xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ระบุการขยายตัวของสินเชื่อขณะนี้ยังไม่น่าห่วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุสินเชื่อที่ขยายตัวในระดับร้อยละ 6-7 ยังไม่ร้อนแรงจนน่าเป็นห่วง เผยขณะนี้สถาบันการเงินรายงานตัวเลขการปล่อยกู้โครงการอสังหาริมทรัพย์เกิน 100 ล้านบาทแล้ว มีจำนวนกว่า 100 ราย ขณะที่ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สิ้นเดือนเมษายนอยู่ที่ร้อยละ 11.94 ลดลงจากสิ้นไตรมาสแรก

นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากออกมาตรการให้สถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ปล่อยกู้เกิน 100 ล้านบาท มาให้ ธปท.รับทราบนั้น ขณะนี้สถาบันการเงินได้รายงานตัวเลขการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวมายัง ธปท.แล้ว โดยมีทั้งหมดกว่า 100 ราย ซึ่งการที่ ธปท. ให้สถาบันการเงินรายงานข้อมูลการปล่อยกู้ในโครงการใหญ่ ๆ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินและต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม เหมือนดั่งเช่นวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ผ่านมา

“การกำกับดูแลส่วนของสินเชื่อโครงการเกิน 100 ล้านบาท ธปท.ได้บอกสถาบันการเงินว่าถ้าจะปล่อยกู้ก็สามารถทำได้ แต่แบงก์จะต้องพิจารณาความเสี่ยงเอง ธปท.คงจะไม่ไปบอกว่าอย่าปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการอสังหาริมทรัพย์ เพราะผู้ปล่อยกู้ซึ่งเป็นสถาบันการเงินจะต้องพิจารณาความเสี่ยงเอง หากคิดว่าเป็นโครงการที่ปล่อยแล้วไม่น่าจะเสียหายก็สามารถทำได้” รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากการรายงานข้อมูลการปล่อยสินเชื่อโครงการที่มีวงเงินเกิน 100 ล้านบาทนั้น มีบางรายที่ ธปท.ได้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องของมูลค่าหลักประกันให้แบงก์อธิบายว่าทำไมจึงตั้งหลักประกันเท่านี้ รวมทั้งวิธีการประเมินมูลค่าหลักประกันต้องมีเหตุผลที่น่าเชื่อถือและอธิบายได้ หากไม่น่าเชื่อถือก็ต้องประเมินมูลค่าหลักประกันใหม่

นางธาริษา กล่าวว่า สำหรับการขยายตัวของสินเชื่อในขณะนี้ที่โตในระดับร้อยละ 6-7 ไม่ถือว่าเป็นการขยายตัวที่ร้อนแรงแต่อย่างใด เมื่อเทียบกับการขยายตัวของสินเชื่อในอดีตที่ผ่านมาที่ขยายตัวมากร้อยละ 10-20 ซึ่งในส่วนของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ไม่รวมในส่วนของสินเชื่อบุคคลมีสัดส่วนแค่ร้อยละ 14-15 เท่านั้น เมื่อเทียบกับพอร์ตสินเชื่อทั้งระบบ

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ธปท.เห็นว่าแนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อในขณะนี้ยังไม่ร้อนแรงจนน่าเป็นห่วงอย่างที่หลายฝ่ายวิตก ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไรนั้น คงไม่สามารถให้คำตอบได้ ทั้งนี้ คงต้องดูผลประกอบการ การขยายตัวของสินเชื่อและส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก (สเปรด) ของแต่ละธนาคารว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานด้วย

รายงานข่าวจากฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยยอดหนี้เอ็นพีแอลของระบบสถาบันการเงิน ณ สิ้นเดือนเมษายน 2547 ว่ามีเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 617,598 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.94 ของสินเชื่อรวม โดยเป็นเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์เอกชน 473,477 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.86 ธนาคารพาณิชย์ของรัฐ 95,901 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.50 ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ 25,239 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.61 บริษัทเงินทุน 22,510 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.41 บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 469 ล้านบาท หรือร้อยละ 36.33

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับยอดเอ็นพีแอล ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีนี้ สถาบันการเงินมียอดหนี้เอ็นพีแอลทั้งสิ้น 618,190.94 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.05 ของสินเชื่อรวม โดยเป็นเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์เอกชน 473,477.70 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.86 ธนาคารพาณิชย์ของรัฐ 95,901.21 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.50 ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ 25,239.59 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.30 บริษัทเงินทุน 23,103.44 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.36 และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 469 ล้านบาท หรือร้อยละ 38.42 ทั้งนี้ การปรับลดลงของเอ็นพีแอล เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ทำให้การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ทำได้ง่ายขึ้น และเป็นการโอนหนี้ไปยังบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) และบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการการเงิน แต่การลดลงของเอ็นพีแอลถือว่ายังลดลงไม่มากนักตามที่ ธปท.ต้องการให้เอ็นพีแอลอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 10
กำลังโหลดความคิดเห็น