บริษัทฯ ได้ดำเนินการ คือ “Kashiwa-no-ha” คาชิวา โน ฮา เมืองชิบะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็น Smart City ต้นแบบ “เมืองอัจฉริยะ” โดยเน้นที่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืนครบวงจร เป็นเมืองที่ถูกออกแบบโดยผ่านการกลั่นกรองอย่างพิถีพิถันทุกรายละเอียด ก่อนที่จะถูกสร้างขึ้นมา และมีคนใช้ชีวิตอยู่จริง โดยเมืองแห่งนี้เกิดจากความร่วมมือของ 3 ภาคส่วน คือ รัฐบาล สถาบันการศึกษา และองค์กรเอกชน ซึ่งในเมือง คาชิวา โน ฮา นี้มีทั้งมหาวิทยาลัย โซนที่พักอาศัย ศูนย์การค้า โรงพยาบาล และแหล่งพลังงาน

เมืองคาชิวา โน ฮา ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 690 ไร่ พื้นที่พัฒนา 3 ล้านตารางเมตร แบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 เฟส เฟสแรก ระยะเวลาในการพัฒนา 10 ปี มูลค่าการลงทุนประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 35,000 ล้านบาท เริ่มพัฒนาเฟสแรกในปี 2548-2557 ระยะเวลา 10 ปี ส่วนเฟส 2 เริ่มในปี 2558-2573 ระยะเวลา 15 ปี ตั้งเป้าประชากรในเมืองประมาณ 26,000 คน มีรถไฟวิ่งผ่านสถานีรถไฟ คาชิวา โน ฮา และทางด่วนซึคูบา ภายในโครงการประกอบด้วย บ้าน คอนโดมิเนียม โรงแรม ร้านค้า สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัยฯ โครงการพัฒนารูปแบบประหยัดพลังงาน ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ภายในโครงการ โดยมีศูนย์ปฏิบัติการด้านการตรวจวัด และควบคุมการใช้พลังงานไฟฟ้าในเขตเมือง ซึ่งช่วยลดการใช้ไฟฟ้าลงจากปกติ 26% หลักเลี่ยงการตัดไฟฟ้าในกรณีฉุกเฉิน
ศูนย์ปฏิบัติการตรวจวัดและควบคุมการใช้พลังงานไฟฟ้าในเขตเมือง
ทั้งนี้ ประเทศได้ไทยหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการยกระดับมาตรฐานการพัฒนาโครงการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างลงตัวที่สุด เนื่องจากเทคโนโลยีมีบทบาทมากในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ใช้ในด้านการทำงาน ช่วยในการเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ รวมไปถึงการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สภาพความเป็นอยู่ของสังคมเมือง มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับเครื่องอำนวยความสะดวกภายในบ้าน เป็นต้น จนเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มนุษย์ขาดไม่ได้ในการดำรงชีวิต

“นวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิต การศึกษาของทุกคนในยุคปัจจุบัน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ทำให้การพัฒนาประเทศดำเนินไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” นายคาโตะ กล่าว

ประกาศตัวเป็นผู้นำ Technology Company

นายชานนท์ กล่าวต่อว่า อนันดาฯ ถือเป็นผู้นำตลาดคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้า ซึ่งบริษัทมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการใช้ชีวิตของคนเมือง หรือ Urban Living Solution โดยประกาศตัวเป็น Technology Company ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยเข้ามาผสมผสานกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น เนื่องจากตระหนักดีว่า เทคโนโลยีมีการพัฒนา และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกด้าน การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ และทุกประเภทของเทคโนโลยี จึงทำให้ต้องสร้าง Solution ใหม่ๆ ที่สามารถเพิ่มมูลค่าที่มากยิ่งขึ้นให้แก่ลูกค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ทันการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิตอล

ดังนั้น อนันดาฯ จึงได้นำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาผสมผสานกับการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในสังคมยุคเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย นอกจากนี้ ยังเป็นผู้สนับสนุนการวิจัยเพื่อเพิ่มความรู้ และวิสัยทัศน์อันดับต้นๆ ที่เปิดโอกาส และให้พื้นที่ทางเทคโนโลยีในประเทศไทย และระดับภูมิภาค เพื่อช่วยส่งเสริมการทำกิจกรรม และส่งเสริมผู้ประกอบการ และเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ โดยการเสริมทัพความแข็งแกร่ง และให้ความสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจ Startup เพื่อการก้าวสู่ผู้นำด้าน Technology & Innovation และพร้อมเปิดโอกาส และให้การสนับสนุนเพื่อรองรับการทำธุรกิจสำหรับคน Generation ใหม่ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ด้านเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อการต่อยอดนวัตกรรมใหม่ที่จะนำมาปรับใช้กับการพัฒนาโครงการของบริษัทต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในการมองหาโอกาสทางธุรกิจที่มากกว่าการสร้างที่อยู่อาศัย เพื่อตอกย้ำความเป็น UrbanTech Startup ที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน จึงพร้อมให้การสนับสนุน และพัฒนา Startup ไทยให้ก้าวสู่ตลาดในระดับสากล โดยล่าสุด อนันดาฯ พร้อมที่จะนำโมเดล Startup ของประเทศญี่ปุ่น มาเป็นแนวทางในการพัฒนา และต่อยอดทางธุรกิจ อาทิ เช่น STAY Japan คือ ONLINE VACATION RENTAL WEBSITE เป็นการให้บริการรับจองห้องพักที่เน้นเฉพาะการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และภูมิภาคต่างๆ ของญี่ปุ่น ในรูปแบบการสัมผัสวิถีชีวิตแบบพื้นบ้านที่แท้จริง ซึ่งเป็นช่องทางหลักสในการจองห้องพักแบบถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ฉีกความจำเจในการเข้าพัก หรือ Imec® Hydro-Membrane (ไอเมค ไฮโดร-เมมเบรน) คือ เทคโนโลยีพื้นฐานของเมนเบรนชิ้นแรกของโลก เพื่อที่จะจัดการปัญหาด้านความปลอดภัยของอาหาร การขาดแคลนน้ำ และที่ดิน ซึ่งเป็นการเกษตรแบบยั่งยืน การผลิตอาหารอย่างมีคุณภาพ และปลอดภัย และถือว่าเป็นระบบที่มีการใช้จ่ายต้นทุนต่ำ และให้ผลตอบแทนสูง ที่ปลูกผัก และทำเกษตร โดยการปลูกพืชแบบไม่ใช่ดิน แต่นำแผ่นพลาสติ (แผ่นฟิล์ม) เป็นตัวช่วยให้รากพื้นได้ยึดเกาะแทนดิน ซึ่งถือว่าเป็นตัวอย่าง STARTUP ที่น่าสนใจ และสามารถนำมาต่อยอดในการพัฒนาให้เหมาะสมกับประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น