xs
xsm
sm
md
lg

'บิ๊กตู่' บ่นท้อแต่ไม่ถอย รื้อ ส.ป.ก. 4-01ทำได้มากกว่าเกษตร!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


'บิ๊กตู่' บ่นท้อ แต่ไม่ถอย เกลียดวันจันทร์ถึงขั้นไม่อยากไปทำงาน พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาที่ดินของรัฐ เพื่อให้ราษฎรได้มีที่ทำกิน ต่อสายถึง 'พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช. ให้เร่งออกกฎหมาย 3 ฉบับ ป้องกัน 'รัฐบาลหลังเลือกตั้ง' นำที่ ส.ป.ก.4-01 กว่า 30 ล้านไร่ ไปออกโฉนด ชี้ขีดแผนที่ใหม่ 1:4,000 (One Map) หากประกาศใช้ป่วนทั้งประเทศ ขณะที่สั่งหน่วยงานรัฐหาช่องเพิ่มมูลค่าที่ดินรัฐและใช้ประโยชน์สูงสุดไม่ใช่ทำได้แค่การเกษตร โดยเฉพาะที่ ส.ป.ก.กว่า 10 ล้านไร่มีสภาพเป็นเมือง ต้องแก้กฎหมายสร้างรายได้ให้รัฐและประชาชน!

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 22 มกราคม ที่ผ่านมานั้น นายกฯ ได้บ่นถึงปัญหาต่างๆ ในการทำงานของรัฐบาลแต่สังคมไม่เข้าใจ ถึงกับบ่นท้อ เพราะต้องอดทนทุกวัน แต่เมื่อรับภารกิจมาแล้วก็ต้องทำให้ถึงที่สุด

“ผมท้อแท้ บางทีวันจันทร์ไม่อยากมาทำงาน เจอแต่ปัญหาแย่ๆ ไร้สาระ ความรู้สึกก็เลยเหมือนกับสมัยเป็นเด็กที่ไม่ชอบวันจันทร์ ที่ต้องมาโรงเรียน  แต่พอถึงวันศุกร์ก็กระดี๊กระด๊า วันศุกร์แล้วโว้ย แต่ก็อยากบอกให้ทุกคนรู้ว่าผมตั้งใจทำเต็ม 100”

พร้อมกับบอกว่าเหมือนเรื่องปัญหาที่ดินที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติพยายามจะแก้ปัญหาที่ทำกินให้กับราษฎรแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกัน โดยได้สั่งการในที่ประชุมว่าการแก้ปัญหาที่ดินต้องแก้ทั้งระบบ ต้องคิดใหม่ สร้างระบบใหม่ แต่ต้องยึดหลักการของกฎหมาย และความสุจริตเป็นหลัก ปัจจุบันกำลังเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ก็นำเรื่องที่ดินมาหาเสียงหากได้เป็นรัฐบาลก็จะมีการออกโฉนดที่ดินให้กับราษฎร 

“หาเสียงกันเป็นรัฐบาลจะปรับ ส.ป.ก.4-01 ให้เป็นโฉนด ทำแบบนี้มันก็หงายท้อง เจ๊งกันไปหมด ที่ดินก็กลายเป็นของนายทุน ซึ่งเราก็เห็นกันอยู่แล้ว ว่าเกษตรกรถูกยึดที่ดิน เป็นหนี้เป็นสิน ที่ดินก็นำไปขายฝาก จำนอง แล้วก็มาบุกรุกที่ดินของรัฐ แก้กันไม่จบไม่สิ้น”

ดังนั้นจึงต้องสกัดหรือป้องกันไว้ก่อน ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของที่ดิน ต่างก็มีกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ จะต้องเร่งดำเนินการหาวิธีป้องกันซึ่งจะต้องยึดหลักการคือ ที่ดินที่รัฐจัดหาให้กับราษฎรจัดสรรให้เข้าทำกินได้แต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์เด็ดขาด
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ในการประชุม คทช. ยังมีการรายงานความคืบหน้ากฎหมาย 3 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน มีสาระสำคัญคือ การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เพื่อยกระดับการทำงานของ คทช. ที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี โดย คทช.จะทำหน้าที่ในการกำกับดูแลกำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ และเพื่อมิให้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติและคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติตามประมวลกฎหมายที่ดินมีความซ้ำซ้อนกัน จึงได้มีการปรับปรุงประมวลกฎหมายที่ดินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ

“กฎหมายนี้จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน และมีการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เป็นไปอย่างเหมาะสมตามศักยภาพของที่ดินและสร้างประโยชน์สูงสุด

