xs
xsm
sm
md
lg

สโมสรในยุโรปก็ยังรับเงินอีกอื้อ / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เมื่อสัปดาห์ก่อน สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ได้แจกแจงตัวเลขเงินชดเชยที่จัดให้สโมสรต่างๆที่มีนักเตะในสังกัดไปรับใช้ทีมชาติในศึกฟุตบอลโลก 2018 ที่ รัสเซีย เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งแน่นอนว่า สโมสรในทวีปยุโรปย่อมได้รับเงินก้อนใหญ่ที่มีขนาดแตกต่างกันมากเมื่อเปรียบเทียบกับสโมสรจากทวีปอื่นๆ

นักเตะ 736 คนที่เข้าร่วมการแข่งขัน รัสเซีย 2018 นั้นมาจากสโมสรต่างๆทั่วโลกรวม 416 สโมสร ซึ่งนอกจากเงินรางวัลที่ทีมแช้มพ์ได้รับ 38 ล้าน ยูเอ๊ส ดอลเล่อร์ส รองแช้มพ์ 28 ล้าน และทีมอันดับอื่นๆลดหลั่นกันไปตามผลงาน โดยทีมที่ตกรอบแรกอย่างน้อยก็ได้รับไปทีมละ 8 ล้าน รวมเงินรางวัลทั้งสิ้น 400 ล้าน ยูเอ๊ส ดอลเล่อร์ส ฟีฟ่า ยังจัดเงินชดเชยให้สโมสรต่างๆอีกรวม 209 ล้าน อันนี้ หลายคนบ่นว่า ช่างน้อยนิดเหลือเกิน เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ที่ ฟีฟ่า ได้รับในวงรอบปี 2015-18 เป็นจำนวนถึง 6.1 พันล้าน ยูเอ๊ส ดอลเล่อร์ส

การคำนวณว่า ควรจะชดเชยให้สโมสรใดเป็นเงินจำนวนเท่าใดนั้นก็อาศัยหลักง่ายๆไม่สลับซับซ้อนอะไร นั่นคือใช้ตัวเลขที่ได้จาก จำนวนนักเตะ กับ จำนวนนาที มาคูณกันได้เป็นตัวเลขฐานของแต่ละสโมสร ซึ่งสโมสรที่มีนักเตะรับใช้ชาติมากที่สุดติด 10 อันดับแรกนั้นก็ยังเป็นสโมสรในทวีปยุโรปทั้งหมด นำโดย เชลซี มี 19 คน แมนเช้สเต้อร์ ซิตี้ 19 คน เรอัล มาดริด 18 คน

แต่เมื่อนำมาคำนวณกับจำนวนนาทีที่ลงเล่นแล้ว แมนเช้สเต้อร์ ซิตี้ นำโด่งขึ้นเป็นแช้มพ์รายได้จากเงินชดเชยในฐานะที่สโมสรมีนักเตะรับใช้ชาติใน ฟุตบอลโลก โดยได้รับเงินเป็นจำนวน 5 ล้าน ยูเอ๊ส ดอลเล่อร์ส ตามมาด้วย เรอัล มาดริด 4.8 ล้าน ท้อทแน่ม ฮ้อทสเปอร์ 4.4 ล้าน บารเซโลน่า 4.1 ล้าน ปารี แซ็ง แชรแม็ง 3.9 ล้าน ส่วน เชลซี เมื่อคำนวณเวลาที่นักเตะของตนลงเล่นแล้ว อันดับร่วงลงมาเยอะ เพราะได้รับเงินชดเชยรวม 3.8 ล้าน เท่านั้น

