xs
xsm
sm
md
lg

อจ.มธ.ชี้! พรรคใหม่ทุนหนา มีโอกาสแจ้งเกิดในสนามเลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ฟันธง! พรรคคนรุ่นใหม่-ทุนหนา มีสิทธิ์เกิด ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก-กลุ่มคนเป็นกลางจะแห่เทคะแนนให้เหมือนปรากฏการณ์พรรคชูวิทย์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ชี้เด็กที่โตในยุคโซเชียลขยาดเผด็จการ เบื่อการเมืองแบบเก่า ขณะที่กฎหมายใหม่ส่งผลทุกพรรคแห่ส่งสมัครระบบเขตทั่วประเทศเพื่อหวังชิงสัดส่วนคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พร้อมแนะพรรคเก่าเร่งปรับตัว

ในห้วงเวลาที่นับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง ได้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจกับการเปิดตัวของพรรคคนรุ่นใหม่หลายต่อหลายพรรคที่เสนอตัวเข้ามาเป็นทางเลือก และพร้อมจะต่อกรกับพรรคการเมืองเก่าซึ่งต่างเร่งขับเคลื่อนทุกกลยุทธ์เพื่อรักษาฐานที่มั่นด้วยหวังกลับเข้ามาในสภาหินอ่อน ส่วนว่าพรรคเล็กของคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะเริ่มก้าวเดินบนกติกาการเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญ 2560 จะมีโอกาสฝ่าด่านพรรคใหญ่เข้ามาได้หรือไม่ และมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่จะได้นั่งในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร “ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้วิเคราะห์โอกาสและทิศทางการเมืองของพรรคคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นทางเลือกในอนาคต
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผศ.ดร.ปริญญามองว่า เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งหน้าที่คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงต้นปี 2562 นั้นเป็นช่วงเวลาที่คนรุ่นใหม่ซึ่งเพิ่งจะมีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกมีจำนวนมากกว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาถึงเท่าตัว ด้วยปกติการเลือกตั้งแต่ละครั้งห่างกันไม่เกิน 4 ปี แต่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2554 นับถึงปี 2562 ก็กินเวลานานถึง 8 ปี เพราะฉะนั้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า คนที่อายุเกิน 18 ปี และมีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก รวมแล้วจะมีจำนวนถึง 7-8 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วยคนที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2554 และคนที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2562 จะมีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทย

เนื่องจากคนรุ่นใหม่เหล่านี้เติบโตมาในยุคที่พ่อแม่พูดคุยด้วยเหตุผล พ่อแม่เลิกตีเลิกบังคับลูกแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าเป็นคนละยุคกับที่ คสช.และ สนช.เติบโตมาแบบถูกพ่อแม่บังคับ

อีกทั้งคนกลุ่มนี้ยังอยู่ในยุคของสื่อโซเชียลมีเดียที่เขาสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี ปัจจุบันทุกคนสามารถมีเฟซบุ๊กเป็นของตัวแอง เป็นแอดมินเอง มีแพลตฟอร์มที่สามารถโพสต์ข้อความ โพสต์รูป โพสต์คลิป แม้กระทั่งไลฟ์สดได้ทันที มีโทรศัพท์มือถือซึ่งเป็นเครื่องสื่อสารราคาถูก ขณะที่สื่อต่างๆ ทั้งวิทยุ ทีวี หนังสือพิมพ์ต่างก็ต้องเชื่อมโยงกับสื่อโซเชียล ซึ่งสิทธิในการแสดงความคิดเห็นในโลกโซเชียลนั้นทุกคนมีสิทธิเท่ากันหมด ไม่ว่าจะร่ำรวย มียศศักดิ์อะไรทุกคนก็มีสิทธิหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากัน กดไลก์ได้ 1 ไลก์เท่ากัน ใครจะคอมเมนต์โต้เถียงอะไรก็ไปว่ากันในเฟซบุ๊ก นอกจากนั้นเขายังสามารถค้นหาข้อมูลและข้อเท็จจริงจากทั่วโลกทำให้มีมุมมองที่เปิดกว้าง

