xs
xsm
sm
md
lg

'เหมืองทองอัครา' รอคืนชีพ พิสูจน์ 'สุริยะ' จะฝ่าแรงต้านได้หรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จับตาเหมืองทองอัครา จะเปิดได้-ไม่ได้ หลัง 'สุริยะ' ออกมาส่งสัญญาณให้คิงส์เกต เข้าร่วมเจรจาหาข้อยุติก่อนเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตฯ นัดแรก พ.ย.นี้ ขณะที่ กพร.มีข้อมูลผลกระทบทุกด้านไว้พร้อม เชื่อหากรัฐอนุมัติให้เปิดได้ เอ็นจีโอหน้าเดิมๆ เตรียมพลต้าน แต่ถ้าไม่เปิด ชาวบ้านรอบเหมืองตายสนิท ระบุ 'แร่ทองคำ-แร่เงิน' ที่มีศักยภาพรอเหมืองเปิด มีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท และยังมีที่ประเมินไม่ได้อีกอื้อ

ปัญหาเหมืองทองคำชาตรี ที่ถูกรัฐบาลบิ๊กตู่ 1 ใช้มาตรา 44 สั่งระงับตั้งแต่กระบวนการผลิต การต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ การสำรวจ การต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด ประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งถือประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา

กระทั่งบริษัท คิงส์เกตฯ ได้ใช้สิทธิ์ทาฟตา (TAFTA: ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย) นำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตัดสิน พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดเชยค่าเสียหายให้บริษัทเป็นจำนวนเงินประมาณ 750 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท      เนื่องจากคำสั่งปิดเหมืองทองอัคราละเมิดข้อตกลงทาฟตา

ขณะที่อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจะมีการประชุมนัดแรกในเดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งเป็นเรื่องของกระบวนการทางกฎหมายที่จะดำเนินการไป แต่ในระหว่างนี้กระทรวงอุตสาหกรรมและบริษัท คิงส์เกตฯ ก็ยังมีสิทธิ์ที่จะเจรจาเพื่อหาทางออกหรือข้อสรุปได้เช่นกัน

แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าประตูเจรจาจะถูกปิดตาย!
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม
คิงส์เกตฯ อ้างว่าการขอเข้าพบเพื่อหารือและเจรจาหาทางออกร่วมกันกับ รมว.อุตสาหกรรมที่ผ่านมาไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อถึงรัฐบาลบิ๊กตู่ 2 ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็น รมว.อุตสาหกรรม จะเห็นว่าประตูการเจรจาที่เคยปิดตาย ก็เริ่มแง้มออกมาให้เห็นว่าทุกอย่างมีทางออก

โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม บอกว่า ยินดีให้ผู้บริหารบริษัท อัคราฯ เข้ามาหารือ หากได้รับการติดต่อเข้ามา ส่วนกรณีที่ผ่านมา ที่ไม่มี รมว.อุตสาหกรรม รายใดยอมให้ผู้บริหารบริษัท อัคราฯ เข้าพบนั้น เรื่องนี้เชื่อว่า หากเจรจาร่วมกันได้ก็ควรเจรจา เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน ดีกว่าไม่มีการเจรจากันเลย เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

“ได้รับแจ้งจากบริษัท อัคราฯ ว่าอยากเจรจากับ กพร.มากกว่าเพราะไม่ต้องการให้ยืดเยื้อจนต้องไปต่อสู้กันในชั้นศาล ก็ได้มอบหมายให้นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดี กพร.พิจารณาในเรื่องนี้แล้ว”

