xs
xsm
sm
md
lg

คำถามเรื่องค่าลดหย่อนภาษีสำหรับลูกกตัญญู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย ชาลอต โทณวณิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ในครั้งที่แล้ว ได้มีการเล่าถึงการหักค่าลดหย่อนภาษีที่ทางกรมสรรพากรได้มีการเพิ่มเติมสำหรับผู้เสียภาษีของปี 2547 เป็นค่าลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ที่ให้การเลี้ยงดูบุพการี หรือที่เรียกกันเล่นๆ ว่าค่าลดหย่อนภาษีลูกกตัญญู

ซึ่งภายหลังจาก “หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ” ได้ตีพิมพ์ ก็มีผู้อ่านได้ถามคำถามเข้ามามาก แสดงว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจ ดิฉันจึงขอนำคำถามบางคำถาม ที่คิดว่าจะใช้ได้กับผู้อ่านส่วนใหญ่มาตอบในวันนี้นะคะ

1.หากบิดามารดาเป็นคนต่างด้าว โดยมีแต่หนังสือประจำตัวคนต่างด้าว และหมายเลขประจำตัวคนต่างด้าว กรณีเช่นนี้ บุตรสามารถนำมาหักค่าลดหย่อนได้หรือไม่

คำตอบตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 136 ข้อ 2 ผู้มีเงินได้ ต้องระบุเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของบิดามารดา ที่ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

ดังนั้น กรณีบุพการีไม่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน บุตรที่เลี้ยงดูบุพการีไม่สามารถนำบุพการีมาหักลดหย่อนได้ อย่างไรก็ตาม กรณีที่บุคคลต่างด้าวมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ให้สังเกตเลขประจำตัวประชาชนที่ระบุไว้ในทะเบียนบ้าน และให้ระบุเลขดังกล่าว ในแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูได้

2.กรณีที่บิดาหรือมารดาที่ป่วย โดยไม่สามารถลงนามในใบรับรองได้ จะสามารถหักค่าลดหย่อนภาษีสำหรับผู้เลี้ยงดูบุพการีได้หรือไม่

คำตอบกรณีบิดามารดาไม่สามารถลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองการอุปการะเลี้ยงดู ให้ใช้ความทางประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ (มาตรา 9) คือการพิมพ์ลายนิ้วมือ และมีพยานลงลายมือชื่อไว้ด้วย 2 คนเป็นพยาน ก็ถือเสมอกับการลงลายมือชื่อ แต่ทั้งนี้ บิดาและมารดา ต้องเต็มใจที่จะพิมพ์ลายนิ้วมือ

3.กรณีที่คู่สามีภรรยาอยู่กินกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส จะสามารถใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนสำหรับบุพการีของคู่สมรสได้หรือไม่ และหากคู่สามีภรรยานั้นมีบุตรด้วยกัน จะสามารถใช้การรับรองบุตร เพื่อนำมาใช้สิทธิดังกล่าวได้หรือไม่

คำตอบ คู่สมรสที่ไม่จดทะเบียน จะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนของบุพการีของคู่สมรสได้ ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานในการมีบุตรร่วมกัน

มีท่านผู้อ่านหลายท่านที่อยากจะได้ตารางคำนวณภาษีเงินได้ ซึ่งดิฉันขอแนะนำให้เข้าใน website ของกรมสรรพากร คือ www.rd.go.th เพราะจะมีข้อมูลค่อนข้างละเอียด และยังมีตารางทดลองการคำนวณภาษีให้ด้วย

มาถึง ณ ที่นี้ ดิฉันขอสรุปถึงวิธีการยื่นชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนี้
1.ชำระที่สำนักงานพื้นที่ของกรมสรรพากร
2.ชำระผ่านสาขาของธนาคารพาณิชย์

3.ชำระผ่านตู้ ATM ของธนาคารพาณิชย์ (บางแห่ง)
4.ชำระผ่าน internet ที่ website ของกรมสรรพากร www.rd.go.th

คอลัมน์ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ให้กับกรมสรรพากรแล้วกันนะคะ เพราะภาษีอากรของเรา ก็จะช่วยสร้างความเจริญให้กับประเทศชาติที่รักของเรา

ขอขอบคุณ บริษัท สำนักกฎหมายสากล ธีรคุปต์ จำกัด สำหรับข้อมูลประกอบการเขียนบทความ

สนใจสอบถามข้อมูลสามารถส่งมาได้ที่ dcharlotte@krungsri.com หรือ หมายเลขโทรสาร 02-683-1604
กำลังโหลดความคิดเห็น