xs
xsm
sm
md
lg

หมอศิริราช! ชี้ผู้เสียชีวิตโควิด-19 ทำนิวไฮทุกวัน จับตาสายพันธุ์ ‘แอฟริกาใต้’ เข้า กทม.?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุลอาจารย์แพทย์ศิริราช ระบุรัฐบริหารอะไรผิดพลาดให้บอกความจริง อย่าแถน้ำขุ่นๆ เรียกร้องให้แพทย์ยึดหลักวิชาการอย่าให้การเมืองครอบงำ มั่นใจรัฐปรับแผนวัคซีนใหม่ใช้มาตรการคุมเข้ม และประชาชนให้ความร่วมมือ ‘ฉีดวัคซีน’ จะช่วยลดการระบาดได้ จากนี้ไปตัวเลขผู้เสียชีวิตจะทำนิวไฮทุกวัน ยันทุกวันนี้เข้าขั้นวิกฤต หมอต้องเลือกคนไข้รักษาแล้ว ด้าน สธ.จับมือมหาวิทยาลัยแพทย์ถอดรหัสพันธุกรรมผู้ติดเชื้อทุกกลุ่ม ให้รู้ว่าแต่ละพื้นที่ติด ‘สายพันธุ์ไหน’ หวั่นเชื้อกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นของไทย ชี้สายพันธุ์แอฟริกาใต้ สธ.ตรวจพบตั้งแต่เดือนมีนาคม ต้องเฝ้าระวังจะเข้าใจกลาง กทม.หรือยัง!?

กระแสโจมตีการแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 ของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา มีออกมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาลและระบบสาธารณสุขของประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องของการจัดหาวัคซีน และการจัดสรรวัคซีนที่ไม่เป็นธรรม ส่อไปในทางรู้เห็นเป็นใจให้เกิดความไม่โปร่งใส รวมไปถึงระบบการลงทะเบียน ‘หมอพร้อม’ ในการฉีดวัคซีนที่ทำให้คนที่พร้อมจะฉีดกลับไม่ได้ฉีด สร้างความปั่นป่วนเกิดขึ้น

นอกจากนี้ ในเรื่องการจัดสรรวัคซีนที่ปรากฏออกสู่สาธารณชน ได้สะท้อนความขัดแย้งของ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคร่วมรัฐบาล รวมไปถึงการแก้ปัญหาที่ใช้การเมืองนำการแพทย์ทำให้เกิดการบิดเบี้ยวผิดไปจากหลักวิชาการที่จะสามารถตัดวงจรการระบาดได้อย่างรวดเร็ว และหากรัฐบาลไม่รีบดำเนินการปรับแผนประเทศไทยจะเข้าสู่วิกฤตที่รุนแรงและมีความเสี่ยงจากการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ ที่วงการแพทย์จะรับมือไหวหรือไม่!?

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า เรื่องของคนที่จะฉีดวัคซีนเข็ม 2 นั้น เชื่อว่าได้ฉีดไม่มีปัญหา แต่จะได้ฉีดช้ากว่ากำหนดเดิมที่วางไว้จาก 8 สัปดาห์ จะถูกเลื่อนไปเป็น 12 หรือ 14 สัปดาห์ จริงๆ การฉีดเข็มแรกก็มีภูมิเกิดขึ้นแล้ว 50-60% เมื่อได้เข็มที่ 2 ห่าง 8-14 สัปดาห์ ก็ยังได้ เพียงแต่ว่ามันสะท้อนเป็นการบริหารจัดการที่ไม่ดี

และออกมาพูดแบบคนแก้ตัวน้ำขุ่นๆ ว่า การเลื่อนฉีดเข็มที่ 2 จาก 8 สัปดาห์เป็น 14 สัปดาห์ จะได้ภูมิคุ้มกันที่ดีกว่า และหากฉีดเข็ม 2 ห่างกัน 14 สัปดาห์ดี ทำไมรัฐบาลไม่วางแผนตั้งแต่แรก ฟังดูแล้วเหมือนไม่มีเหตุผล