ขณะเดียวกัน คนเหล่านี้ยังได้เผชิญสถานการณ์ในช่วงที่บ้านเมืองอยู่ภายใต้การปกครองของ คสช. และ ม.44 ทำให้เขาได้เรียนรู้ถึงการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ สิ่งที่เรียกว่าระบอบเผด็จการนั้นไม่ใช่แค่เรื่องราวสมัย 14 ตุลา หรือพฤษภาทมิฬ 35 ที่ได้ฟังจากการบอกเล่า แต่เป็นสิ่งที่เขาได้สัมผัสด้วยประสบการณ์จริง ซึ่งแน่นอนว่าความรู้สึกอึดอัดจากการตีกรอบภายใต้การปกครองของ คสช.จึงนำมาซึ่งความรู้สึกอัดอั้นและต้องการถูกปลดปล่อย

อย่างไรก็ดี คนกลุ่มนี้ก็ยังไม่แน่ใจกับประชาธิปไตยแบบที่มีนักการเมืองในสภาเหมือนที่ผ่านมาว่าดีจริงหรือไม่ ดังนั้น การที่มีพรรคของคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมาจึงเป็นทางเลือกใหม่ที่มีศักยภาพพอที่จะดึงคะแนนเสียงจากคนกลุ่มนี้ไปได้อย่างมาก

คนรุ่นนี้เขาเติบโตมากับเสรีภาพในการแสดงความเห็นในโซเชียลฯ โตมากับการแลกเปลี่ยนทัศนะที่แตกต่าง มีการปะทะกันทางความคิด ซึ่งเสรีภาพในการแสดงออกและความเท่าเทียมของผู้คน และการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายมันคือรากฐานของประชาธิปไตย เมื่อมาเจอ ม.44 ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่มีคำอธิบาย ไม่มีเหตุผลรองรับเพียงพอ แน่นอนว่าเขาก็ย่อมไม่ชอบใจ ในเมื่อเผด็จการนั้นกระทบต่อสิทธิของพวกเขาอย่างชัดเจน

ส่วนพรรคการเมืองเก่า ถ้ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง พรรคการเมืองหน้าใหม่ จะมีโอกาสมากที่จะได้คะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่

ไม่ได้บอกว่าคนรุ่นใหม่จะเลือกพรรคการเมืองใหม่เสมอไป มันอยู่ที่ว่านับจากนี้พรรคการเมืองเก่าจะปรับตัวอย่างไรหรือไม่
นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาปรากฏการณ์การเลือกพรรคการเมืองหน้าใหม่ด้วยเหตุผลที่เบื่อพรรคการเมืองเก่าก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ เมื่อครั้งที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ จัดตั้งพรรครักประเทศไทย ขึ้นเมื่อปี 2554 ซึ่งครั้งนั้นชูวิทย์ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งเฉพาะระบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 12 คน แต่พรรคดังกล่าวได้รับเลือกเข้าสู่สภาถึง 4 คน ด้วยคะแนน 990,000 คน ซึ่งกลุ่มคนที่เลือกพรรคของนายชูวิทย์ก็คือคนรุ่นใหม่ที่เบื่อการเมืองเก่าๆ เบื่อการทะเลาะกันของ 2 ฟาก และที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือกลยุทธ์ในการส่งผู้สมัครของนายชูวิทย์ โดยเขาไม่ส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลยเนื่องจากเขารู้ดีว่าการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตนั้นเป็นสนามของพรรคอันดับ 1 และ 2 เท่านั้น เพราะในระบบแบ่งเขตจะมีผู้ชนะแค่คนเดียว ซึ่งคนที่มีสิทธิก็คือพรรคใหญ่หรือพรรคที่มีฐานเสียงในพื้นที่

