xs
xsm
sm
md
lg

ทีเด็ด 10 สนาม ยูโร 2016 (3) / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

วันนี้ขอต่ออีก 3 สนามครับ เริ่มด้วย สต๊าด ช๊อฟฟรัว กีชาร (Stade Geoffroy-Guichard) เป็นสนามฟุตบอลที่ อาแอ๊ส แซ็ง เตเตียน (AS Saint-Etienne) ใช้เป็นสนามเหย้ามาตลอดตั้งแต่ปี 1933 หลังจากเปิดใช้ได้ 2 ปี อัฒจันทร์เป็นสตายล์อังกฤษคือ เปิดมุมทั้ง 4 ด้านโหว่เอาไว้ จุผู้ชมได้ 42,000 ที่นั่ง

สนามนี้ถูกสร้างขึ้นบนที่ดินของ ช๊อฟฟรัว กีชาร เจ้าของร้านชำที่เริ่มเปิดกิจการตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 และเจริญเติบโตจนกลายเป็นธุรกิจใหญ่โตในปัจจุบันในชื่อ กรุ๊ป กาซีโน (Groupe Casino) ที่มี ซุพเพ่อร์ มาร์เก็ต มากมายกระจายอยู่ทั่วโลก รวมทั้ง บิ๊กซี ในประเทศไทย ก่อนที่ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จะซื้อไป และเขายังเป็นผู้ก่อตั้ง สโมสร แซ็ง เตเตียน อีกด้วย

สนามที่ถูกให้ฉายาว่า “นรกสีเขียว” ซึ่งเป็นสีประจำของ แซ็ง เตเตียน นี้ได้รับการปรับปรุงตามคำแนะนำของ ยูเอ๊ฟฟ่า (UEFA) ตั้งแต่ปี 2014 โดยนอกจากจะถูกยกพื้นให้สูงขึ้นอีก 20 เซนติเมตร เพื่อให้ผู้ชมดูเกมได้ดีขึ้น เขายังใช้เท๊คนอลลอจี้ แอร์ฟายเบ้อร์ (AirFibr) ด้วยคือดินที่รองรับหญ้านั้นประกอบด้วย เมล็ดค้อร์คธรรมชาติเล็กๆ ผสมกับ ใยสังเคราะห์ และ ทรายแก้ว อีกทั้ง วางสายเคเบิลใต้ดินเพื่อให้ความอบอุ่นในฤดูหนาวเป็นการป้องกันความเย็นจัดจนเกิดเป็น แม่คะนิ้ง อันจะทำให้สนามหญ้าเสียหายและลื่นมากด้วย

อัลลิอันซ์ รีวิเอรา (Allianz Riviera) เพิ่งก่อสร้างเมื่อปี 2011 เสร็จสมบูรณ์ในอีก 2 ปีต่อมา และ สโมสรฟุตบอล นี้ส (OGC Nice) ก็เริ่มมาใช้เป็นสนามเหย้า ความจุ 35,624 ที่นั่ง แม้ว่าบริษัทประกันของ เจอรมานี จะจ่ายให้ปีละ 1.8 ล้าน เออโร เป็นเวลา 9 ปี เพื่อให้ใช้ชื่อ อัลลิอันซ์ เป็นสนาม[ แต่ด้วยข้อบังคับของ ยูเอ๊ฟฟ่า ในเรื่องสปอนเซ่อร์ทำให้ใน ยูโร 2016 ซึ่งเป็นการแข่งขันภายใต้การดูแลของ ยูเอ๊ฟฟ่า สนามแห่งนี้จะต้องใช้ชื่อ สต๊าด เดอ นี้ส (Stade de Nice) แทน

สนามแห่งนี้มีหลังคาปกคลุมอัฒจันทร์โดยรอบ ทำด้วยพล้าสติคที่แข็งแรง ทนต่อแรงกระแทกสูง ที่เรียกว่า PVDF (Polyvinylidencefluoride) สีมัวๆ ทำหน้าที่กรองแสงธรรมชาติ แถมยังช่วยดูดซับเสียงสะท้อนและเสียงที่มีคลื่นความถี่สูงได้อีก และติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กินพื้นที่รวม 7,500 ตารางเมตร ซึ่งเขาคำนวณว่าจะผลิตกระแสไฟได้มากกว่าที่ต้องการใช้ในสนามถึง 3 เท่า นอกจากนั้น ยังมีการออกแบบผนังให้สามารถหักเหทิศทางลมที่มาจากลุ่มน้ำวาร (Var) เพื่อสร้างความชุ่มชื่นภายในสนามด้วย

สต๊าด โบลาร เดอเลอลิส (Stade Bollaert-Delelis) นี่ก็เป็นสนามเหย้าของทีม ล้องซ์ (Racing Club de Lens) มาตั้งแต่ปี 1933 ความจุ 38,223 ที่นั่ง ตั้งชื่อตาม เฟลิกซ์ โบลาร (Felix Bollaert) ผู้จัดการเหมืองที่เป็นแรงสำคัญช่วยสนับสนุนพัฒนาการทางกีฬาแก่เมืองล้องซ์ กับอีกคน อ็องเดร เดอเลอลิส (Andre Delelis) นักการเมืองที่ช่วยรักษาสนามกีฬาแห่งนี้หลังจากสิ้นยุคเหมืองถ่านหินไปแล้ว

เมื่อได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 10 สนามที่ใช้รองรับการแข่งขัน ยูโร 2016 ก็เริ่มโครงการปรับปรุงสนามตั้งแต่ปี 2010 แต่ประสบปัญหาการเงินทำให้โครงการล่าช้ามาถึงปี 2012 ตอนแรกจะทำหลังคาแบบที่เลื่อนได้ด้วยซ้ำไป แต่ด้วยราคาค่าก่อสร้างที่แพงเว่อร์มากเหตุจึงต้องยกเลิกไปก่อน อย่างไรก็ตาม ยังมีการติดตั้งระบบเก็บกักน้ำฝนไว้ใช้ภายในสนาม รวมทั้ง ติดแผงโซลาร์เซลล์เพื่อนำกระแสไฟมาใช้ด้วย

สิ่งที่พิเศษของสนามนี้ก็คือที่ตั้งของ สต๊าด โบลาร เดอเลอลิส เป็นภูมิภาคที่ ซุ้มขายมันฝรั่งทอด ที่เราเรียกกันว่า เฟร้นช์ ฟรายส์ (French fries) เป็นที่นิยมมาก ถ้าดูตามชื่อแล้ว ใครๆก็ต้องเชื่อว่าเป็นอาหารของชาวฝรั่งเศส แต่ เบลเจี่ยม อ้างว่าเขาเป็นต้นกำเนิดต่างหาก เป็นเรื่องที่ยังถกเถียงโดยไม่อาจสรุปได้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม นี่แทบจะเป็นสนามฟุตบอลแห่งเดียวในประเทศฝรั่งเศสที่มี ซุ้มขายเฟร้นช์ ฟรายส์ ตั้งอยู่รอบๆสนามเต็มไปหมดไม่ว่าจะภายนอกหรือภายในอาคาร เราคงคุ้นเคยกับการดูหนังพร้อมกับกินข้าวโพดคั่ว แต่ที่นี่เขาดูเกมฟุตบอลกับกิน เฟร้นช์ ฟรายส์ ครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น