xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ ชี้จีดีพีอาจโตต่ำกว่า 2.3% -จีนลดค่าหยวนช่วยส่งออกไม่มาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กสิกรฯ เผยจีดีพีปีนี้มีโอกาสโตต่ำกว่ากรอบล่างที่คาดไว้ 2.3% รอสภาพัฒน์ประกาศตัวเลขไตรมาส 2 ก่อนทบทวน ส่วนจีนลดค่าเงินหยวนจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ส่วนผลกระทบต่อไทยยังคงไม่มากนัก คาดจีนยังคงนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นไม่มาก เหตุสต็อกสินค้ายังสูง

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)กล่าวว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ อาจจะต่ำกว่ากรอบล่างที่ธนาคารประเมินไว้ที่ 2.3% จากความเสี่ยงทางด้านการส่งออกที่หดตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในระดับลดลง 1.7% โดยจะรอการประกาศตัวเลขจีดีพีจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ในวันที่ 17 สิงหาคมนี้ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาในการทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้ง

รวมทั้ง ธนาคารได้ปรับค่าเฉลี่ยเงินบาทปีนี้อ่อนค่าลงเป็น 35.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลมาจากการคาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้

คาดจีนลดค่าหยวนช่วยส่งออกไทยไม่มาก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินกรณี ธนาคารกลางจีน (PBOC) ปรับลดค่าเงินหยวน โดยดำเนินการผ่านการปรับวิธีการกำหนดค่ากลางอ้างอิงเงินหยวน/ดอลลาร์สหรัฐ (PBOC Midpoint หรือ Central parity rate) ให้การเสนอราคาของ market maker ในแต่ละวัน สอดคล้องกับระดับปิดตลาดของเงินหยวนในวันทำการก่อนหน้ามากขึ้น ทั้งนี้ ค่ากลางอ้างอิงเงินหยวนที่ PBOC ประกาศในช่วงเช้าวันที่ 11 ส.ค. 2558 อยู่ที่ 6.2298 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 ปี และอ่อนค่าลงประมาณ 1.82% (มากที่สุดนับตั้งแต่ทางการจีนเริ่มมีการกำหนดค่ากลางอ้างอิงเงินหยวน) จากค่ากลางอ้างอิงที่ 6.1162 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ในวันทำการก่อนหน้านั้น

การดำเนินการดังกล่าว เป็นผลมาจากความเสี่ยงในการชะลอตัวต่อเนื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายๆ ด้านของจีน กดดันให้ทางการจีนจำเป็นต้องใช้ “ค่าเงินหยวน” มาเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการดูแลภาคการส่งออก และลดแรงกดดันต่อภาคธุรกิจจีน เพิ่มเติมไปจากที่ได้ดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ย สัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) และการเพิ่มสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงินแบบเฉพาะเจาะจง ตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2557 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลจากการปรับลดค่าเงินหยวนในรอบนี้ ยังคงไม่สามารถเปลี่ยนภาพความสามารถทางการแข่งขันของเงินหยวนในปีนี้ได้มากนัก เพราะการลดค่าเงินหยวนแบบฉับพลันในวันนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดแรงขายสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียตามไปด้วย (เงินริงกิตและเงินรูเปียห์แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 17 ปี เงินดอลลาร์สิงคโปร์ และเงินเปโซฟิลิปปินส์แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี และเงินวอนอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 3 ปี) โดยในส่วนของเงินบาทนั้น ร่วงลงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 6 ปีครั้งใหม่ที่ 35.375 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ เหตุการณ์ของเงินหยวนในวันนี้ก็เกิดขึ้นภายหลังจากที่สกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียเผชิญแรงกดดันไปแล้วตลอดช่วงหลายเดือนก่อนหน้า ท่ามกลางกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed โดยเฉพาะเงินริงกิตมาเลเซีย เงินรูเปียห์อินโดนีเซีย และเงินบาท ที่ถูกกดดันเพิ่มเติมจากภาคการส่งออกที่หดตัวลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก (นอกเหนือไปจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจโลก) ขณะที่เงินริงกิตก็มีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากปัญหาการเมืองในประเทศด้วย

โดยหากเทียบกับระดับสิ้นปี 2557 แล้ว เงินหยวนอ่อนค่าประมาณ 1.9% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งยังคงน้อยกว่าสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย อาทิ เงินริงกิตมาเลเซียที่อ่อนค่า 11.7% เงินรูเปียห์อินโดนีเซียที่อ่อนค่า 8.9% รวมถึงเงินวอนเกาหลีใต้ และเงินบาทที่อ่อนค่าประมาณ 7.0% (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ส.ค. 2558)

สำหรับผลกระทบต่อไทยนั้น มองว่า เงินหยวนที่ถูกปรับให้อ่อนค่าลงนั้น น่าจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะมีผลกระทบต่อสถานการณ์การท่องเที่ยว และการส่งออกระหว่างไทย-จีน เนื่องจากเงินหยวนและเงินบาทต่างก็อ่อนค่าไปพร้อมกัน (ซึ่งส่งผลทำให้โดยสุทธิแล้ว เงินหยวนในวันนี้ อ่อนค่าลงประมาณ 1.3% เมื่อเทียบกับเงินบาท ขณะที่ภาพรวมการเคลื่อนไหวนับจากต้นปี 2558 เงินหยวนก็ยังคงแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินบาทอยู่ประมาณ 5.2%) ดังนั้น ปัจจัยเรื่องค่าเงินเพียงอย่างเดียวอาจจะยังไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวจีน

ขณะที่ สถานการณ์การค้าระหว่างไทย-จีนนั้น มองว่า การหดตัวของการส่งออกสินค้าไทยไปจีน น่าจะมีสาเหตุสำคัญมาจากเรื่องราคาสินค้าส่งออกในหลายๆ หมวดที่ไทยส่งออกไปจีนได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงของราคาน้ำมัน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก รวมถึงสต็อกสินค้าของจีนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการจีนยังคงชะลอการนำเข้าจากไทย มากกว่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน/เงินบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น