xs
xsm
sm
md
lg

เอ็นอีพี อสังหาริมทรัพย์ เตรียมเทิร์นอะราวนด์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“เอ็นอีพี อสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรม” เดินหน้าแผนธุรกิจใหม่มุ่งสู่การเทิร์นอะราวนด์ ล่าสุด ผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติเพิ่มทุนไม่เกิน 965.52 ล้านหุ้น สัดส่วน 3 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ราคาหุ้นละ 0.45 บาท พ่วงแจกวอร์แรนต์ฟรี ในอัตรา 2 หุ้นเพิ่มทุนต่อ 1 วอร์แรนต์ กำหนดจองซื้อระหว่างวันที่ 26-30 กันยายน 2559 หวังนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปขยายธุรกิจ “โครงการบรรจุภัณฑ์กราเวียร์” ที่ให้มาร์จิ้นสูงกว่า 20% เปิดแผนธุรกิจพร้อมเดินเครื่องผลิตต้นปี 2560 มั่นใจโชว์ผลงานพลิกกำไรไม่นานเกินรอ พร้อมแผนล้างขาดทุนสะสมเกลี้ยง

พลเอก วรพันธ์ วรศักดิ์โยธิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นอีพี อสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ NEP เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2559 วันที่ 2 กันยายน 2559 ได้มีมติอนุมัติให้จัดสรรหุ้นเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 965.52 ล้านหุ้น ให้กับผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 3 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ราคาหุ้นละ 0.45 บาท วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ได้รับสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนวันที่ 12 กันยายน 2559 กำหนดวันจองซื้อระหว่างวันที่ 26-30 กันยายน 2559

รวมถึงอนุมัติหุ้นเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 482.76 ล้านหุ้น ใช้รองรับใบสำคัญแสดงสิทธิการซื้อหุ้น (วอร์แรนต์) ที่จะออกใหม่จำนวนไม่เกิน 482.76 ล้านหน่วย ให้ฟรีกับผู้ถือหุ้นเดิมที่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนใหม่ในอัตรา 2 หุ้นเพิ่มทุนต่อ 1 วอร์แรนต์ โดยวอร์แรนต์มีอายุ 3 ปี มีอัตราการใช้สิทธิ 1 วอร์แรนต์ ต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 0.55 บาท ขณะที่หุ้นเพิ่มทุนส่วนที่เหลือจำนวน 30 ล้านหุ้น ใช้รองรับการปรับสิทธิใบสำคัญแสดงสิทธิครั้งที่ 2

สำหรับการระดมทุนด้วยการขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ ถ้ามีผู้ใช้สิทธิเต็มจำนวนบริษัทจะได้รับเงินเข้ามาประมาณ 434 ล้านบาท เพื่อนำไปขยายโครงการลงทุนต่างๆ เพื่อผลักดันธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต ได้แก่ “โครงการบรรจุภัณฑ์กราเวียร์” ซึ่งเป็นสินค้าประเภทบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน (Flexible Packaging) ที่ใช้ได้กับหลายอุตสาหกรรม เช่น อาหารสำเร็จรูป ข้าวสาร ขนมขบเคี้ยว และของใช้ประจำวันทั่วไป เป็นต้น ซึ่งเป็น

โครงการที่ให้อัตรากำไรขั้นต้น (มาร์จิ้น) สูงถึง 20-25% จากธุรกิจเดิมที่ 10% อีกทั้งยังมีขนาดตลาดที่ใหญ่กว่ากระสอบพลาสติกหลายเท่าตัว ซึ่งบริษัทเตรียมลงทุนจัดซื้อเครื่องจักรใหม่ เพื่อเพิ่มสายการผลิต ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์กราเวียร์ แบ่งเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรก จะเริ่มติดตั้งในช่วงไตรมาส 4/2559 และคาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) พร้อมรับรู้รายได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 ขณะที่เฟส 2 จะเริ่มติดตั้งในช่วงไตรมาส 4/2560 และเริ่ม COD เพื่อรับรู้รายได้ในไตรมาส 2/2561 เป็นต้นไป

พลเอก วรพันธ์ฯ กล่าวเสริมว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ เพื่อยกระดับธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต และสร้างผลตอบแทนที่ดีต่อกลุ่มผู้ถือหุ้น ซึ่งการที่กลุ่มผู้ถือหุ้นอนุมัติการเพิ่มทุนเพื่อขยายธุรกิจในครั้งนี้ นับเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้บริษัทสามารถเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างไม่สะดุด ดังนั้น มั่นใจว่าหากเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ บริษัทจะเริ่มสร้างผลกำไรอย่างสม่ำเสมอนับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อตัวธุรกิจหลักเริ่มมีความมั่นคงแล้ว เป้าหมายในอนาคตก็จะต้องวางแผนล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่ทั้งหมด และกลับมาจ่ายปันผลคืนให้กลุ่มผู้ถือหุ้นตามนโยบายที่ 50% ของกำไรสุทธิได้ในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น