ขณะที่พรรคของนายชูวิทย์ไม่มีทั้งสองอย่างจึงเลือกส่งสมัครแค่แบบบัญชี โดยไม่ส่งแบบแบ่งเขตเลย และการเลือกตั้งครั้งนั้นได้เกิดปรากฏการณ์ที่ต้องบันทึกไว้คือบัตรเสียในการเลือกตั้งปี 2554 มากเป็นประวัติการณ์ คือมากถึง 5% ของผู้ลงคะแนนทั้งหมด ซึ่งครึ่งหนึ่งของบัตรเสียเกิดจากคนกาเลือกเบอร์ 5 ให้พรรครักประเทศไทยของนายชูวิทย์ ในการลงคะแนนระบบแบ่งเขต ขณะที่พรรคของนายชูวิทย์ไม่ได้ส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขต บัตรเลือกตั้งดังกล่าวจึงกลายเป็นบัตรเสีย

ทั้งนี้ เชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า ปรากฏการณ์แบบกรณีพรรครักประเทศไทยของนายชูวิทย์จะเกิดขึ้นอีก และผลที่เกิดขึ้นจะมากกว่าเดิมเนื่องจากการเลือกตั้งนั้นทิ้งช่วงมานาน ผู้คนจึงสะสมความรู้สึกอยากเลือกตั้งและจำนวนคนที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกก็เพิ่มมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี อีกประเด็นที่น่าสนใจคือกฎหมายเลือกตั้งฉบับของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 นั้นพรรคเล็กไม่มีโอกาสเลือกส่งสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อและจำกัดพื้นที่หาเสียงเฉพาะในกรุงเทพมหานคร โดยผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อสามารถรับคะแนนได้จากทุกเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ เหมือนกับการเลือกตั้งในปี 2554

เนื่องจากการเลือกตั้งภายใต้กฎหมายเลือกตั้งของนายมีชัยนั้น ไม่มีการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ มีเฉพาะการลงคะแนนเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเท่านั้น แต่ก็ยังมี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออยู่ โดยกำหนดให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขต จำนวน 350 คน และมี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน แต่ไม่มีการลงคะแนนเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ
นายมีชัย ฤชุพันธุ์
หากจะถามว่าแล้ว ส.ส.บัญชีรายชื่อมาจากไหน ก็มาจากการนำคะแนนแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมาคำนวณเป็นจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ยกตัวอย่าง สมมติการเลือกตั้งครั้งหน้ามีผู้มาลงคะแนนเท่ากับปี 2554 คือ 75% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด คาดว่าในปี 2562 จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะอยู่ที่ 52 ล้านคน 75% ของ 52 ล้าน ก็เท่ากับประมาณ 38 ล้านคน หากพรรค ก. ส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (จะครบทุกเขตหรือไม่ก็ได้) แล้วได้คะแนนแบบแบ่งเขตฯ รวมทั้งประเทศ 10% หรือเท่ากับมีผู้ลงคะแนนให้ 3.8 ล้านคน พรรค ก.ก็จะได้ ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ 10% ของ 500 คน หรือเท่ากับ 50 คน จากนั้นก็ดูว่าพรรค ก. ได้ ส.ส.แบ่งเขตกี่คนแล้ว สมมติได้ 20 คน ที่เหลืออีก 30 คนก็จะเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ

โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขต 350 คน แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน เมื่อนำจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 500 คน หารจำนวนผู้ที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งหน้าซึ่งน่าจะอยู่ที่ประมาณ 38 ล้านคน ก็เท่ากับว่าถ้าได้คะแนนเสียง 80,000 คะแนน จะได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน ถ้าได้คะแนนเสียง 800,000 คะแนน จะได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 10 คน ดังนั้นถ้าพรรคมีทุนทรัพย์มากพอในการส่งผู้สมัครให้มากที่สุดก็มีสิทธิจะได้ ส.ส.มากขึ้นตามไปด้วย

