xs
xsm
sm
md
lg

"ขอร์ทดิน" มีแค่สีแดงที่ไหนกัน / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

โรล็อง การโร้ส (Roland Garros) หรือ เฟร้นช์ โอเพิ่น 2019 (2019 French Open) การแข่งขันเท็นนิสบนขอร์ทดิน (Clay court) ระดับ แกรนด์ สแลม รายการที่ 2 ของปี ซึ่งคนฝรั่งเศสนิยมเรียกชื่อรายการว่า โรล็อง การโร้ส ตามชื่อสนามที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของ กรุงปารี ประเทศฝรั่งเศส มากกว่า ปีนี้ นับเป็นครั้งที่ 123 แข่งขันระหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม ถึง 9 มิถุนายนนี้ ถือว่าเป็นสนามที่มีลักษณะพิเศษ ใครไม่คุ้นเคยเชี่ยวชาญจริงๆก็ยากที่จะพิชิตคู่แข่งกรุยทางไปถึงแช้มพ์ได้ วันนี้ ผมจะเล่าให้ฟังว่า ขอร์ทดิน มีที่มาอย่างไรครับ

สนามเท็นนิสในปัจจุบันมีสภาพแตกต่างกัน 4 แบบ คือ ขอร์ทหญ้า (Grass court) มีทั้งหญ้าแท้ หญ้าเทียม ขอร์ทดิน (Clay court) นี่ก็มีดินสีแดง สีฟ้า สีเขียว ขอร์ทปูน (Hard court) ทำด้วยค็อนกรีต หรือแอ๊สฟัลท์ และฉาบด้วย อครีลิค และ ขอร์ทพรม (Carpet court) ที่มักจะเป็นสนามกีฬาในร่ม นักเท็นนิสอาชีพต้องมีโอกาสได้เล่นในสนามครบทุกสภาพอย่างแน่นอน แต่ที่จัดว่ายากจริงๆก็คือ ขอร์ทดิน นี่แหละ ขนาด โรเจ้อร์ เฟเดอเรอร์ (Roger Federer) สุดยอดนักเท็นนิสของโลก ชาวสวิส วัย 37 ปี แช้มพ์ แกรนด์ สแลม 20 รายการ มากกว่าใคร ไล่เก็บแช้มพ์ แกรนด์ สแลม บนขอร์ทอื่นๆมาได้มากมาย แต่เมื่อเจอขอร์ทดินของ โรล็อง การโร้ส นี้เขาต้องใช้ความพยายามกว่า 10 ปี จึงจะคว้าแช้มพ์ได้ในที่สุดในปี 2009 และก็เป็นเพียงหนเดียวในชีวิตเท่านั้น

แม้ว่า ขอร์ทดิน จะเป็นแบบฉบับของ ฝรั่งเศส แต่คนที่คิดขอร์ทแบบนี้ขึ้นมาคนแรกนั้นกลับเป็นคนอังกฤษคือ วิลเลี่ยม เร็นชอว์ (William Renshaw) อดีตนักเท็นนิสมือ 1 ของโลกในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งครองแช้มพ์ วิมเบิลเดิ้น (Wimbledon) ถึง 7 สมัย ระหว่างปี 1881-1886 และ 1889

ในยุคนั้น รายการใหญ่ระดับ แกรนด์ สแลม มีแค่ วิมเบิลเดิ้น กับ ยูเอ๊ส โอเพิ่น (US Open) เท่านั้น ซึ่งนักเท็นนิสสมัยก่อนไม่ค่อยนิยมเดินทางไปแข่งขันไกลๆ วิลเลี่ยม จึงคุ้นเคยแค่ขอร์ทหญ้า โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน วิลเลี่ยม จะเข้าร่วมการแข่งขันใน ประเทศอังกฤษ และ อายร์แลนด์ แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูหนาวก็จะไปแข่งขันในแถบ เฟร้นช์ รีวิเอร่า ซึ่งที่นั่น เขาจะขลุกตัวที่ กานน์ (Cannes) เมืองที่จัดเทศกาลภาพยนตร์ของ ฝรั่งเศส ขึ้นทุกๆปี เมืองนี้คนไทยมักออกเสียงผิดเป็น คาน นั่นแหละครับ เขาฝึกซ้อมเท็นนิสร่วมกับ เออร์เน้สท์ (Ernest) น้องชายฝาแฝดในขอร์ทส่วนตัวที่ทั้งสองร่วมกันออกทุนสร้างขึ้นเอง