ด้าน นายสิโรจ ประเสริฐผล กรรมการบริษัท อัคราฯ ระบุว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้คุยกันอย่างจริงใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนทางคิงส์เกตฯ จะลงทุนในประเทศไทยต่อไปหรือไม่นั้น ประเด็นหลักน่าจะอยู่ที่ต้องไม่ถูกรัฐบาลสั่งปิด โดยไร้ข้อพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์ เพราะเหมืองอัคราฯ เคยถูกสั่งปิดมาแล้วถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2558 เป็นเวลา 45 วัน และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ถูกสั่งปิดตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560 เป็นต้นมา ซึ่งหากผลการเจรจาเป็นที่ยอมรับทั้ง 2 ฝ่าย เชื่อว่าทางบริษัท คิงส์เกตฯ ก็พร้อมที่จะยกเลิกการฟ้องร้องประเทศไทย

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่า ทางคิงส์เกตฯ ได้ส่งจดหมายอย่างเป็นทางการมาถึงรัฐมนตรีสุริยะแล้ว และจะเดินทางมาขอเข้าพบเพื่อเจรจาด้วยตนเอง ซึ่งทางคิงส์เกตฯ มั่นใจว่าข้อตกลงทุกอย่างต้องเป็นธรรมและเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายเท่านั้น จึงจะนำไปสู่ข้อยุติได้
นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดี กพร.
ขณะที่ นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ระบุว่า เรื่องของเหมืองอัคราเวลานี้ยังไม่มีโอกาสกลับมาเปิดได้ เนื่องจากอยู่ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นเรื่องของการต่อสู้คดี การเตรียมข้อมูล ส่งข้อมูลให้อนุญาโตฯ และจะมีการนัดไปเบิกความเพื่อพิจารณาข้อพิพาทเป็นนัดแรกในเดือนพฤศจิกายน แต่ระหว่างนี้ยังเปิดโอกาสให้มีการเจรจากันได้

“ต่างฝ่ายต่างไม่ปิดโอกาส แต่ถึงวันนี้ทางคิงส์เกตฯ ก็ยังไม่ได้ติดต่อมาที่ กพร.

ระหว่างนี้หากคิงส์เกตฯ ติดต่อมาและมีการเจรจากันได้ ซึ่งสามารถหาข้อยุติได้ก่อนที่อนุญาโตฯ จะมีการพิจารณานัดแรก ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็จะสามารถไปบอกกล่าวยกเลิกกับอนุญาโตฯ ได้ แต่ในระหว่างที่ทั้งสองฝ่ายเจรจากันนั้น ในขั้นอนุญาโตฯ ก็ยังดำเนินการต่อไป เพราะหากเจรจากันไม่สำเร็จก็ไปเจอกันตามที่อนุญาโตฯ นัดหมาย

สำหรับพื้นที่ขัดแยังและถูกสั่งปิดนั้นนายวิษณุ ระบุว่า ทั้งโครงการมีจำนวน 14 แปลง แต่มีเพียง 1 แปลงที่ประทานบัตรหมดอายุแล้ว ส่วน 13 แปลง สิทธิประทานบัตรยังเป็นของบริษัท อัครา (ดูตารางประกอบ)

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า บริษัท อัคราฯ ที่ถูกปิดไปตามคำสั่ง ม.44 นั้น หากทั้ง 2 ฝ่ายสามารถเจรจากันได้และกระทรวงอุตฯ เปิดให้ดำเนินการต่อไปได้โดยได้รับใบอนุญาตโรงประกอบโลหกรรม เหมืองแร่ทองคำชาตรีจะมีแร่คงเหลือ 35.4 ล้านตัน ซึ่งแบ่งเป็นแร่ทองคำ และแร่เงิน มีมูลค่าดังนี้

Reserves Ore คือปริมาณแร่ที่สามารถพัฒนามาใช้ประโยชน์ได้ อยู่ในแผนการทำเหมือง สามารถนำขึ้นมาพัฒนา และมีความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์ ประกอบด้วย

1. แร่ทองคำ 890,000 ออนซ์ ปัจจุบันทองคำมีมูลค่าออนซ์ละประมาณ 1,300 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 37,024 ล้านบาท

2. แร่เงิน 8,900,000 ออนซ์ ปัจจุบันมีมูลค่าออนซ์ละประมาณ 15 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 4,272 ล้านบาท

