xs
xsm
sm
md
lg

'สราวุฒิ-ปิยะธิดา’ ผงาดแชมป์ปั่นเลียบน้ำโขง 3 จว. เงินสะพัด150ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“วุฒิ” สราวุฒิ สิริรณชัย และ “ตาร์” ปิยะธิดา ทิศจันทร์ ผงาดแชมป์ศึกจักรยานทางไกล 
2 นักปั่นทีมชาติไทย “วุฒิ” สราวุฒิ สิริรณชัย และ “ตาร์” ปิยะธิดา ทิศจันทร์ ผงาดแชมป์ศึกจักรยานทางไกล “THE GREAT MEKONG BIKE RIDE 2018” พร้อมครองถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ ขณะที่ประเภททีม “พลัมไบค์ ลพบุรี” ช่วยกันปั่นคว้าชัย ด้าน “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” เผยยอดเงินสะพัดกว่า 150 ล้านบาท ในพื้นที่ 3จังหวัด “นครพนม-มุกดาหาร-สกลนคร” พร้อมยกระดับการแข่งขันปีหน้ามุ่งสู่ระดับโลก

การแข่งขันจักรยานทางไกลแห่งประเทศไทย รายการ “THE GREAT MEKONG BIKE RIDE 2018” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ พร้อมเงินรางวัลรวมกว่า  1 ล้านบาท ได้จัดการแข่งขันขึ้นเมื่อช่วงวันที่ 18-20 พฤษภาคม โดยแบ่งออกเป็น 3 สเตจ ผ่านเส้นทางใน 3จังหวัด ประกอบด้วย นครพนม,มุกดาหาร และสกลนคร
 “ตาร์” ปิยะธิดา ทิศจันทร์
การแข่งขันสเตจที่ 1 : King of Khong วันที่ 18 พฤษภาคม เริ่มออกสตาร์ทจากนครพนม ปั่นบนถนนทางหลวงสายหลัก เลียบฝั่งแม่น้ำโขงถึงมุกดาหาร ระยะทาง127 กม. จากนั้นเข้าสู่สเตจที่ 2 : King of Endurance วันที่ 19พฤษภาคม ออกจากมุกดาหาร ปั่นบนถนนทางหลวงสายหลัก ก่อนปั่นขึ้นเขาช่วง 5 กม.สุดท้าย ถึงประตูเมืองสกลนคร ระยะทาง 150 กม.

ปิดท้ายสเตจที่ 3 King of Speed เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม โดยมีนายวิทยา จันทร์ฉลอง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เป็นประธานปล่อยตัวนักกีฬา ออกสตาร์ทจากประตูเมืองสกลนคร ปั่นบนถนนทางหลวงสายหลัก มุ่งสู่นครพนม ระยะทาง 95 กม. รวมระยะทาง 3 สเตจ ทั้งหมด 372 กม.

ผลการแข่งขัน ปรากฏว่า ประเภททั่วไปชาย “วุฒิ” สราวุฒิ สิริรณชัย นักปั่นหนุ่มทีมชาติไทย วัย26 ปี ปั่นทำเวลารวม 3 สเตจ8.39.44.550 ชั่วโมง คว้าแชมป์พร้อมถ้วยพระราชทาน และเงินรางวัล 50,000 บาทไปครอง ขณะที่อันดับ 2 อเล็กซ์ เดสทริบัวส์ ลูกครึ่งลาว-ฝรั่งเศส ทำเวลารวม8.39.48.900 ชั่วโมง และอันดับ 3คุณากร นนธิจันทร์ นักปั่นไทย เวลารวม 8.40.31.213 ชั่วโมง
ทีม “พลัมไบค์ ลพบุรี” ช่วยกันปั่นคว้าชัย
ขณะที่ประเภททั่วไปหญิง“ตาร์” ปิยะธิดา ทิศจันทร์ นักปั่นสาวดาวรุ่งทีมชาติไทย วัย 20 ปี ทำเวลารวม 3 สเตจ 9.22.16.937ชั่วโมง คว้าแชมป์พร้อมถ้วยพระราชทาน และเงินรางวัล 20,000บาท ส่วนอันดับ 2 จันทร์เพ็ง นนทะสิน น่องเหล็กสาวจอมเก๋า เวลารวม9.23.58.553 ชั่วโมง และอันดับ 3ศุภักษร นันตะนะ นักปั่นสาวดีกรีทีมชาติอีกคน เวลารวม 9.27.05.483ชั่วโมง

ส่วนประเภททีม 4 คน ทีมพลัมไบค์ ลพบุรี ประกอบด้วย พีรพงศ์ ลาดเงิน, ณัฐพล จำชาติ, ณัฐวุฒิ อยู่พันธ์ และปฐมภพ พลอาจทัน ช่วยกันปั่นทำเวลารวม 3 สเตจ8.18.40.493 ชั่วโมง คว้าแชมป์พร้อมถ้วยพระราชทานเช่นกัน และเงินรางวัล 40,000 บาท ขณะที่อันดับ 2 ทีมภูพานไบค์ ทำเวลารวม8.28.48.900 ชั่วโมง และอันดับ 3ทีมซาย ไซคลิ้ง ทำเวลารวม8.35.47.470 ชั่วโมง

