xs
xsm
sm
md
lg

ประเมินกลุ่มธุรกิจสื่อสารปี 2560 โตร้อยละ 4.6 รับเทรนดิจิทัล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
คาดตลาดโทรคมนาคมไร้สายปี 2560 โตเฉลี่ยร้อยละ 4.6 ด้วยแรงหนุนจากการให้บริการสื่อสารข้อมูล ขณะที่เน้นสร้างรายได้เสริมจากธุรกิจบันเทิงออนไลน์ และโซลูชันทางด้านไอที

ในช่วงราว 4 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนผ่านจากระบบ 2G สู่ 3G และในปีนี้ที่มีการเริ่มเปิดให้บริการ 4G ตลาดโทรคมนาคมแบบไร้สายของไทยโดยภาพรวมมีการขยายตัวโดยเฉลี่ยอยู่เพียงร้อยละ 2.9 ต่อปี (CAGR ตั้งแต่ปี 2556-2559) ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับในอดีต หรือในช่วงก่อนมีการเปิดให้บริการ 3G ที่มีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยสูงมากกว่าร้อยละ 10 ต่อปี นั่นเป็นเพราะรายได้จากการให้บริการเสียง (Voice) หดตัวลงเป็นอย่างมากจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคไทยที่นิยมติดต่อสื่อสารกันด้วยสื่อสังคมออนไลน์อย่างไลน์ และเฟซบุ๊กกันมากขึ้น โดยหดตัวลงราวร้อยละ 29.8 ต่อปี (CAGR ตั้งแต่ปี 2556-2559)

การเติบโตของตลาดโทรคมนาคมแบบไร้สายของไทยในปัจจุบันได้อาศัยแรงหนุนมาจากรายได้การให้บริการสื่อสารข้อมูล (Data) เป็นหลัก อันเนื่องมาจากผู้บริโภคไทยมีความต้องการเข้าใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมทางการเงิน การเข้าใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อติดตามข่าวสาร หรือติดต่อสื่อสารกับกลุ่มเพื่อน รวมถึงการใช้บริการบันเทิงออนไลน์ต่างๆ โดยเฉพาะในรูปแบบวิดีโอออนดีมานด์ ทำให้มีความต้องการใช้โมบาย บรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต ผ่านโครงข่าย 3G/4G เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านความเร็ว และปริมาณ จึงส่งผลให้ตลาดการให้บริการสื่อสารข้อมูลเติบโตสูงโดยเฉลี่ยราวร้อยละ 17.8 ต่อปี (CAGR ตั้งแต่ปี 2556-2559)

ในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดโทรคมนาคมแบบไร้สายของไทยในปี 2560 น่าจะยังมีการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2559 โดยน่าจะมีมูลค่าตลาดโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 232,937-237,160 ล้านบาท ขยายตัวในกรอบแคบราวร้อยละ 3.6-5.5 จากปี 2559 ที่คาดว่าจะขยายตัวราวร้อยละ 5.1 โดยได้รับปัจจัยผลักดันหลักจากตลาดการให้บริการสื่อสารข้อมูลที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การขยายตัวของตลาดการให้บริการสื่อสารข้อมูลในปี 2560 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า น่าจะมาจากแรงหนุนหลัก 3 ประการ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ประการแรก กระแสความนิยมในการเข้าใช้โมบาย บรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต ผ่านโครงข่าย 3G/4G ทุกที่ ทุกเวลาในหมู่ผู้บริโภคไทยตามที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเป็นแนวโน้มต่อเนื่องมาจากปี 2559 โดยเฉพาะความนิยมในการเข้าใช้ 3G/4G เพื่อความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมออนไลน์ ฟังเพลงออนไลน์ ดูทีวีออนไลน์ หรือดูหนัง หรือซีรีส์ต่างประเทศออนไลน์ ผ่านโมบาย แอปพลิเคชัน หรือสื่อสังคมออนไลน์อย่างยูทูป เป็นต้น ซึ่งการใช้บริการบันเทิงออนไลน์ (Online Entertainment) ดังกล่าว จำเป็นต้องใช้การสื่อสารข้อมูลในปริมาณมาก