“ถ้าจะยอมรับตรงๆ ว่าเกิดการกระจายผิดพลาด เพราะมีความจำเป็นต้องดึงไปใช้ในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ทั้งชุมชนแออัด ในเรือนจำ ที่เกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ ก็รับฟังได้ ไม่นับพวกที่ดึงไปบางจังหวัดภาคอีสาน ที่บุรีรัมย์ เยอะๆ หากเทียบจังหวัดกระบี่ เขาควรจะได้มากกว่า อันนี้เป็นเรื่องการเมืองจริงๆ”

สำหรับการนำวัคซีนไปใช้ในพื้นที่ระบาดและเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ เช่นที่คลองเตย เรือนจำหรือไซต์งานก่อสร้าง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ เพราะเป็นสถานการณ์ที่เหนือความคาดหมายที่ได้มีการวางไว้ ซึ่งแผนวัคซีนก็จะต้องมีการปรับตามสถานการณ์หรือหน้างานที่เปลี่ยนไปได้อยู่แล้ว

แต่ส่วนที่ถูกดึงไปบางจุดที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่า ถือเป็นการกระจายที่ไม่เหมาะสม เป็นการใช้การเมืองมานำการแพทย์ไปแล้ว


อย่างไรก็ดี ในการระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย และสายพันธุ์แอฟริกาใต้นั้น ระยะแรกอาจจะทำให้ดูรุนแรงแต่สุดท้ายสายพันธุ์ต่างๆ ก็ไม่แตกต่างกัน ปัจจุบันกรุงเทพฯ โซนเหนือแถวหลักสี่ เราเจอสายพันธุ์อินเดียจำนวนมาก

ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาใต้เข้ากรุงเทพฯ หรือยังนั้น ยังไม่มีข้อมูลเข้ามา แต่ที่ชัดๆ จะอยู่แถวอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

“ตอนนี้ต้องรอข้อมูลที่มีการสุ่มตรวจเป็นระยะที่กำลังทำกันอยู่ และสายพันธุ์แอฟริกาไม่ช้าก็เร็วก็เล็ดลอดเข้ามาใน กทม.ได้แน่”

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ ย้ำว่า ปัจจุบันแค่การระบาดของสายพันธุ์อังกฤษ และสายพันธุ์อินเดียก็น่ากลัวแล้ว เพราะตัวเลขที่เป็นคนไข้หนักจำนวนมากเตียงไม่พอรับแล้ว ซึ่งจากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่จะพบว่าใน กทม.เกิดขึ้นวันละเป็นพันคน เมื่อเวลาผ่านไป 7-10 วันข้างหน้า คนเหล่านี้ก็จะมีอาการหนักประมาณ 10-20 คน และจะมีตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นตามมา

“เราเห็นเมื่อวันที่ 26 พ.ค.เสียชีวิต 41 คน หมออยากบอกว่า เราจะเห็นสูงกว่านี้ไปอีก เราจะเห็นนิวไฮขึ้นไปเรื่อยๆ ทุกวัน เพราะเรามีคลัสเตอร์ใหม่ที่เริ่มเข้าไปติดผู้สูงอายุ สถานดูแลผู้สูงอายุ คนที่มีโรคเรื้อรัง กลุ่มเปราะบาง ซึ่งต้องทำใจว่าจะเห็นตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงขึ้นเรื่อยๆ”

ส่วนใครที่โชคดีได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็ม ก็จะมีภูมิคุ้มกันอย่างน้อยจนถึงต้นปีหรือกลางปี 2565 หากได้รับเชื้อโอกาสความรุนแรงก็น้อยมาก แต่พวกที่ไม่มีการฉีดวัคซีนจะมีความเสี่ยงสูงมากๆ

