xs
xsm
sm
md
lg

MBKET แนะซื้อ ADVANC แม้ระยะ 2 ปีนี้จะปลอดกำไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักวิเคราะห์เผยผลประกอบการไตรมาส 4/58 ของ ADVANC จะมีรายได้แตะ 10,500 ล้านบาท หลังตัดกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนออกแล้ว หรือเพิ่มขึ้น +21.1% เทียบระหว่างไตรมาส และ +15.9% เทียบกับปีก่อนหน้า ชี้ปี 2559-2560 รายได้จะลดลง -16.6% และ -7.7% จากค่าใช้จ่ายเงินประมูลคลื่น 4G และการขยายฐานโครงข่าย

นายศุภชัย วัฒนวิเทศกุล นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ MBKET กล่าวในบทวิเคราะห์การลงทุนว่า ประมาณการกำไรสุทธิในไตรมาส 4/58 ของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 11,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น +25.3% เทียบระหว่างไตรมาสเดียวกัน และเพิ่มขึ้น +18.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งมีแนวโน้มสูงกว่าจากที่ได้ประเมินไว้ อีกทั้งคาดไว้ว่าผลประกอบการที่จะปรับตัวบวกเพิ่มขึ้นถึง +8.9%/+8.7% ตามลำดับ (หากตัดกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนออก) โดยกำไรปกติคาดว่าจะอยู่ที่ 10,500 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น +21.1% เทียบระหว่างไตรมาสเดียวกัน และ +15.9% เทียบกับปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ กำไรในไตรมาสที่ 4/58 ที่เติบโตดีขึ้นนั้นเนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากต้นทุนที่ลดลงเนื่องจากค่าเสื่อม 2G ที่หมดไป และต้นทุนค่าใช้จ่ายในการกำกับดูแลที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากค่าบริการโครงข่ายการสื่อสาร หรือ service revenue ex. IC ที่ทรงตัวเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านั้นเป็นสิ่งที่ต้องจับตามอง โดยเมย์แบงก์ได้ปรับประมาณการรายได้ของ ADVANC ปี 2559-2560 คาดว่าจะลดลง -16.6% และ -7.7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เพื่อให้สะท้อนต้นทุนกับ TOT ที่มีแนวโน้มมากกว่าคาด แต่คงคำแนะนำซื้อ ADVANC ที่ราคาเหมาะสม 210 บาท (DCF)

อย่างไรก็ดี ADVANC เตรียมที่จะจ่ายปันผลงวดครึ่งหลังปี 2015 ในอัตรา 6.49 บาท/หุ้น โดยจะประกาศขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 31 มีนาคมนี้

แต่ถึงกระนั้นหากไตรมาส 4/58 กำไรปกติตามคาดไว้ กำไรปกติที่แข็งแกร่งหนุนโดยต้นทุนที่ลดลงทำให้รายได้จากค่าบริการโครงข่ายการสื่อสาร service revenue ex. IC อาจจะติดลบ -0.2% เทียบระหว่างไตรมาส และ -0.5% เทียบกับปีช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยคาดว่าจะอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับรายได้ช่วง 9 เดือนของปี 2558 ที่โต 3.2% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสาเหตุหลักมาจากการเสียส่วนแบ่งการตลาดให้ TRUE เช่นเดียวกับธุรกิจขายเครื่องมือถือที่เติบโตลดลง -0.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ในด้านต้นทุน กลยุทธ์การอุดหนุนค่าเครื่องเพื่อลดสัดส่วนเครื่อง 2G ในฐานลูกค้ายังเดินหน้าต่อ แต่กำไรขั้นต้นของการขายเครื่องติดลบลดลงเพียง -0.7% (เนื่องจากมีกำไรจากการขาย iPhone มาช่วย) ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขาย และบริหารยังคงขึ้นต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น +11.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ดี ค่าเสื่อมราคาที่ลดลง -29% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าจากค่าเสื่อม 2G ที่หมดไป และค่าใช้จ่ายในการกำกับดูแลที่ลดลงต่อเนื่อง -31% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าช่วยหนุนให้กำไรเติบโต (สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการกำกับดูแล และค่าบริการโครงข่ายการสื่อสารลดลงมาอยู่ที่ 8.9%) ทำให้กำไรทั้งปี 2558 เติบโต +8.7% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ความเสี่ยงจากการพลาดคลื่น 900 MHz ลดลงเรื่อยๆ ตามคาด

ทั้งนี้ จากการที่ ADVANC ย้ายลูกค้าได้แล้วกว่า 1.6 ล้านเลขหมาย และมีลูกค้าที่รับใบจองแล้ว รอเครื่องภายใน 2-3 สัปดาห์ อีก 1 ล้านเลขหมาย (รวมย้ายได้แล้วประมาณ 1 ใน 4) ตัวเลขน่าจะเร่งตัวมากขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ หากสุดท้ายย้ายไม่ทัน ADVANC จะทำการ Roaming ลูกค้าที่เหลือไปบนโครงข่าย 2G ของ DTAC เพื่อรักษาบริการในด้านโครงข่าย ซึ่ง ADVANC ตั้งใจลงทุนเพิ่มในโครงข่ายกว่า 33,000 ล้านบาท โดยจะจัดสรรงบประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มเสา 3G ในต่างจังหวัด รองรับการพลาด 900 MHz สำหรับคลื่น 2100 MHz กับ TOT ยังอยู่ในขั้นตอนของการจัดทำเอกสารให้เสร็จสมบูรณ์เช่นเดิม ซึ่งคาดจะเกิดขึ้นได้ทันครึ่งแรกของปี 2559 ซึ่งหากได้มาจะช่วยเพิ่มปริมาณสำรองระยะยาว หากมีประมูล 900 MHz ใหม่ (JAS ไม่จ่าย ซึ่ง MBKET ยังให้น้ำหนักน้อย) โดยหาก ADVANC จะเข้าร่วมประมูล หรือไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขจาก กสทช.
กำลังโหลดความคิดเห็น