ด้านแชมป์ประเภทกลุ่มอายุ ดังนี้ ชาย 18-29 ปี รัชชานนท์ เยาวรัตน์ 9.05.22.250 ชั่วโมง, ชาย 30-39 ปี ชาติชาย ตีรถะจารุพงศ์9.03.39.567 ชั่วโมง, ชาย 40-49 ปี พาวอล ครีซาน (สโลวาเกีย)9.07.38.870 ชั่วโมง, ชาย 50 ปีขึ้นไป วรพจน์ ฟุ้งสุข 9.13.34.273ชั่วโมง, เยาวชนชายไม่เกิน 18 ปี นัฏฐชัย มาลัยทอง 9.12.41.710ชั่วโมง, หญิง 18-39 ปี สุรัตติยา บุบผา 9.31.09.790 ชั่วโมง และหญิง40 ปีขึ้นไป ปรียาภัทร์ วงศ์วัฒนไพบูรณ์ 10.36.10.697 ชั่วโมง
เงินสะพัด 3 จังหวัด
สำหรับพิธีมอบรางวัลได้มีขบวนอัญเชิญถ้วยพระราชทาน มายังบริเวณลานศรีสัตตนาคราช ริมฝั่งแม่น้ำโขงจังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นบริเวณที่ประดิษฐานองค์พญาศรีสัตตนาคราช โดยมีนายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม และนางสุจิตรา จงชาณสิทโธ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นผู้อัญเชิญถ้วยพระราชทาน

นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า นครพนมเข้าร่วมจัดการแข่งขันตลอด 3 ปีที่จัดแข่งมา ทุกปีได้ยกระดับการแข่งขัน และเส้นทางให้ดียิ่งขึ้น ในภาพรวมพึงพอใจการแข่งขันที่มีการพัฒนาขึ้น และสร้างความตื่นตัวให้คนในพื้นที่สนใจการปั่นจักรยาน รวมทั้งยังเติมเต็มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจังหวัด ซึ่งยอด 2ปีหลังสุดมียอดนักท่องเที่ยวกระโดดจากเดิม 8 แสนคนต่อปี เป็นกว่า 1.3 ล้านคนต่อปีอีกด้วย

“รายการนี้ทำให้คนเข้ามาเติมเต็ม โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่งนครพนมก็กำลังก่อสร้างเส้นทางปั่นผ่าน 3 ที่สุดคือ สะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม-คำม่วน), เทศบาลนครพนม และวัดพระธาตุพนม ริมฝั่งแม่น้ำโขง รวมระยะทาง 75 กม. คาดจะเสร็จปี 2562 โดยเราก็ได้พูดคุยกับทาง ททท. เพื่อให้เข้ามาสำรวจเส้นทางใช้การแข่งขันปีหน้าด้วย” นายสมชายกล่าว

นางสุจิตรา จงชาณสิทโธ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ททท.กล่าวว่า ได้มุ่งเน้นยกระดับรายการนี้ไปสู่ระดับโลก ปีนี้จึงได้ปรับมาตรฐาน ทั้งปริมาณผู้เข้าร่วม และเส้นทางการปั่นเชื่อมโยง 3 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งได้ทำการตลาดต่างประเทศ ทั้งอาเซียน และเอเชีย เพื่อดึงนักปั่นต่างชาติระดับโลกมากขึ้น ซึ่งก็ได้ยอดเกือบ 300 คนจาก 21 ประเทศ รวมกับนักปั่นชาวไทย ทำให้มีเข้าร่วมกว่า 2,800 คน ถือว่าประสบความสำเร็จเกินเป้าหมาย

นางสุจิตรา กล่าวอีกว่า ในช่วงแข่งขันได้ประเมินยอดเงินสะพัดใน3 จังหวัดแล้วรวมกว่า 150 ล้านบาท ถือว่าเป็นการกระจายรายเศรษฐกิจลงสู่ชุมชน ส่วนปีต่อไปจะปรับมาตรฐานเพิ่มขึ้นอีก ทั้งด้านการบริหารจัดการ, การเจาะกลุ่มตลาดต่างประเทศ ทั้งอาเซียน, เอเชีย และยุโรป รวมทั้งเส้นทางที่จะสำรวจเส้นทางริมฝั่งแม่น้ำโขง ดูความพร้อม เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำให้รายการนี้เป็นแลนด์มาร์คของลุ่มน้ำโขง เพื่อยกระดับไปสู่ระดับโลกภายใน 3 ปีข้างหน้า


กำลังโหลดความคิดเห็น