ส่วนร่างพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่...) พ.ศ....ที่มีการเสนอขอจัดตั้งส่วนราชการขึ้นเป็นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ มีฐานะเทียบเท่ากรม ซึ่งจะมีผลต่อการจัดสรรอัตรากำลังนั้น สำนักงาน ก.พ.ร. โดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการฯ (อ.ก.พ.ร.ด้านเศรษฐกิจ) แจ้งว่าในการประชุมของ อ.ก.พ.ร.ฯ มีมติไม่เห็นด้วยที่จะจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติเป็นหน่วยงานระดับกรม เนื่องเพราะปริมาณงานยังไม่เหมาะสมเพียงพอที่จะจัดตั้งเป็นระดับกรมได้ อีกทั้งมีหน่วยงานรัฐที่จะขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่ดินให้กับประชาชนและมีคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรที่ดินของประเทศ 21 คณะ อยู่ใน 11 กระทรวง

ในประเด็นนี้ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ (บิ๊กเต่า) รมว.ทรัพยากรฯ ซึ่งเป็นรองประธาน คทช. ได้ชี้แจงถึงเหตุผลต้องเป็นระดับกรม ซึ่ง ก.พ.ร.ก็นั่งอยู่ในที่ประชุมก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลงตามที่ 'บิ๊กเต่า' เสนอ ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ย้ำว่าคนที่จะมานั่งเป็นอธิบดี หรือ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ก็จะต้องได้คนที่มีความรู้ความสามารถและเชี่ยวชาญมาเป็นผู้บริหารจึงจะทำให้งานเดินได้ ไม่ใช่เอาใครมานั่งก็ได้
 พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์  รมว.ทรัพยากรฯ
อย่างไรก็ดี ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธาน คทช. ได้มีการซักถามเพิ่มเติมประเด็นสำคัญคือการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1:4,000 (One Map) ที่จะใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลที่ดินของรัฐต้องเข้าไปตรวจสอบแนวเขต โดยเฉพาะแนวเขตที่ดินของรัฐที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน และให้ไปแก้ไขแผนที่แนบท้ายกฎหมายให้สอดคล้องกับผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตมาตราส่วน 1:4,000 ให้เรียบร้อย

 “เรื่องของ One Map คือเครื่องมือในการทำงาน ขอให้เรื่องนี้เป็นการภายใน เพราะหากประกาศเรื่อง One Map ออกไป จะโกลาหล วุ่นวายกันแน่ๆ และปัญหาเรื่องที่ดินจะมีมากกว่าเดิม”

แหล่งข่าวบอกว่า เรื่องของมาตราส่วน 1:4,000 (One Map) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะกรรมการ คทช. ระบุว่าในการทำงานของคณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ (กปนร.) มาตราส่วน 1:4,000 (One Map) นั้น การที่ที่ดินของประชาชนหรือนายทุน ไปทับซ้อนกับที่ดินของรัฐตามOne Map เป็นเรื่องที่เกิดมาในอดีต ซึ่งอาจจะเกิดจากด้านเทคนิค หรือความไม่โปร่งใสของเจ้าหน้าที่ ก็จะต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบ

“ถ้ายึดถือความถูกต้องเป็นหลัก จะเกิดความปั่นป่วน จะเกิดการฟ้องร้องตามมามากมาย”

พล.อ.อนุพงษ์ ยกตัวอย่างว่า มีการไปซื้อที่ดินต่อมาจากเจ้าของเดิมโดยบริสุทธิ์ใจ และเสียค่าธรรมเนียมที่ดินทุกอย่างตามกฎหมายถูกต้อง และเมื่อนำที่ดินนั้นไปลงทุน ทั้งนายทุนในประเทศหรือจากต่างประเทศ หากรัฐจะไปเพิกถอนเอกสารสิทธิเหล่านี้ จะเกิดความระส่ำระสายแน่นอน เพราะที่ดินประเภทนี้มีจำนวนมหาศาล

"กปนร. จะเขียนจะขีดอย่างไร แต่ต้องให้จบ คือจะต้องให้หน่วยงานเจ้าของที่ดินสามารถตรวจสอบได้ ถ้ามีหลักฐานก็ให้ทำการถอดถอนเป็นแปลงๆ ไป แต่ถ้าไม่มีหลักฐานก็ต้องปล่อยให้เป็นที่เอกชนไป ถ้ายึดแนวทางนี้จะไม่วุ่นวาย แต่ถ้าขีดเส้นแดงOne Map แล้วไปประกาศตูม จะกระทบกันไปหมด
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย
แหล่งข่าวบอกว่า บิ๊กตู่ ถอนหายใจในเรื่องปัญหาที่ดินเป็นช่วงๆ และบอกต้องรีบเร่งให้ทุกอย่างสำเร็จ โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับ ที่จะสกัดไม่ให้นักการเมืองเอาไปออกโฉนดตามที่มีการหาเสียง และเป็นการช่วยเหลือประชาชนได้มีที่ดินทำกินที่สามารถตกทอดหรือเป็นมรดกได้ แต่ไม่มีการให้กรรมสิทธิ์