“บางคนคิดว่าเราไม่ฉีดไม่เป็นไรเพราะมีคนจำนวนมากฉีดแล้วเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศแล้ว ก็อย่าประมาทเพราะไม่มีใครรู้ว่าหวยจะไปออกที่ใคร หมออยากให้คิดว่าฉีดวัคซีนเพื่อเกิดภูมิคุ้มกันหมู่หรือไม่ ไม่ใช่ประเด็น เพราะจริงๆ การฉีดวัคซีนเพื่อคุ้มครองตัวเราไม่ให้ติดเชื้อเป็นสำคัญ”


ขณะเดียวกัน ในการจัดการแก้วิกฤตโควิด-19 การจัดสรรวัคซีนควรจะต้องใช้สติปัญญาและองค์ความรู้ในด้านการแพทย์ ด้านระบาดวิทยามาบริหารจัดการมากกว่าการเอนเอียงไปกับกระแสการเมือง ทั้งๆ ที่รัฐบาลมีทีมที่ปรึกษาที่เป็นคณาจารย์ด้านการแพทย์หลายท่านไปช่วยให้คำปรึกษาหรือให้ความเห็น แต่ในการดำเนินการ (operation) ซึ่งเป็นมือไม้ในการทำงานของนายกรัฐมนตรียังต้องอาศัยข้าราชการประจำ

“ในเชิงโครงสร้างต่อให้คณาจารย์แพทย์ให้คำแนะนำดีๆ ไป แต่ operation ทีมยังทำแบบเดิมๆ ก็คงไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาก ซึ่งขึ้นอยู่กับวิธีคิดของแพทย์ที่จะต้องใช้ความรู้ด้านวิชาการไปแก้ไข ไม่ใช่ไปอิงกับการเมือง”

ดังนั้น การที่รัฐบาลมีนโยบายในการปรับเปลี่ยนการจัดสรรวัคซีนและการฉีดวัคซีนใหม่ที่ดำเนินการตามหลักวิชาการถือเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกทางคือ จัดสรรตามลำดับความสำคัญและความจำเป็นตามกลุ่มประชากรที่เราคิดว่าเสี่ยงที่จะติดเชื้อจำนวนมาก เสี่ยงที่จะเสียชีวิต หรือพิจารณาจากพื้นที่ไข่แดงที่มีความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจ และพื้นที่ไหนควรจัดสรรได้ในอันดับสุดท้าย

“เราต้องการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ฉีดให้ได้ 70% ของประชากรทั้งประเทศ ต้องกำหนดให้ชัดว่าใครได้เดือนแรก ใครได้เดือนที่สอง ใครจะได้เดือนที่สาม จะต้องมีเกณฑ์ในการคัดเลือกที่โปร่งใสเปิดเผยให้สาธารณะรู้ได้ ไม่งุบงิบ ทำให้คนไม่รู้สึกคลางแคลงใจจะดีที่สุด”

นั่นหมายถึงว่าการปรับแผนวัคซีนจะต้องให้ความสำคัญกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง ชุมชนแออัด หรือกลุ่มคนที่เข้าถึงการแพทย์ได้น้อย ตามด้วยพื้นที่เศรษฐกิจอาจพิจารณาเป็นรอง ถ้าจำนวนวัคซีนยังจำกัดอยู่ และมีกลุ่มคนเปราะบางที่ยังต้องได้วัคซีนก่อน พื้นที่เศรษฐกิจอาจอยู่ในความสำคัญลำดับต่อมา และอันดับสุดท้ายพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่เสี่ยง หรือมีผู้ติดน้อยจะอยู่ในลำดับสาม หรืออันดับหลังๆ คือ ได้เหมือนกัน แต่ได้ช้าหน่อย


รศ.นพ.นิธิพัฒน์ ระบุว่า ทุกวันนี้ทางโรงพยาบาลแพทย์หรือโรงพยาบาลต่างๆ มีเตียงรองรับผู้ป่วยหนักเต็มนานแล้ว และพยายามหมุนเวียนเมื่อมีเตียงว่างก็จะจัดคนไข้ใหม่เข้าไปทันที เรียกว่าหมุนแบบเก้าอี้ดนตรีกันทุกแห่ง

