xs
xsm
sm
md
lg

บ้านหมุน VERTIGO / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

หลายท่านคงมีประสบการณ์ “บ้านหมุน” มาบ้างแล้ว และคงจดจำได้ไม่ลืมถึงวันที่ลุกขึ้นจากที่นั่งหรือเตียงนอนตามปกติ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวกลับไม่ปกติเหมือนบ้านทั้งหลังหรือโลกทั้งใบหมุนติ้วจนคุณต้องยอมจำนนต่ออาการนี้ โดยการทรุดตัวลงนอนแต่โดยดี แต่บางครั้งก็ยังหมุนไม่หยุด จนถึงขั้นอาเจียนออกมาจนหมดเรี่ยวหมดแรงเลยทีเดียว

โรคเวียนศีรษะจนบ้านหมุน เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่ที่รุนแรงน้อยซึ่งพบได้บ่อยจนถึงรุนแรงมาก ตามปกติการทรงตัวของคนเราต้องอาศัยอวัยวะหลายส่วนที่ทำงานประสานสอดคล้องกัน เริ่มตั้งแต่ระบบการรับภาพ อวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน ระบบประสาทรับสัมผัสต่างๆ ที่จะให้ข้อมูลกับสมองส่วนหลังว่าในขณะนั้นร่างกายเราดำรงอยู่ในตำแหน่งไหน เคลื่อนไหวอย่างไร ซึ่งหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นในส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็จะส่งผลต่อการทรงตัวและการเคลื่อนไหวของร่างกายทันที ส่งผลให้เกิดอาการเวียนศีรษะอย่างรุนแรงจนบ้านหมุนขึ้นได้ ตัวอย่างโรคที่อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนที่พบได้บ่อย

1. โรคเวียนศีรษะขณะเปลี่ยนท่าทาง พบได้บ่อยที่สุด เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของหูชั้นใน จึงพบบ่อยในผู้สูงอายุ อาการเฉพาะของโรคนี้คือ อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนที่เกิดขึ้นทันทีทันใดในขณะที่ศีรษะเคลื่อนไหว เช่น ระหว่างกำลังล้มตัวลงนอนหรือลุกจากที่นอน ก้มลงหยิบของ เป็นต้น อาการมักจะเป็นระยะสั้นๆ เป็นช่วงที่ขยับศีรษะ แล้วอาการค่อยๆหายไป

2. โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เกิดจากความผิดปกติของระดับน้ำในหูชั้นใน โดยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ทำให้เกิดอาการบ้านหมุนอย่างรุนแรง ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน อาจมีอาการนานเป็นนาทีจนถึงหลายชั่วโมง ซึ่งในระหว่างที่เกิดอาการผู้ป่วยควรอยู่นิ่งๆไม่ขยับศีรษะ นอกจากนี้ผู้ป่วยยังอาจมีอาการได้ยินเสียงลดลงหรือมีอาการมีเสียงดังในหูได้ด้วย

ซึ่งเมื่อมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ควรปฏิบัติดังนี้

1. หลีกเลี่ยง ท่าทางที่ทำให้เกิดอาการที่บนศีรษะ ในระหว่างเกิดอาการ เช่น การหมุนศีรษะเร็วๆ การเปลี่ยนแปลงท่าทางอิริยาบถอย่างรวดเร็ว

2. หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น ความเครียด การดื่มสุรา สูบบุหรี่

3. ไม่ควรอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ เช่น ขับขี่ยานพาหนะ อยู่ในที่สูง

นักกอล์ฟ สว. สูงวัยอย่างเราๆยิ่งต้องดูแลตัวเองกันมากๆนะครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น