xs
xsm
sm
md
lg

นักวิ่งฉี่เป็นเลือด! หมอทีมชาติ ชี้หากจัดมาราธอนให้ดีไม่ได้ ไม่ควรนำชีวิตคนมาเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นพ.เอกภพ ชี้กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องน่ากังวลต่อสุขภาพนักวิ่ง
"หมอเอก" นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ แพทย์ประจำทีมชาติไทย และสโมสร สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด โพสต์เฟซบุ๊ก กรณีการจัดมาราธอนที่ไม่มีน้ำดื่มอย่างเพียงพอให้นักกีฬา ว่าหากจัดให้ดีไม่ได้ก็ไม่ควรนำชีวิตของนักวิ่งมาเสี่ยง

จากกรณีที่มีการจังงานวิ่งมาราธอน รายการใหญ่ที่ภาคะวันออก และโดนวิจารณ์อย่างหนักว่า ฝ่ายจัดไม่มีความพร้อม เนื่องมีการบริการน้ำดื่มไม่เพียงพอต่อจำนวนนักวิ่งที่เข้าร่วมการแข่งขัน จนต้องมีการออกมาขอโทษผ่านสื่อไปแล้วนั้น

"หมอเอก" นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ แพทย์ประจำทีมชาติไทย และสโมสร สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ซึ่งมีความชำนาญพิเศษ ด้าน เวชศาสตร์การกีฬา & เวชศาสตร์การบิน ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของจุดให้น้ำในการแข่งขันมาราธอนว่า

เมื่อมีคนสนใจการวิ่งมากขึ้น งานวิ่งก็ผุดขึ้นมามากมายตามมาใครนึกจะจัดงานวิ่งขึ้นมาก็จัด ถ้าวิ่งระยะสั้นๆ อย่าง 5K หรือ 10K ก็คงไม่ว่ากันเพราะดูแลได้ไม่ยาก แต่เมื่อมีการอาจหารจัดฮาล์ฟมาราธอนหรือฟูลมาราธอนกันเยอะแยะมากมาย ผลที่ออกมา คือ เละ!!!!

ลองคิดดูสภาพที่คนสองสามพันคนออกมารวมตัวกันดูเถอะครับ แค่ยืนกันเฉยๆยังโกลาหลอลหม่าน แต่นี่ต้องวิ่งไปทั่วเมืองอีก มันคือลักษณะหนึ่งของ mass casualty หรือลักษณะเดียวกับการเกิดภัยพิบัติเลยนะครับ การเตรียมตัวต้องพร้อมสุดๆในทุกด้าน เพราะไม่มีใครล่วงรู้ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในช่วงนั้นบ้าง

ล่าสุด คือ งานวิ่งที่ภาคตะวันออก ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์สนั่นโลกโซเชียลอยู่ช่วงนี้ ประเด็นใหญ่ก็เรื่องจุดให้น้ำที่มีน้อย แถมแก้วที่เตรียมไว้ไม่เพียงพอจนต้องให้นักวิ่งมาต่อคิวเอามือรองน้ำดื่มจากถังกิน มีนักวิ่งบางคนที่วิ่งจบแล้วถึงขั้นฉี่เป็นเลือด และที่หนักกว่านั้นก็คือทีมงานเก็บของกลับกันหมดทั้งที่นักวิ่งยังเข้าเส้นชัยไม่ครบ ต้องให้กลุ่มนักวิ่งอยู่รอกันเอง

การวิ่งระยะตั้งแต่ฮาล์ฟมาราธอนขึ้นไป เป็นการออกกำลังกายต่อเนื่องมากกว่าชั่วโมงครึ่งหรือสองชั่วโมง จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงการทำงานของร่างกายอย่างมากมายที่บางอย่างอาจส่งผลถึงชีวิตได้เลยครับ

อย่างเรื่องน้ำ อย่าคิดว่าไม่สำคัญ !!!! ในการวิ่งมาราธอน นักวิ่งจะเสียน้ำจากทางเหงื่อและทางการหายใจรวมแล้วอาจถึง 5 ลิตรเลยทีเดียว เคยมีการตรวจนักวิ่งที่ลงวิ่งมาราธอนในต่างประเทศ ที่อากาศไม่ได้ร้อนเหมือนบ้านเรา แถมยังมีการเตรียมการเรื่องจุดให้น้ำเป็นอย่างดี พบว่านักวิ่งที่เข้าเส้นชัยส่วนใหญ่มีภาวะขาดน้ำ 3-5%ของน้ำหนักตัว