“กฎหมายเลือกตั้งปี 2560 กำหนดไว้ว่าจะได้มาซึ่ง ส.ส.แบบแบ่งเขต ผู้สมัครที่ได้คะแนนในเขตนั้นมากที่สุดเท่านั้นจึงจะได้รับเลือก แต่การได้มาซึ่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจะใช้วิธีนำคะแนนที่พรรคต่างๆได้รับจากการลงคะแนนเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขตทั้งประเทศมาคำนวณ แม้ในเขตนั้นไม่ได้ ส.ส.แบบแบ่งเขต แต่คะแนนที่เลือก ส.ส.ของพรรคนั้นจะถูกนำไปรวมกันทั้งประเทศ

ดังนั้น เมื่อทั้งประเทศมีเขตเลือกตั้ง 350 เขต วิธีการที่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้มากที่สุดก็คือต้องส่ง ส.ส.ระบบแบ่งเขตให้มากที่สุด เพื่อที่คนจะมีโอกาสลงคะแนนให้พรรคได้มากที่สุด แต่ถามว่าตั้ง 350 เขต ต้องใช้เงินขนาดไหน ซึ่งตรงนี้จะทำให้พรรคเล็กเสียเปรียบเพราะพรรคเล็กส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องงบประมาณและความสามารถในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ดังนั้นพรรคเล็กที่มีทุนหรือมีผู้สมัครพร้อมจะควักเงินเองเท่านั้นจึงจะมีโอกาส”

อย่างไรก็ดี ในส่วนของพรรคการเมืองขนาดใหญ่อย่างประชาธิปัตย์และเพื่อไทยนั้นจะประสบกับปัญหาใหม่คือเมื่อการลงคะแนนเลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขตถูกนำมาคิดเป็นสัดส่วนในการคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จะทำให้มีผู้สมัครเข้ามาลงเลือกตั้งเพื่อแย่งคะแนนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เมื่อนำจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตไปรวมกับ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อแล้ว พรรคใหญ่จะมีจำนวน ส.ส. ลดลง และเชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคขนาดกลางอย่างภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนา  จะส่งผู้สมัครในระบบเขตครบทุกเขตเลือกตั้งเพื่อหวังชิงสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญ 2560 ยังระบุว่าพรรคการเมืองจะต้องระบุชื่อผู้ที่จะเสนอให้เข้าสู่การพิจารณาคัดเลือกของรัฐสภาเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย โดยการเลือกนายกรัฐมนตรีรอบแรกจะมาจากรายชื่อที่พรรคเสนอเท่านั้น พร้อมทั้งมีเงื่อนไขว่าพรรคที่จะเสนอชื่อนายกฯ ได้ต้องมี ส.ส.อย่างน้อย 5% หรือเท่ากับ 25 คน

ดังนั้นหมายความว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 บัตรเลือกตั้งใบเดียวที่ประชาชนลงคะแนนเพื่อเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขตนั้น จะมีผลต่อทั้งการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และมีผลต่อการเลือกนายกรัฐมนตรี

อีกปัญหาที่จะตามมาคือบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะยาวมากเพราะทุกพรรคจะส่งผู้สมัครเกือบทุกเขตเพื่อหวังชิงคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ นอกจากนั้นเบอร์ผู้สมัครแบบแบ่งเขตของพรรคเดียวกันแต่คนละเขต คนละจังหวัด ก็ไม่ใช่เบอร์เดียวกัน ประชาชนจะเกิดความสับสนอลหม่านมาก

แม้ว่าคนรุ่นใหม่ และกลุ่มคนที่วางตัวเป็นกลางดูจะเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่การเลือกตั้งครั้งหน้าจะออกมาเป็นเช่นไร พรรคไหนจะรอด พรรคไหนจะร่วง ยังคงต้องขอดูอีกหลายปัจจัย เพราะนาทีนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้!



กำลังโหลดความคิดเห็น