xs
xsm
sm
md
lg

สินเชื่อบุคคล ออกหัว หรือก้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย ชาลอต โทณวณิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

แนวความคิดที่จะเข้ามาควบคุมสินเชื่อบุคคลทั้งของธนาคารพาณิชย์ และของ non-bank ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการพูดถึงมาพักใหญ่ๆ แล้ว ซึ่ง ธปท.เอง ก็ได้มาให้ข่าวว่า คงจะใกล้คลอดเร็วๆ นี้ ก็คือประมาณเดือนเมษายน

ซึ่งก็คาดเดากันว่า คงจะมีการออกมาตรการมาควบคุมหลายด้าน อันได้แก่ อัตราดอกเบี้ยสูงสุด ซึ่งเดากัน หรือมีสัญญาณ ที่ 24% แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าใน 24%นั้น จะรวมค่าธรรมเนียมทั้งหลายทั้งปวง เหมือนเช่นการควบคุมดอกเบี้ยบัตรเครดิตหรือไม่

ในปัจจุบันนี้ อัตราดอกเบี้ยสูงสุดของสินเชื่อประเภทสินเชื่อบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ที่เรียกกันว่า un-secured loan ซึ่งไม่นับรวมบัตรเครดิตนั้น จะอยู่ที่ประมาณ 40 กว่า % ต่อปี

นอกจากอัตราดอกเบี้ยแล้ว คงจะมาดูเรื่องวงเงินกู้ ว่าเป็นกี่เท่าของรายได้ เพราะแต่เดิม ไม่เคยมีกำหนดเป็นมาตรฐานตายตัว แล้วแต่ว่า แต่ละธนาคาร หรือแต่ละบริษัท จะรับความเสี่ยงกันมากน้อยเพียงใด

ที่เสนอกันในปัจจุบัน คือประมาณ 3-5 เท่าของรายได้ ความจริงแล้ว การดูความสามารถในการชำระหนี้ อาจจะดูได้อีกลักษณะหนึ่ง แต่จะค่อนข้างยากต่อการตรวจสอบ ว่าผู้ให้สินเชื่อได้ปฏิบัติตามกฎกติกาแค่ไหน

ก็คือการกำหนดยอดผ่อนชำระต่อรายได้ เช่น ต้องไม่เกิน 20% หรือ 30% ของรายได้ แต่ปัญหาก็คือ การที่จะนับว่ายอดผ่อนเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้นั้น ก็ยังมีวิธีการที่ซับซ้อนอีก คือการที่จะนับรายได้นั้น นับเป็นรายได้รวม (gross income) หรือรายได้สุทธิหลังหักรายการต่างๆ (net income)

ซึ่งรายการที่เกี่ยวข้อง ก็จะมี ภาษีเงินได้และภาระหนี้สินต่างๆ โดยหากจะถามว่า ภาระหนี้สินจะรู้ได้อย่างไร หลักๆ ก็คือ การตรวจสอบเครดิตบูโร ที่ไม่ใช่เป็นการตรวจสอบเฉพาะ black list หรือผู้มีประวัติเป็นหนี้มีปัญหาเท่านั้น แต่จะสามารถทราบได้ ว่าผู้ยื่นกู้ มีภาระหนี้สินอะไรบ้าง เช่น บัตรเครดิตกี่ใบ แต่ละใบมีหลักการจ่ายชำระอย่างไร เช่น จ่ายขั้นต่ำ 5% (ตามกฎเกณฑ์เดิมที่จะมีผลเปลี่ยนเป็น 10% ในปี 2550) หรือ 10% (ตามกฎเกณฑ์ใหม่) หรือจ่ายชำระคืนทั้งหมด

จากความซับซ้อนในการตรวจสอบ หรือการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ คาดว่า ธปท.คงจะออกกฎมากว้างๆ คือจำนวนเท่าของรายได้ที่พิสูจน์ได้

คราวนี้ คงมาดูคำว่ารายได้ที่พิสูจน์ได้อีก ว่าหมายความว่าอะไร เพราะสำหรับคนที่ทำงานกินเงินเดือนนั้น ไม่มีปัญหาในการพิสูจน์ เพราะจะมีทั้งใบจ่ายเงินเดือน (pay-slip) และในปัจจุบัน บริษัทต่างๆ ก็เลิกที่จะจ่ายเงินเดือนแบบนั่งนับเงินสดใส่ซองกันแล้ว

ก็จะนำเงินเดือนเข้าบัญชีธนาคารกันเป็นส่วนใหญ่ ก็จะสามารถตรวจสอบจากบัญชีธนาคารได้ด้วย แต่หากเป็นผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือพวกที่ทำงานแบบมีรายได้ไม่แน่นอน เช่น พวกรับคอมมิชชั่น ธปท. อาจจะนำเอากฎเดียวกับบัตรเครดิตมาใช้ คือการดูวิเคราะห์การเคลื่อนไหวในบัญชีธนาคาร 6 เดือนย้อนหลัง