Mineral Resources คือปริมาณแร่สำรวจไว้และมีศักยภาพในการพัฒนา แต่ยังไม่ได้อยู่ในแผนการทำเหมือง ยังไม่มีการประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจ หรือมีการประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจแล้ว แต่ยังไม่คุ้มค่าในขณะมีการประเมิน ประกอบด้วย แร่ทองคำ 3,420,000 ออนซ์ และแร่เงิน ประมาณ 29,000,000 ออนซ์

ทั้ง Reserves Ore และ Mineral Resources คาดว่าจะเป็นข้อมูลที่ทำให้บริษัท คิงส์เกตฯ ยังต้องการเข้ามาทำธุรกิจเหมืองทองคำในประเทศไทย

อย่างไรก็ดี เมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดี กพร. พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยม อบต.เขาเจ็ดลูก ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร และอบต.ท้ายดง ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ เพื่อสอบถามถึงผลกระทบหลังการปิดเหมืองทองอัครา โดยให้กำนัน นายก อบต. รองนายก อบต. ปลัด อบต. ผู้นำ 3 หมู่บ้านที่ติดเหมือง เช่นหมู่ 3 หมู่ 8 หมู่ 9 เข้าประชุมหารือร่วมกันที่ อบต.เขาเจ็ดลูก และเดินทางไปที่ อบต.ท้ายดง ก็ได้รับคำตอบจากผู้นำชุมชนเช่นเดียวกันคืออยากให้เหมืองอัครากลับมาเปิด เพราะชาวบ้านอยู่กันอย่างลำบาก ขาดรายได้

“ผู้นำบอกเป็นเสียงเดียวกันอยากให้เหมืองอัครากลับมาเปิด ชาวบ้านส่วนใหญ่ตกงาน ทิ้งบ้านไปทำงานในเมืองใหญ่ มีปัญหาเศรษฐกิจรุนแรง ยาเสพติดเพิ่มขึ้น ในชุมชนก็ดูเงียบเหงามีแต่คนแก่กับเด็กเล็ก”

ดังนั้น กพร.จึงเป็นหน่วยงานที่รับรู้ปัญหาในทุกๆ ด้าน ทั้งในด้านผลกระทบต่อระบบสุขภาพ และระบบเศรษฐกิ
จที่ชาวบ้านต้องเผชิญ รวมไปถึงข้อมูลรายได้ค่าภาคหลวงแร่ที่บริษัท อัคราฯ ต้องจ่ายให้รัฐตั้งแต่ปี 2544-2559 เป็นจำนวนเงิน 4,593 ล้านบาท และเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ใต้ดินทั้ง 14 แปลงที่จะสร้างรายได้ให้กับบริษัท คิงส์เกตฯ ในอนาคต

'เหมืองอัครา' จึงกลายเป็นเผือกร้อนในมือนายสุริยะ ซึ่งกำกับดูแล กพร.ว่าจะตัดสินใจเดินทางไหน ระหว่างการแสวงหาข้อยุติและอนุมัติเปิดเหมืองอัคราให้ดำเนินการต่อไปได้ หรือปล่อยให้ไปสู้กันในขั้นอนุญาโตฯ

แต่ไม่ว่าจะเดินทางไหนต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติไว้มากที่สุด เพราะต้องไม่ลืมว่า บรรดาเอ็นจีโอเจ้าเก่า ก็เตรียมตัวขยับหากรัฐอนุมัติให้มีการเปิดเหมืองอัครา แต่ถ้าปล่อยให้เหมืองถูกปิดเช่นนี้ชาวบ้านตาดำๆ ก็ต้องทนอด และอดทนกับภาวะเศรษฐกิจที่แสนยากลำบากกันต่อไป

ทั้งหมดนี้จึงเป็นการท้าทายการตัดสินใจของ รมว.อุตสาหกรรม ที่ชื่อ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ จริงๆ !!



กำลังโหลดความคิดเห็น