เมื่อวิ่งในภูมิประเทศแบบประเทศไทยเรา การเสียน้ำจากเหงื่อเพื่อระบายความร้อนก็มากขึ้น ยิ่งถ้าหากไม่ได้น้ำทดแทนอย่างเหมาะสมก็ยิ่งทำให้ภาวะขาดน้ำรุนแรงขึ้นได้ครับ
การขาดน้ำ ส่งผลโดยตรงต่อปริมาณน้ำเลือดทำให้ร่างกายมีน้ำเลือดลดลง เมื่อน้ำเลือดลดลงก็ย่อมส่งผลต่อหัวใจและการแลกเปลี่ยนก๊าซจากการหายใจตามมาอีกเป็นพรวน
การขาดน้ำก็เป็นความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้เลยนะครับ

นี่ยังไม่พูดถึงเกลือแร่ และ น้ำตาลเลยนะครับ เพราะการวิ่งเกินชั่วโมงครึ่งหรือสองชั่วโมง แหล่งพลังงานสะสมที่มีอยู่ในร่างกายเริ่มถูกใช้จนหมด จำเป็นที่จะต้องมีการได้เพิ่มเข้าไปบ้าง ผู้จัดงานควรต้องเตรียมเกลือแร่และสารให้พลังงานไว้ด้วยครับ ผมถือเป็นความรับผิดชอบของผู้จัดที่ต้องจัดเตรียมไว้ให้นะครับ และวิธีการเสิร์ฟน้ำเกลือแร่ก็ต้องเตรียมแยกกับน้ำเปล่า ต้องเสิร์ฟเกลือแร่ในอุณหภูมิที่เย็นแต่ไม่ใส่น้ำแข็งในแก้วเกลือแร่

อันที่จริงมีการทำมาตรฐานการวางจุดให้น้ำไว้แล้ว ถ้าหากผู้จัดงานจะใส่ใจในเรื่องนี้สักนิดก็น่าจะเป็นประโยชน์มากๆ

** ระยะห่างของจุดให้น้ำควรห่างกันไม่เกินประมาณ 3 กิโลเมตร แต่ในสภาพแวดล้อมของประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อน ก็ควรตั้งจุดให้น้ำห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตรครับ
ดังนั้นในระยะมาราธอนจะต้องมีจุดให้น้ำอย่างน้อย 20 จุดระหว่างทาง

ภาชนะใส่น้ำ ให้ใช้แก้วขนาดประมาณ 200 ซีซี ที่ใส่น้ำประมาณสามในสี่ส่วนของแก้ว จำนวนแก้วในแต่ละจุดต้องมีไม่น้อยกว่าจำนวนนักวิ่งที่ต้องวิ่งผ่านในแต่ละจุดหรือสองเท่าของจำนวนนักวิ่งเนื่องจากบางครั้งอาจมีการใช้น้ำเทศีรษะและลำตัวเพื่อระบายความร้อน หากมีเกลือแร่ในจุดให้น้ำ จะต้องแยกโต๊ะและจุดเตรียมให้ชัดเจน โดยโต๊ะช่วงแรกจะเป็นน้ำเปล่า มีโต๊ะตรงปลายเป็นจุดวางเกลือแร่ที่แยกไว้จากน้ำเปล่าอย่างชัดเจน

แค่เรื่องจุดให้น้ำ ถ้าทำให้ดีไม่ได้ก็ไม่ควรจัดงานวิ่งครับ ชีวิตของคนไปวิ่งไม่ควรต้องเอาไปเสี่ยงกับการจัดงานแบบไม่มีความเป็นมืออาชีพครับ บางงานอ้างเหตุผลการจัดงานเพื่อช่วยทำบุญ แต่คนไปวิ่งก็ไม่ควรต้องไปทำบุญด้วยการเสี่ยงชีวิตนะครับ



กำลังโหลดความคิดเห็น