xs
xsm
sm
md
lg

คุณฉีดวัคซีนหรือยัง? / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

"ถึงเวลาฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปีกันอีกแล้วนะครับเฮีย" พี่หมอกล่าวเตือนคุณชูสง่า

"อ้าว...ครบปีแล้วหรือเร็วจัง เฮียว่าเพิ่งจะฉีกไปหยกๆ แล้ววัคซีนงูสวัดต้องฉีดไหม รู้สึกปีที่แล้วฉีดทั้ง 2 อย่าง"

"ไม่ต้องครับเฮีย งูสวัดฉีดครั้งเดียวพอ"

- วัคซีนชนิดใดบ้างที่ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุควรได้รับการฉีด โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง จึงมีโอกาสป่วยเป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย เพราะวัคซีนนอกจากจะช่วยป้องกันการติดเชื้อแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายที่จะต้องป่วยเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและลดอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้ออีกด้วย

วัคซีนที่ทีมแพทย์แนะนำให้ฉีดคือ

- วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยแนะนำให้ฉีดยาทุกปี เนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ทุกปีและมีการระบาด 2 ช่วงคือช่วงฤดูฝนและช่วงฤดูหนาว โดยฉีดปีละ 1 ครั้งในช่วงก่อนการระบาด โดยมีข้อห้ามคือห้ามไปฉีดในผู้ที่แพ้ไข่อย่างรุนแรง เนื่องจากไข่เป็นส่วนประกอบในขบวนการผลิตวัคซีน

- วัคซีนป้องกันงูสวัด เป็นอีกโรคที่แนะนำให้ฉีดวัคซีนกันในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคงูสวัดสูงสุดและวัคซีนนี้สามารถป้องกันงูสวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วง 5 ปีแรก แนะนำให้ฉีดเพียงครั้งเดียวไม่ต้องมีการฉีดกระตุ้นซ้ำ

- วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ เอ โรคนี้ติดต่อทางอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ ผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคตับเรื้อรัง ผู้ที่มีอาชีพประกอบอาหาร หรือผู้ที่อาศัยอยู่ในที่แออัด โดยฉีด 2 ครั้งห่างกัน 6-12 เดือน เชื่อว่าเป็นภูมิคุ้มกันนาน 10 ปี

- วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี เป็นอีกวัคซีนที่แนะนำให้ฉีด เนื่องจากคนที่ติดเชื้อส่วนใหญ่เมื่อหายจากตับอักเสบ อาจกลายเป็นพาหะของโรค โดยสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ทางสารคัดหลั่ง เช่น ทางเพศสัมพันธ์ จากแม่สู่ลูกขณะคลอด ทางการให้เลือด หรือการใช้สิ่งของร่วมกัน อีกทั้งผู้ที่มีเชื้ออยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลานานๆ อาจเป็นตับอักเสบเรื้อรังและเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับในอนาคต โดยวัคซีนนี้ต้องฉีดทั้งหมด 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 1 เดือนและครั้งที่ 3 ห่างจากครั้งแรก 6 เดือน

แม้จะได้รับวัคซีนมาแล้วก็ยังมีอีกประเด็นที่ต้องปฎิบัติควบคู่ไปด้วยนั่นคือการดูแลสุขภาพของตนเอง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหมั่นตรวจสุขภาพเสมอ

"วัคซีนป้องกันโรคทรัพย์จางมีไหมครับพี่หมอ" ไอ้อ้วน วอน!!


กำลังโหลดความคิดเห็น