ข้อกำหนดอีกประการหนึ่ง คงเป็นรายได้ขั้นต่ำ ว่าควรจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งในปัจจุบัน รายได้ต่ำสุดที่มีการให้สินเชื่อ (ในระบบ) กัน ก็จะอยู่ประมาณ 5,000 บาท ซึ่งก็คาดเดากับมีแย้มๆ ออกมา ว่าน่าจะอยู่ที่ 8,000 บาท หากเป็นเช่นนั้น กลุ่มผู้มีรายได้ 5,000 บาท ถึง 8,000 บาท ก็คงจะหายไปเป็นจำนวนหลักล้านคน

ที่ยังไม่รู้จะหายไปไหน คืออาจจะทำให้คนเหล่านั้นมีวินัยมากขึ้น คือเงินเดือนไม่ถึง ก็ยังไม่สร้างหนี้ หรืออาจจะออกไปกู้นอกระบบ หากจำเป็น ก็เป็นการย้อนยุคดีเหมือนกัน เพราะแต่เดิม ที่สินเชื่อบุคคลยังไม่แพร่หลาย ประชาชนก็กู้นอกระบบกันอยู่แล้ว พอมีสินเชื่อบุคคล กู้ได้ง่ายขึ้น ก็เข้ามาในระบบกันมากขึ้น พอถูกตัดตอน ก็ออกไปกู้นอกระบบกันใหม่

เขียนมาถึงตรงนี้แล้ว ก็คงจะขอนำตารางเปรียบเทียบการคาดเดา ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับสินเชื่อบุคคล โดยอิงหลักการของบัตรเครดิตเป็นหลัก ดังนี้

กฎเกณฑ์บัตรเครดิตคาดเดากฎเกณฑ์สินเชื่อบุคคล
อัตราดอกเบี้ยสูงสุด
รวมค่าธรรมเนียมต่างๆ18%24%
รายได้ขั้นต่ำ15,000 บาท8,000 บาท
วงเงิน5 เท่าต่อสถาบันการเงิน หรือบริษัท3 - 5 เท่า (เดาไม่ถูกค่ะ)
การผ่อนชำระขั้นต่ำ 5%- 10% ของยอดค้างชำระแต่ละงวดน่าจะคุมที่จำนวนปีในการให้กู้ โดยในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3–5 ปี เพราะจะมีผลต่อการผ่อนชำระรายเดือน
การพิจารณาต่ออายุวงเงินปีต่อปีให้กู้ครั้งเดียว ไม่มีการทบทวนวงเงินอีก และให้ผ่อนชำระไปจนครบกำหนด
ข้อยกเว้น-อาจจะยกเว้นหลักการที่เป็นการให้กู้แบบสวัสดิการพนักงาน

การควบคุมสินเชื่อบุคคล น่าจะละเอียดอ่อนกว่าบัตรเครดิต เพราะจะมีทั้งการกู้แบบอเนกประสงค์ คือการให้เงินกู้ออกไปกับผู้กู้ทั้งก้อน หรือการกู้เพื่อซื้อสินค้า ซึ่งจะมีการซื้อสินค้าจริงๆ โดยผู้ให้กู้จ่ายเงินไปยังผู้ขายสินค้า

ซึ่งหากมีการครอบคลุมถึงเรื่องนี้ ก็จะทำให้ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคหดตัวลงได้ เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การให้สินเชื่อเพื่อซื้อสินค้า ทำให้ยอดขายสินค้าเติบโตขึ้นมาก โดยเฉพาะพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ

ที่ว่า “จิตใจมนุษย์นั้นยากแท้หยั่งถึง” การคาดเดากฎเกณฑ์ของ ธปท. ก็ยากแท้พอๆ กัน ส่วนจะออกหัวหรือออกก้อยนั้น คงจะต้องรอดูกัน หากท่านผู้อ่านนึกสนุก ก็สามารถเก็บตารางข้างต้น เพื่อตรวจสอบกับของจริง ว่าดิฉันเดาถูกมากน้อยแค่ไหน ก็ได้นะคะ แต่ไม่ทราบว่า ถ้าเดาถูกมาก จะมีรางวัลจากท่านผู้อ่าน หรือจะมีใครมาบอกว่า “ถูกต้องคร๊าบ” หรือเปล่า

หมายเหตุ: ได้มีผู้อ่านสอบถามเรื่องการหักค่าลดหย่อนภาษีลูกกตัญญูมาหลายท่าน ซึ่งดิฉันได้ตอบโดยตรงไป เพราะเกรงจะไม่ทันกำหนดยื่นแบบชำระภาษีอากร

สนใจสอบถามข้อมูลสามารถส่งมาได้ที่ dcharlotte@krungsri.com หรือ หมายเลขโทรสาร 02-683-1604
กำลังโหลดความคิดเห็น