ประการที่สอง การใช้กลยุทธ์ทางการตลาดอย่างเข้มข้นของกลุ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคมแบบไร้สายภายใต้สภาวะการแข่งขันที่รุนแรง เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการข้อมูลเพิ่มมากขึ้น โดยอาจมีการนำเสนอแพกเกจการใช้บริการข้อมูลในรูปแบบที่หลากหลายด้วยราคาที่คุ้มค่า เช่น การนำเสนอแพกเกจการใช้งานสื่อสารข้อมูลในปริมาณมากด้วยราคาที่สูงขึ้นจากเดิมเพียงเล็กน้อยแก่ลูกค้ารายเดิม และในส่วนลูกค้ารายใหม่ทั้งที่เปิดเบอร์ใหม่ หรือย้ายค่าย ผู้ประกอบการอาจให้ส่วนลดพิเศษสำหรับแพกเกจบริการสื่อสารข้อมูลในปริมาณมาก เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด และเพิ่มรายได้จากฐานลูกค้าใหม่ ซึ่งอาจส่งผลให้มีการใช้งานบริการสื่อสารข้อมูลที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เป็นต้น

ประการที่สาม ธุรกิจเกิดใหม่อย่างธุรกิจดิจิทัลเทคสตาร์ทอัป (Digital Tech-Startup) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจบนแพลตฟอร์มต่างๆ ในโลกออนไลน์ ได้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 น่าจะมีกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ให้ความสนใจ และเข้ามาดำเนินธุรกิจในตลาดเพิ่มขึ้น โดยมีการคิดค้นโมเดลทางธุรกิจ ตลอดจนรูปแบบสินค้าและบริการใหม่ๆ ที่หลากหลายบนโลกออนไลน์ ขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วนที่เริ่มเข้ามาดำเนินธุรกิจบ้างแล้วในปี 2559 ก็น่าจะมีการดำเนินธุรกิจกันอย่างจริงจังในปี 2560 เช่นกัน ทั้งนี้ หากโมเดลธุรกิจดิจิทัลเทคสตาร์ทอัปดังกล่าว สามารถตอบโจทย์ความต้องการ หรือสามารถตอบสนองการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคยุคใหม่ได้ ก็น่าจะส่งผลให้เกิดการใช้งานโมบาย บรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอนาคต

จากปัจจัยผลักดันการใช้งานโมบาย บรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ตตามที่กล่าวมาข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดการให้บริการสื่อสารข้อมูลของไทยในปี 2560 น่าจะมีมูลค่าสูงถึง 153,894-157,633 ล้านบาท เติบโตราวร้อยละ 16.7-19.6 ชะลอตัวลงจากปี 2559 ที่คาดว่าจะเติบโตราวร้อยละ 21.6 ขณะที่มูลค่าตลาดด้านการให้บริการเสียงในปี 2560 นั้น คาดว่าน่าจะมีมูลค่าประมาณ 78,558-79,527 ล้านบาท หดตัวราวร้อยละ 14.5-15.5 ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากปี 2559 ที่คาดว่าจะหดตัวประมาณร้อยละ 11.8 เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่นิยมติดต่อสื่อสาร หรือพูดคุยผ่านสื่อสังคมออนไลน์กันมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่ามูลค่าตลาดการให้บริการสื่อสารข้อมูลในไทยจะยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากความต้องการใช้งานเป็นจำนวนมาก แต่จะเห็นได้ว่า เป็นการเติบโตในอัตราที่ลดลง นั่นเป็นเพราะสภาพการแข่งขันที่เข้มข้นในตลาดโทรคมนาคมแบบไร้สายที่ผู้ประกอบการแต่ละรายพยายามแย่งชิง หรือรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนไว้ โดยออกแพกเกจหลากหลายเพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้าให้หันมาใช้บริการของตนมากขึ้น ส่งผลให้อัตราค่าบริการสื่อสารข้อมูลถูกลง นำมาซึ่งรายได้ต่อเมกะไบต์ของกลุ่มผู้ประกอบการลดลงตามไปด้วย ในขณะที่ผู้บริโภคยังมีการใช้บริการข้อมูลในปริมาณมาก จึงยังคงรักษารายได้ของการให้บริการสื่อสารข้อมูลให้เติบโตอยู่ได้ โดยปัจจุบัน อัตราค่าบริการสื่อสารข้อมูลโดยเฉลี่ยมีมูลค่าอยู่เพียง 0.11 บาทต่อเมกะไบต์ 1 ลดลงจากปลายปี 2558 ถึงร้อยละ 57.7