“กฎหมายทั้ง 3 ฉบับ จะต้องเร่งออกให้ทัน ตอนนี้อยู่ในขั้นกรรมาธิการ ให้รัฐมนตรีสำนักนายกฯ ติดต่อแจ้งประธาน สนช. (ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย) ให้เร่งออกให้ทัน ไม่งั้นมีปัญหาวุ่นวายใหญ่โต เพราะนักการเมืองกำลังเอาเรื่องที่ดินไปหาเสียง ถ้ากฎหมายทั้ง 3 ฉบับไม่ออก ทุกอย่างที่ทำมาเละหมด หากมีการเอาที่ดินไปให้กรรมสิทธิ์ จำนอง จำนำไปกันใหญ่”

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขอให้คณะกรรมการ คทช.ที่มาจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งกระทรวงทรัพย์ มหาดไทย พัฒนาสังคมฯ เกษตรฯ กลาโหม และกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งรัฐมนตรีและข้าราชการประจำ รวมไปถึงผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องช่วยกันคิดใหม่ ทำใหม่ ในการแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้กับราษฎร

“เป็นอย่างนี้กันมาตลอด ที่ป่าจัดให้ ที่ ส.ป.ก.4-01 จัดให้ ธนาคารที่ดินจัดให้ ก็ทำแต่เกษตร เพราะกฎหมายทุกฉบับระบุไว้ว่าต้องทำเกษตรกรรม แล้วเป็นไงเจ๊งกันทั้งหมด แถมยังเป็นหนี้หนักกว่าเดิม ไปช่วยกันคิดว่า ต่อไป ที่ ส.ป.ก.ที่รัฐยึดมา หรือซื้อมา มีความเหมาะสมที่จะทำเกษตรต่อไปหรือไม่ ถ้าไม่เหมาะ เราจะทำกันอย่างไร ที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

พล.อ.ประยุทธ์ บอกอีกว่า ที่ดินของรัฐมีหลายประเภทที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพในการจัดที่ดินทำกินให้ราษฎร ไม่ว่าจะเป็นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่ป่าชายเลน ที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ฝ่ายปกครองและท้องถิ่นดูแล ที่นิคมสหกรณ์ ที่นิคมสร้างตนเอง และที่เขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.)แต่ละแห่งก็มีกฎหมายเฉพาะเป็นของตัวเอง ก็ไปสำรวจที่ดินในความรับผิดชอบดูว่าอะไรไม่เหมาะสมหรือควรเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น นอกจากด้านการเกษตรได้หรือไม่

“ไปช่วยกันคิด หาวิธีปลดล็อกที่ดินที่กฎหมายเขียนไว้ให้ที่ดินเหล่านี้ทำได้เฉพาะการเกษตร แต่วันนี้ที่ดินไม่เหมาะทำการเกษตร และสมาชิกขอสละสิทธิ์ หรือขอคืน ไม่เอา เราจะเอาไปทำอย่างอื่นเป็นการเพิ่มมูลค่าได้ไหม เช่นไปทำพลังงานลม และเอาเงินเหล่านี้กลับมาตอบแทนผลประโยชน์ให้กับคนเหล่านี้ แทนที่จะกู้หนี้ ค้ำประกันมาทำเกษตร ก็เจ๊งเหมือนเก่า”

โดยเฉพาะที่ดิน ส.ป.ก. ที่ได้จากกรมป่าไม้ 40 ล้านไร่ ซึ่งปัจจุบัน ส.ป.ก ได้มีการเข้าไปสำรวจและประเมินแล้วพบว่ามีที่ดิน ส.ป.ก.ถึง 1 ล้านไร่ ที่มีสภาพเป็นเมืองไปแล้ว และไม่เหมาะทำการเกษตร ก็ไปพิจารณาดูว่าจะจัดการอย่างไร และนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.และ คทช.ต่อไป

แหล่งข่าวบอกว่า การที่บิ๊กตู่เสนอให้มีการปลดล็อกที่ดินของรัฐให้สามารถทำได้มากกว่าการเกษตร และให้หน่วยงานต่างๆ ไปหาแนวทางดำเนินการนั้น โดยบอกว่าช่องทางแรกที่ทำได้คือการไปแก้กฎหมายให้ทำได้มากกว่าการเกษตร ก็เป็นแนวทางหนึ่ง เช่น ที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ก็ไปแก้ที่ พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2518ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษตรเป็นหลักให้สามารถทำอย่างอื่นได้ด้วย

ประเด็นนี้ 'บิ๊กเต่า' พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ก็ได้บอกในที่ประชุมว่ากระทรวงทรัพย์ กำลังพิจารณาแก้กฎหมายที่จะสามารถนำที่ดินป่าชายเลนที่วันนี้ได้เปลี่ยนแปลงทางกายภาพ และมีสภาพเป็นเมืองไปแล้วที่จังหวัดระนองกว่า 500ไร่ มาดำเนินการตามที่บิ๊กตู่ให้นโยบายไว้ และจะนำเสนอรูปแบบเข้าสู่ที่ประชุม คทช.ในครั้งต่อไป

>


กำลังโหลดความคิดเห็น