แมนเช้สเตอร์ ยูนายเถ็ด ตามมาอันดับ 7 ได้รับเงินชดเชย 3.7 ล้าน ต่อด้วย อั๊ตเลติโก มาดริด 3.1 ล้าน ยูเว็นตุส 3 ล้าน และอันดับ 10 โมนาโก 2.9 ล้าน ถัดไปเป็น บาแยร์น มึนเชิ่น 2.7 ล้าน ลิเวอร์พูล 2.6 ล้าน อาร์เซน่อล กับ เล้สเต้อร์ ซิตี้ ได้เหลื่อมกันเล็กน้อยที่ 2.2 ล้าน โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ 2.1 ล้าน สปอร์ตติ้ง ปอรตูเกา 2 ล้านกับเศษหน่อยๆ แล้วก็มาถึงสโมสรนอกทวีปยุโรปสโมสรแรกที่มีนักเตะรับใช้ทีมชาติในฟุตบอลโลกได้รับเงินชดเชยถึง 2 ล้านกับเศษอีกเล็กๆ มาเป็นอันดับ 17 มากกว่า โบรุสเซีย มึนเชิ่น กลั๊ดบัค ที่ตามมาด้วยเงินชดเชยถึง 2 ล้าน เช่นกัน

เมื่อจำแนกเป็นลีกของแต่ละชาติ ปรากฏว่า เพรอมิเอ ลีก ของ อังกฤษ กินขาด ซัดไป 37.4 ล้าน ยูเอ๊ส ดอลเล่อร์ส ความจริง อังกฤษ ก็เป็นแช้มพ์ในทุกเรื่องอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนเงินที่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดการแข่งขันที่สูงกว่าชาติอื่นๆ แถมแฟนบอลยังแห่ซื้อตั๋วมาชมเกมที่ รัสเซีย มากกว่าใคร ลา ลีกา ของ สเปน ตามมาค่อนข้างห่างด้วยเงินชดเชย 22.6 ล้าน

บุนเดสลีกา ของ เจอรมานี มาเป็นอันดับ 3 ด้วยจำนวนเงิน 18.9 ล้าน อิตาลี 17.5 ล้าน ฝรั่งเศส 15.3 ล้าน รัสเซีย 10.3 ล้าน และ ลีกของ ซาอูดี อาระเบีย ตามมาเป็นอันดับที่ 7 ด้วยเงินชดเชย 6.5 ล้าน เหนือกว่าลีกของ ปอรตูเกา ที่ได้รับเงิน 6.1 ล้าน ลีกของ เมฮีโก ก็ไม่เลว ได้รับเงิน 5.5 ล้าน ส่วนเอเชียทางตะวันออกอย่าง เจ ลีก ของ ญี่ปุ่น มาเป็นอันดับ 14 ด้วยเงินชดเชย 3.6 ล้าน และ เค ลีก ของ เกาหลีใต้ 3.1 ล้าน

ที่น่าสนใจคือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างสโมสรในประเทศในทวีปยุโรปเองก็ไม่เบา อย่างเช่นใน ฝรั่งเศส มี เปแอ๊สเช ที่ได้รับเงินชดเชย 3,894,080 ยูเอ๊ส ดอลเล่อร์ส รวมทั้ง โมนาโก ที่ได้รับ 2,934,710 ยูเอ๊ส ดอลเล่อร์ส เป็น 2 ทีมนำที่ติดอยู่ในท้อพเท็น เปรียบเทียบกับ เร้ด สตาร์ ที่ติดอันดับ 400 กว่าๆ ด้วยเงินชดเชยเพียง 21,225 ยูเอ๊ส ดอลเล่อร์ส เท่านั้น

นี่ถ้าพิจารณาเป็นทวีป เราก็จะยิ่งเห็นความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน โดยสโมสรในทวีปยุโรปที่มีจำนวน 254 สโมสรที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลโลกได้รับเงินชดเชยรวมกัน 157,831,930 ยูเอ๊ส ดอลเล่อร์ส นับสูงกว่าเงินที่สโมสรในทวีปเอเชียได้รับรวมกัน 19,858,817 ยูเอ๊ส ดอลเล่อร์ส ถึง 8 เท่า และสูงกว่าที่สโมสรในทวีปอัฟริกาได้รับรวมกัน 6,320,805 ยูเอ๊ส ดอลเล่อร์ส ถึง 25 เท่า และมันต้องรู้สึกอึ้งตรงที่สิ่งที่สโมสรในทวีปยุโรปได้รับรวมกันนั้นคิดเป็น 76 เพอร์เซ็นท์ หรือ 3 ใน 4 ของทั้งหมดทั่วโลกทีเดียว