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคมแบบไร้สายอาจจำเป็นต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการลงทุนขยายโครงข่าย 4G อย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2560 ผู้บริโภคไทยจะมีการใช้งานโมบาย บรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต ผ่านโครงข่าย 3G/4G ประมาณ 2.9 กิกะไบต์ต่อคนต่อเดือน ซึ่งเป็นการใช้งานที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 37.0 จากปี 2559 อย่างไรก็ตาม การใช้งานโมบาย บรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต ที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ได้รับแรงผลักดันมาจากกลุ่มผู้ใช้งานเดิมเป็นหลัก ขณะที่จำนวนผู้ใช้งานรายใหม่กลับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากในปี 2559 ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายรายใหม่ที่มีศักยภาพ และมีความต้องการใช้โมบาย บรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต ได้รับแรงผลักดันจากการแข่งขันของกลุ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคมแบบไร้สายที่พยายามดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวให้หันมาใช้งานโมบาย บรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต ผ่านโครงข่าย 3G/4G เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลให้จำนวนผู้ใช้งานรายใหม่เพิ่มขึ้นไม่มากนักในระยะข้างหน้า

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการโทรคมนาคมแบบไร้สายแต่ละรายอาจต้องมีการเตรียมเงินทุนสำหรับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz ที่น่าจะมีการเปิดประมูลภายในปี 2560 เพิ่มเติม เพื่อชิงความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบไร้สาย ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ทิศทางธุรกิจโทรคมนาคมแบบไร้สายโดยภาพรวมในระยะข้างหน้า น่าจะมีการแข่งขันที่ทวีความเข้มข้นสูงขึ้น โดยอาจทำให้รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยรวมขยายตัวได้เพียงเล็กน้อย ในขณะที่ผู้ประกอบการกลับมีต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งจากค่าใช้จ่ายสำหรับการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ใหม่ รวมถึงการลงทุนขยายโครงข่าย 4G ที่เพิ่มมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า ในปี 2560 กลุ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคมแบบไร้สายของไทยน่าจะมีแนวโน้มที่จะแสวงหาโอกาสทางธุรกิจอื่นๆ มาเสริมร่วมกับการให้บริการสื่อสารข้อมูลอย่างเข้มข้นมากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้จากแหล่งธุรกิจอื่น และชดเชยรายได้จากการให้บริการเสียงที่ลดลงเป็นอย่างมาก ผู้ประกอบการโทรคมนาคมแบบไร้สาย เน้นเพิ่มรายได้เสริมจากการให้บริการบันเทิงออนไลน์ และโซลูชันทางด้านไอที

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการโทรคมนาคมแบบไร้สายได้แสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจการให้บริการบันเทิงออนไลน์ (Online Entertainment) นับว่าเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่กลุ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคมแบบไร้สายได้ให้ความสนใจลงทุน เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตสูง เพราะกิจกรรมบันเทิงต่างๆ บนโลกออนไลน์เป็นกิจกรรมพื้นฐานที่ผู้บริโภคไทยนิยมเข้าใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกลุ่มคนในเมือง และกลุ่มคนรุ่นใหม่

