xs
xsm
sm
md
lg

“คลัง” ยันเอ็นพีแอลแบงก์พุ่งสวนภาวะ ศก. ไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คลัง” ยันเอ็นพีแอลแบงก์พุ่งสวนภาวะ ศก. ไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วง ถือว่าเป็นวัฏจักรปกติของธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว เชื่อปลายปีลดลงได้แน่นนอน ส่วนกรณีรถเมล์เอ็นจีวีเถื่อน คงต้องรอพิสูจน์แหล่งต้นกำเนิดสินค้าจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ มีการรายงานถึงระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของระบบธนาคารพาณิชย์ว่าเพิ่มขึ้นสวนกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจขณะนี้ โดยระบุว่า ขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่เอ็นพีแอลที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยถือว่าเป็นวัฏจักรปกติของธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว ที่เอ็นพีแอลมักจะมีช่วงเวลาการเกิดขึ้นเหลื่อมล้ำกว่าสภาพเศรษฐกิจประมาณ 5-6 เดือนถึง 1 ปี และการที่เศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้น เอ็นพีแอลก็จะทยอยปรับตัวลง และลดลงในช่วงปลายปีตามสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้น ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องการให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างเต็มที่ เพราะจะช่วยแก้ไขปัญหาหลายเรื่องทั้งปัญหาเอ็นพีแอล ความเหลื่อมล้ำต่างๆ เป็นต้น

ส่วนประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นเป็นร้อยละ 3.6 ซึ่งประมาณการปรับเพิ่มขึ้น หลังจากรัฐบาลจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มประจำปีงบประมาณ 2560 กว่า 190,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลต้องการเห็นเศรษฐกิจเติบโตตามศักยภาพของประเทศ คือ เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 4 ต่อปี แต่ทั้งหมดอยู่ที่ภาคเอกชนคิดว่า เศรษฐกิจฟื้นแล้วจะลงทุนหรือไม่ ซึ่งการที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินว่า การลงทุนภาคเอกชนปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 2.7 ถือว่าเป็นระดับที่เพิ่มขึ้นน้อยมาก เพราะปีที่เศรษฐกิจไทยบูมมากๆ อัตราการขยายตัวการลงทุนของภาคเอกชนเคยสูงถึงร้อยละ 18-20

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนมีปัจจัยที่พิจารณาตัดสินใจที่จะลงทุนหรือไม่เป็นของตัวเอง แต่ละอุตสาหกรรมมองต่างกัน หลายอุตสาหกรรมระบุว่า จะมีการขยายการลงทุน แต่บางอุตสาหกรรมยังไม่มีการลงทุน มุมมองแตกต่างกันออกไป แต่ทั้งหมดที่รัฐบาลพยายามย้ำ คือ การลงทุนของภาคเอกชนไม่เพียงขยายกำลังการผลิตเท่านั้น ต้องพิจารณา และคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันด้วย โดยจะต้องลงทุนเพื่อปรับระดับความสามารถในการแข่งขันด้วย

นายอภิศักดิ์ กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า กระทรวงการคลังออกหนังสือเรียกให้กองทุนส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการนำเงินสภาพคล่องส่วนเกิน ส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ โดยมองว่า ก่อนที่กระทรวงการคลังจะออกหนังสือเรียกให้กองทุนหมุนเวียนต่างๆ ส่งเงินเข้าคลังเพื่อเป็นรายได้นั้น ทางกระทรวงการคลังร่วมหารือกับคณะกรรมการกองทุนมาก่อนแล้ว และกระทรวงการคลังดำเนินการลักษณะนี้กับหลายกองทุนหนุนเวียนที่มีสภาพคล่องส่วนเกิน ไม่ใช่เรียกส่งเงินคืนเฉพาะกองทุนส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเท่านั้น

ทั้งนี้ ปกติทุกกองทุนหมุนเวียนจะต้องกำหนดวงเงินสูงสุดที่จำเป็นจะต้องใช้ โดยคณะกรรมการ แต่ละกองทุนจะพิจารณาวงเงินที่จะต้องใช้จากความจำเป็น และการใช้เงินในอดีตที่ผ่านมา หากกองทุนใดยังมีความจำเป็นต้องใช้เงิน ก็จะไม่มีการดำเนินการเรียกให้นำส่งเงินเข้าคลัง แต่ถ้าหากกองทุนใดมีเงินเหลือ และใช้ไม่ครบก็จะออกหนังสือเรียกให้กองทุนนำเงินสภาพคล่องส่วนเกินส่งเป็นรายได้เข้าคลัง เพื่อพิจารณานำใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ต่อไป แทนที่จะเก็บไว้ที่กองทุนแล้วนำไปฝากธนาคาร ซึ่งกระทรวงการคลังไม่ต้องการเห็นภาพดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากกองทุนหมุนเวียนต่างๆ เมื่อนำส่งเงินเข้าเป็นรายได้เข้าคลังแล้ว เงินไม่พอใช้ก็สามารถขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มจากกระทรวงการคลังได้ในภายหลัง ดังนั้น เงินที่เรียกคืนไม่ได้หายไปไหน

ส่วนกรณีกลุ่มคนพิการไปร้องศาลปกครองให้ระงับคำสั่งของกระทรวงการคลังที่เรียกให้กองทุนส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการส่งเงินสภาพคล่องส่วนเกินเข้าคลังนั้น ทางกระทรวงการคลังยืนยันว่า ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนการฟ้องร้องต่อศาลก็สามารถดำเนินการได้ตามสิทธิ

นายอภิศักดิ์ กล่าวถึงกรณีการนำเข้ารถเมล์เอ็นจีวี ของบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เพื่อที่จะนำไปส่งมอบให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งกรมศุลกากรตรวจสอบการนำเข้าล็อตแรกที่ขนส่งมาทางเรือพบว่า เป็นเรือขนส่งมาจากประเทศมาเลเซีย และบริษัทผู้นำเข้ายื่นใบขนสินค้ากับกรมศุลกากร โดยนำใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) ที่ระบุว่า เป็นรถเมล์ที่ประกอบในมาเลเซีย ร้อยละ 40 เพื่อขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีนำเข้าตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนนั้น แต่กรมศุลกากรเชื่อว่า ไม่ถูกต้อง จึงมีการทักท้วง

ส่วนการนำเข้าชิปเมนต์อื่นๆ บริษัทผู้นำเข้าสำแดงว่า เรือมาจากประเทศมาเลเซีย กรมศุลกากรก็ออกให้ตามปกติไม่ได้มีอะไร ซึ่งบริษัทนำรถยนต์ออกไปแล้วกว่า 300 คัน การจะให้กรมศุลกากรยืนยันแหล่งกำเนิดสินค้าไม่ใช่หน้าที่ของกรมศุลกากร จึงไม่สามารถทำได้
กำลังโหลดความคิดเห็น