สภาพภูมิอากาศแถบเมดีเตอร์เรเนี่ยนนั้น มีทั้งแสงแดงและความร้อน ประกอบกับต้องถูกเหยียบย่ำตลอดเวลา ทำให้หญ้าในขอร์ทที่ 2 พี่น้องใช้ฝึกซ้อมนั้นตายเร็วทีเดียว เขาจึงเกิดความคิดนำเอาดินเผาบดที่ได้จากโรงงานใน วัลโลริส (Vallauris) เมืองที่อยู่ติดกันซึ่งมีโรงงานผลิตพวกเซรามิคอยู่มากมาโรยที่พื้นผิว

ในยุคแรกๆ พื้นผิวสนามยังไม่สมบูรณ์ซะทีเดียว ไม่เรียบด้วย ทำให้ลูกบอลเด้งผิดทิศผิดทางไปบ้าง แต่ ขอร์ทดิน ที่เห็นในปัจจุบันได้ผ่านการพัฒนาปรับปรุงเรื่อยมาตามกาลเวลา และไม่ใช้ดินแท้ๆ เนื่องจากเวลามีน้ำเฉอะแฉะ กว่าจะแห้งต้องใช้เวลาร่วม 2-3 วัน การก่อสร้างจะทำเป็นหลายชั้น มีทั้งชั้นหินขนาดใหญ่ ชั้นกรวด ชั้นกากโรงงานอุตสาหกรรม ชั้นหินปูน และดินอัด แม้ว่าค่าก่อสร้างจะไม่สูงเท่ากับขอร์ทแบบอื่นๆ แต่ต้องใช้เงินมากกว่าในการดูแลรักษา ต้องใช้ลูกกลิ้งไถพื้นผิวให้อัดแน่นและเรียบอยู่เสมอ

ขอร์ทดิน เป็นที่นิยมใช้ในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะ สีแดง มีคุณสมบัติไม่ดูดซับน้ำง่ายๆ ลูกบอลจะกระดอนบนขอร์ทดินได้สูงและช้ากว่าบนขอร์ทชนิดอื่น พอถึงปี 2012 เกิดการปฏิวัติวงการขอร์ทดิน โดย สเปน ใช้ ขอร์ทดิน สีฟ้า (Blue clay court) ในการแข่งขัน มาดริด โอเพิ่น (2012 Mutua Madrid Open) เป็นครั้งแรก ซึ่งอย่างน้อยก็มีผลดีต่อการมองเห็นลูกเท็นนิสที่เปลี่ยนจากสีขาวมาเป็นสีเหลืองนับตั้งแต่ปี 1972 ได้อย่างชัดเจนกว่า แต่นักเท็นนิสกลับไม่ชอบ พวกเขาบ่นว่าพื้นผิวลื่นและคุณภาพยังไม่ดี

นอกจากนั้นที่ สหรัฐอเมริกา ยังมีการใช้ ขอร์ทดิน อีกสีหนึ่งคือ สีเขียว เรียกว่า รูบีโก (Rubico) หรือ ฮาร์-ทรู ( Har-Tru ) หรือบางครั้งก็เรียก อเมริกัน เคลย์ ( American clay ) ซึ่งพื้นผิวจะมีคุณสมบัติแข็งกว่า บอลกระดอนเร็วกว่าครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น