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2560 ธุรกิจให้บริการบันเทิงออนไลน์น่าจะยังเป็นธุรกิจที่กลุ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคมแบบไร้สายมุ่งเน้นให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องต่อจากปี 2559 โดยคาดว่า ผู้ประกอบการอาจทำการตลาดการให้บริการบันเทิงออนไลน์ร่วมกับการให้บริการสื่อสารข้อมูลผ่านโครงข่าย 3G/4G อย่างเข้มข้นมากขึ้น นอกจากนี้ ยังคาดว่ากลุ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคมแบบไร้สายในไทย น่าจะมีแนวโน้มร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ หรือร่วมทุนกับกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นผู้ให้บริการบันเทิงออนไลน์ทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศมากขึ้น เพื่อสร้างทางเลือกที่หลากหลายแก่ผู้บริโภค และจูงใจให้ผู้บริโภคมีการใช้บริการสื่อสารข้อมูลเพิ่มขึ้นในที่สุด โดยผู้ประกอบการอาจมีการนำเสนอแพกเกจการใช้บริการบันเทิงออนไลน์ผ่านโมบาย แอปพลิเคชันที่เป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคไทย พ่วงกับแพกเกจของการใช้บริการสื่อสารข้อมูลผ่านโครงข่าย 3G/4G เพื่อยกระดับการทำการตลาด และสร้างบริการที่คุ้มค่าแก่ผู้บริโภคมากขึ้น เช่น การนำเสนอแพกเกจรายสัปดาห์สำหรับดูภาพยนตร์ต่างประเทศผ่านแอปพลิเคชันชื่อดัง โดยผู้บริโภคสามารถเลือกดูภาพยนตร์แบบไม่จำกัดค่าย และจำนวน และยังสามารถเลือกดูภาพยนตร์โดยไม่เสียโควตาของแพกเกจสื่อสารข้อมูล 3G/4G เป็นจำนวน 2 เรื่องต่อสัปดาห์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กลุ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคมแบบไร้สายในไทยน่าจะมีการบูรณาการการให้บริการโมบาย บรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต ผ่านโครงข่าย 3G/4G ร่วมกับการให้บริการบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต แบบมีสายผ่านโครงข่ายไฟเบอร์ออปติก เพื่อรองรับการให้บริการในรูปแบบอื่นๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการให้บริการระบบบริหารจัดการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโซลูชันทางด้านไอที (IT Solution) บนคลาวด์คอมพิวติ้ง ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการเครือข่าย หรือศูนย์จัดเก็บข้อมูล หรือที่เรียกว่าการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ (Infrastructure as a Service : IaaS) และการให้บริการพัฒนาซอฟต์แวร์ทางอินเทอร์เน็ต (Software as a Service : SaaS) อย่างซอฟต์แวร์สำหรับการบริหารจัดการสินค้าคงคลังออนไลน์ หรือซอฟต์แวร์สำหรับการจัดการระบบบัญชีออนไลน์ เป็นต้น เนื่องจากเป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจต่างๆ ในยุคดิจิทัล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่า ผู้ประกอบการโทรคมนาคมแบบไร้สายในไทยน่าจะมีแนวโน้มหาพันธมิตรในด้านการสร้างสรรค์ไอเดียทางธุรกิจใหม่ๆ อย่างธุรกิจดิจิทัลเทคสตาร์ทอัปเพิ่มขึ้น เพื่อขยายกรอบการดำเนินธุรกิจให้กว้างขึ้น โดยทำการคิดค้นโมเดลธุรกิจใหม่ๆ บนโลกออนไลน์ เพื่อให้สามารถนำเสนอรูปแบบการให้บริการอื่นที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคโดยทั่วไปได้เป็นอย่างดี และในขณะเดียวกัน ก็สามารถนำเสนอบริการระบบซอฟต์แวร์ หรือโซลูชันทางด้านไอทีต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ต่อความต้องการใช้งานของกลุ่มภาคธุรกิจในยุคการแข่งขันที่รุนแรง ยกตัวอย่างเช่น การร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มผู้ประกอบการที่พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการให้บริการจัดการคลังสินค้าและขนส่งสินค้าให้แก่ผู้ค้าปลีก หรือผู้ค้าส่งออนไลน์ หรือการร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการที่ให้บริการพัฒนาแพลตฟอร์ม หรือระบบซอฟต์แวร์เพื่อการบริหารจัดการองค์กรทางออนไลน์ เป็นต้น

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการโทรคมนาคมสามารถนำไอเดียใหม่ๆ มาพัฒนาเป็นโมเดลธุรกิจการให้บริการในรูปแบบที่แปลกใหม่บนโลกออนไลน์ โดยเป็นการให้บริการผ่านโครงข่ายบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต ทั้งแบบมีสาย และไร้สายร่วมกัน เช่น ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจโดยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านโครงข่าย 3G/4G ขณะที่ผู้ประกอบการเองก็สามารถใช้บรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต แบบมีสายเป็นหลักในการบริหารจัดการรับส่งข้อมูลเชิงธุรกิจอยู่เบื้องหลัง เป็นต้น ก็น่าจะทำให้การให้บริการเหล่านั้นมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่า นอกเหนือจากรายได้ที่จะได้รับเพิ่มขึ้นจากการพัฒนารูปแบบการให้บริการทางออนไลน์ในกลุ่มธุรกิจใหม่ตามที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ประกอบการโทรคมนาคมก็น่าจะได้รับรายได้จากการให้บริการสื่อสารข้อมูลเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต เนื่องจากมีความต้องการใช้บรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ตในปริมาณมาก และในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่า การมาของยุค IoT (Internet of Things) ซึ่งเป็นยุคที่อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวันสามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกัน และถูกควบคุมการปฏิบัติการด้วยระบบเซ็นเซอร์ และระบบอินเทอร์เน็ต อาจส่งผลให้การใช้บริการสื่อสารข้อมูลผ่านโครงข่ายบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้นอีกมากในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น