"สภาพเตียงคนไข้หนัก เช่น มีคนขอเตียงไอซียู 10 คนแต่เรารับได้แค่ 2 คน ที่เหลือก็ต้องใช้เตียงข้างนอกไอซียู หรือโรงพยาบาลขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพไม่ดีนัก"

แต่สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น คือ หมออยากให้ทุกคนเลือกที่จะไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันตัวเองและต้องการให้รัฐเข้มงวดในมาตรการที่มีอยู่ คือการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาต้องมีการคุมเข้มจริงจังและต้องไม่ปล่อยให้มีการมั่วสุม การจัดกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย มีการรวมกลุ่มมากๆ จนกลายเป็นต้นเหตุของการแพร่เชื้อและมีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้นตามมา

“ถ้ารัฐไม่คุมเข้มตรงนี้จะหยุดการระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ยาก จะมีผู้ป่วยเข้ามาในระบบมากขึ้นเรื่อยๆ ระบบจะรับไม่ไหว สุดท้ายจะเป็นผลเสียกับทุกคน ทำให้ผู้ป่วยด้วยโรคอื่นที่ไม่ใช่ผู้ป่วยโควิด-19 มีความเสี่ยง บุคลากรมีความเสี่ยง สุดท้ายประชาชนก็จะมีความเสี่ยง”

ที่สำคัญสุดในทางการแพทย์ที่เป็นอยู่มีความจำเป็นที่จะต้องเลือก ‘คนไข้’ กลายๆ อยู่แล้ว อย่างเรามีเตียงไอซียู 10 เตียง มีคนไข้เข้าคิวรอ 20 คน เราก็ต้องเลือกรับตามขีดความสามารถ ส่วนที่เข้าไม่ได้ก็ต้องนอนรอเตียงไอซียูอยู่ข้างนอกกันต่อไป ซึ่งถ้าผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยิ่งมาก สภาพแบบนี้จะยิ่งมากขึ้น จะเห็นคนเสียชีวิตสูงขึ้นเช่นกัน

การปฏิบัติงานภายใน รพ.สนามพลังแผ่นดิน  ที่มีผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนัก
โดยเมื่อวานนี้ (26 พ.ค.) ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ได้ข้อสรุปในการบริหารจัดการวัคซีนโดยให้ผู้ที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมไปแล้วนั้นจะได้รับการฉีดวัคซีนตามช่วงเวลาที่เหมาะสมตามวัคซีนที่เข้ามา

ด้านจังหวัดอื่นๆ จะนำโมเดลการลงทะเบียนฉีดวัคซีนของ กทม. หรือภูเก็ตมาใช้ก็ได้แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละจังหวัด และส่วนแผนกระจายวัคซีน ศบค.ได้ปรับแผนให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยจัดสรรตามการระบาด พื้นที่เศรษฐกิจและกลุ่มเสี่ยง จากก่อนหน้าที่จัดสรรตามการลงทะเบียน




ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแพทย์ต่างๆ กำลังเฝ้าติดตามและถอดรหัสพันธุกรรมของผู้ติดเชื้อกลุ่มต่างๆ ในทุกคลัสเตอร์ เพื่อให้รู้ว่าเป็นสายพันธุ์ไหน และมีโอกาสจะกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นของไทยหรือไม่เพื่อจะได้ระดมสรรพกำลังเข้าไปดำเนินการแก้ไขได้ทัน

“สายพันธุ์แอฟริกาก็เฝ้าระวังกันอยู่เพราะ สธ.เคยตรวจพบเมื่อเดือนมีนาคม ในสถานที่กักกันของคนที่เดินทางเข้ามาในไทยแล้ว และครั้งนี้เจอที่ตากใบ ก็ต้องระวังว่าจะเข้ามาใจกลางกรุงเทพฯ หรือยัง และที่เรือนจำ ไซต์งานก่อสร้างมีสายพันธุ์ใดบ้าง” แหล่งข่าวระบุ




กำลังโหลดความคิดเห็น