xs
xsm
sm
md
lg

SME Bank อัดฉีดสินเชื่อแฟกตอริ่งเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการอีก 7 พันล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


SME Bank อัดฉีดสินเชื่อแฟกตอริ่งเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการอีก 7 พันล้านบาท ชูอัตรา ดบ.ต่ำสุดในระบบ 3.99% โดยเฉพาะในไตรมาสแรก ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนจำนวนมาก

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) เปิดเผยว่า คณะกรรมการธนาคารได้พิจารณาอนุมัติสินเชื่อแฟกตอริ่ง 2 มาตรการ ในวงเงินรวม 7,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยอัตราพิเศษที่เริ่มต้นเพียง 3.99% ต่อปี ซึ่งถือเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำสุดในระบบ เพื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจให้แก่ SMEs ทั่วประเทศ ช่วยให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล

โดยเฉพาะในไตรมาสแรกนี้ที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนจำนวนมากภายหลังการส่งสินค้าให้คู่ค้าทั้งในเทศกาลปีใหม่ และตรุษจีนที่ผ่านมา ซึ่งหากผู้ประกอบการนำเอกสารใบแจ้งหนี้มาเปลี่ยนเป็นเงินสดจากบริการดังกล่าว จะช่วยเหลือ SMEs ในสภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มกำลังฟื้นตัวให้ต่อยอดธุรกิจได้เติบโตรวดเร็วยิ่งขึ้น

สำหรับ 2 มาตรการ แบ่งเป็น 1.มาตรการเร่งเบิกจ่ายแฟกตอริ่งทั่วไทยในวันเดียว ดอกเบี้ยต่ำเพียง 3.99% ต่อปี สำหรับลูกค้าที่ลูกหนี้การค้าเป็นหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยของรัฐ ราชการส่วนท้องถิ่น องค์การมหาชน หรือบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือตลาดหลักทรัพย์ mai

2.มาตรการเร่งเบิกจ่ายแฟกตอริ่งคู่ค้าเอกชน ดอกเบี้ย 4.99% ต่อปี สำหรับลูกค้าที่มีลูกหนี้การค้าเป็นหน่วยงานเอกชน ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจขายปลีก-ส่ง อุปโภค บริโภคต่างๆ เป็นต้น โดยการให้บริการดังกล่าวจะสิ้นสุดภายใน 31 ธ.ค.2560

นายมงคล กล่าวว่า การอนุมัติสินเชื่อสินเชื่อแฟกตอริ่ง เป็นผลมาจากกระแสตอบรับสินเชื่อมาตรการเร่งเบิกจ่ายแฟกตอริ่งทั่วไทยในวันเดียว และมาตรการเร่งเบิกจ่ายแฟกตอริ่งคู่ค้าเอกชนมีผู้ประกอบการ SMEs ภายหลังการเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อเดือน ก.ย.2559 ที่ผ่านมา ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพียง 3.99% ต่อปี มียอดการใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสูงสุดในช่วงเดือน ธ.ค.2559 เพิ่มขึ้นถึง 45% เปรียบเทียบจากเดือน ธ.ค.2558 โดยเพียง 4 เดือน (ก.ย-ธ.ค.59) รวมเป็นจำนวนเงิน 1,591 ล้านบาท สูงกว่าปี 2558 จำนวน 9%

ทั้งนี้ สินเชื่อแฟกตอริ่งของ ธพว.จะรับซื้อลูกหนี้ทางการค้าหลังส่งมอบสินค้า และบริการแล้ว (Post Shipment) สูงสุดไม่เกิน 90% ของมูลหนี้ทางการค้า โดยลูกหนี้การค้าแต่ละรายการมีมูลค่างานตั้งแต่ 1 หมื่นบาทขึ้นไป สูงสุดรายละไม่เกิน 15 ล้านบาท เพียงนำเอกสารการแจ้งหนี้ของลูกหนี้การค้าที่ผ่านขบวนการวางบิลเรียบร้อยแล้วมาติดต่อขอใช้บริการแฟกตอริ่ง เพื่อเปลี่ยนเอกสารการแจ้งหนี้เป็นเงินสดกับธนาคาร โดยไม่ต้องรอครบกำหนดเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้การค้า จึงทำให้กิจการมีเงินทุนหมุนเวียนการทำธุรกิจอย่างคล่องตัว ไม่ติดขัด โดยไม่มีปัญหาด้านเงินทุน และยังเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น