xs
xsm
sm
md
lg

ธนาคารโลก ห่วงคนไทย 14 ล้านคน ไม่พ้นภาวะยากจน เสนอรัฐดูแล-อุดหนุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธนาคารโลกห่วงคนไทย 14 ล้านคน ไม่พ้นภาวะยากจน เสนอรัฐดูแล อุดหนุนคนจน โดยเฉพาะเกษตรกรภาคอีสาน เหนือ และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ คาดไทยใช้เวลา 20 ปี จึงจะเป็นประเทศรายได้สูง

นายอูลริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยรายงานเรื่อง “กลับสู่เส้นทาง : ฟื้นฟูการเติบโตและประกันความมั่งคั่งสำหรับทุกคน” ซึ่งเป็นการวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบเล่มแรกของไทย มีการประเมินความท้าทาย และโอกาสของประเทศไทยในการกำจัดความยากจน และกระจายความมั่งคั่งอย่างทั่วถึง ซึ่งในเบื้องต้นธนาคารโลกเชื่อว่า แนวทางในการนำเสนอนี้จะช่วยให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจของไทยกลับมาขับเคลื่อนได้อีกครั้ง

ทั้งนี้ ธนาคารโลกระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง แต่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังได้ชะลอตัวลง โดยในปี 57 ประเทศไทยยังคงมีคนยากจนอยู่ 7.1 ล้านคน และอีก 6.7 ล้านคน มีความเสี่ยงที่จะกลับไปเป็นคนยากจนได้อีก ซึ่งคนจนส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่ช่องว่างระหว่างคนกรุงเทพฯ กับคนชนบทกว้างมากขึ้นทั้งในแง่ของระดับรายได้ครัวเรือน การใช้จ่าย การศึกษา ทักษะ และผลิตภาพ

“การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยชะลอตัวลงเหลือปีละประมาณ 3.3% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา (ปี 48-58) ซึ่งหากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ในระดับนี้ ประเทศไทยต้องใช้เวลาอีก 20 ปี เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศที่มีรายได้สูง” นายอูลริค กล่าว

นอกจากนี้ ปัจจัยหลักที่เคยทำให้ความยากจนลดลงในอดีต กลับไม่ได้ผลลัพธ์เช่นที่ผ่านมา เช่น ราคาสินค้าเกษตรของไทยเคยเพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ส่งผลให้เกษตรกรในอดีตมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ภายในแค่ช่วงเวลา 1 ปี คือ ปี 56-57 ราคาสินค้าเกษตรลดลงถึง 13%, การเติบโตของผลิตภาพแรงงานได้ลดลงจากเดิมที่ 6.8% ในปี 29-39 ลงมาเหลือ 2.6% ในปี 47-57, การส่งออกที่ลดลงเหลือน้อยกว่า 1% ในปี 55-57 จากเดิมที่เคยอยู่ที่ 15% ในปี 29-39 รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา และเวียดนาม ไล่ตามประเทศไทยได้ทันทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา นวัตกรรม ความพร้อมด้านเทคโนโลยี และการดำเนินธุรกิจที่มีความซับซ้อน

อนึ่ง ในช่วงปี 03-39 เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ในระดับ 7.5% แต่อัตราการเติบโตนี้ได้ลดลงเหลือ 3.3% ในช่วงปี 48-58 ซึ่งชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนยังคงดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่ช้าลง และช้ากว่าประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียน

นายอูลริค มองว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่เข้าสู่เส้นทางที่ควรจะเป็นในการยกระดับศักยภาพการเติบโตของประเทศ ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยเติบโตได้มากกว่าในปัจจุบัน และประชาชนสามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้มากขึ้น ประเทศไทยจะต้องเริ่มดำเนินการหลายสิ่งให้ครบสมบูรณ์ ซึ่งในส่วนที่ไทยได้ทำไปนั้น ก็เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ธนาคารโลกได้นำเสนอไป ดังนั้น จึงเชื่อว่าประเทศไทยยังมีโอกาส ซึ่งขึ้นกับรัฐบาลไทย และประชาชนไทย

ขณะเดียวกัน มองว่าการปฏิรูปการศึกษาเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะไม่ว่าประเทศไทยจะมีเป้าหมายสู่ไทยแลนด์ 4.0 หรือเศรษฐกิจดิจิตอลจะต้องให้ประชาชนที่มีทักษะความรู้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะเชื่อว่าไม่มีประเทศใดในโลกที่จะเข้าสู่ประเทศรายได้ระดับสูง โดยไม่ยอมลงทุนด้านการศึกษา

“เราแค่นำเสนอไอเดียจากประสบการณ์ ซึ่งแต่ละประเทศจะต้องไปหาเส้นทางการพัฒนาที่เหมาะสมของตน” นายอูลริค กล่าว

นายลารส์ ซอนเดอร์การ์ด หัวหน้ากลุ่มงานด้านการพัฒนามนุษย์และความยากจน ธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า รายงานฉบับนี้ได้ระบุ 3 แนวทางสำคัญที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้ประเทศไทยได้อย่างทั่วถึง และยั่งยืน ประกอบด้วย แนวทางที่ 1 สร้างงานที่ดีและมีคุณภาพเพิ่มขึ้น โดยการกระตุ้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน, เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผ่านข้อตกลงการค้าเสรี และการลดกฎระเบียบข้อบังคับ, เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการโดยใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่สำคัญ

แนวทางที่ 2 จัดการสนับสนุนให้ตรงเป้าหมายของกลุ่มครัวเรือนในระดับที่ยากจนสุด เช่น การพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ และเพิ่มทักษะของกำลังแรงงาน, ดำเนินนโยบายที่มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร, สร้างระบบความคุ้มครอบทางสังคมที่ฉลาด และมุ่งเน้นการให้ความคุ้มครองแก่คนยากจน

แนวทางที่ 3 ส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจัดการแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการส่งเสริมการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ และสะอาด ส่วนแนวทางสุดท้ายที่สำคัญนอกเหนือไปจาก 3 แนวทางที่กล่าวมาแล้ว คือ ต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่องค์กรภาครัฐ เพื่อดำเนินการตามลำดับความสำคัญในการปฏิรูป
กำลังโหลดความคิดเห็น