xs
xsm
sm
md
lg

เปิดกลุ่มผลประโยชน์ยุค “คสช.” แรงฉุดรัฐบาล “บิ๊กตู่” ขาลง!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เกาะติดปัจจัยสำคัญฉุดรัฐบาลบิ๊กตู่ ก้าวสู่ช่วงขาลง ไม่ใช่แค่ธรรมชาติ แต่เกิดจากกลุ่ม “ทหาร-คสช.-สนช.” ยิ่งอยู่นาน ยิ่งสร้างกลุ่มผลประโยชน์ให้แก่พวกพ้อง โดยเฉพาะงานช้างจัดสรร “ส.ว.250 คน” ที่จะมาทำหน้าที่อุ้มนายกฯ สืบทอดอำนาจ รวมไปถึงแก๊งนอมินีทำธุรกิจ ระบุรัฐบาลต้องประเมินรอบด้าน ทั้งม็อบและแรงกดดันจากต่างประเทศประกอบการตัดสินใจให้มีการเลือกตั้ง หลังได้บทเรียนเลือกตั้งปี 2550 เมื่อ “พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” รัฐประหารและจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วซึ่ง “ทักษิณ ชินวัตร” ยังสามารถชนะเลือกตั้งได้

แม้กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังยอมรับแล้วว่าเวลานี้รัฐบาลเป็นช่วงขาลงถือเป็นเรื่องปกติของทุกๆ รัฐบาลเมื่อทำงานมา 3 ปีก็จะมีปัญหาเพิ่มขึ้น อาจจะมีความขัดแย้งสูง มีคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์เกิดขึ้น คำอธิบายของนายกฯ ตู่นั้นไม่ได้กล่าวขึ้นมาลอยๆ แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในทางการเมือง

แหล่งข่าวจากรัฐบาล บอกว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลขาลงนั้น ประเด็นแรกเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแบบธรรมชาติของการเมือง จะพบว่าในช่วง 2 ปีแรกจะไม่ค่อยมีปัญหา ใครมาก็มักจะได้เสียงตอบรับ แต่เมื่ออยู่ไปนานๆ ก็จะเริ่มมีปัญหาสะสม จะเริ่มเห็นผู้ที่เสียผลประโยชน์ และอีกฝ่ายได้ผลประโยชน์ อย่างกรณีนี้ จะเห็นว่าผู้ที่เสียผลประโยชน์ชัดเจนคือฝ่ายการเมือง ยิ่ง คสช.อยู่นานๆ เท่าใดและไม่รีบจัดการเลือกตั้ง นักการเมือง พรรคการเมืองจะยิ่งเสียผลประโยชน์และหมดโอกาสเข้ามาบริหารประเทศเท่านั้น

ประเด็นต่อมา เมื่อทหาร-คสช.-สนช.อยู่นานเท่าไหร่ ก็เกิดเป็นกลุ่มผลประโยชน์ตามมาทั้งทางตรงและทางอ้อม พวกนี้ก็จะมองเห็น “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” เป็นดาวฤกษ์ ต่างพากันมาห้อมล้อมเพื่อสามารถใช้อำนาจของบิ๊กตู่และปิ๊กป้อมไปสร้างผลประโยชน์ และเมื่อหัวหน้ากลุ่มผลประโยชน์เสนออะไรก็จะมีแรงหนุนเพื่อได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่กลุ่มต้องการ

“บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม ก็เป๋ๆ ไปหลายเรื่อง แต่เมื่อเป๋ไปแล้วก็ต้องรับผิดชอบปัญหาที่เกิดขึ้น”

โดยกลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวพันกับ ทหาร-คสช.-สนช.ในเวลานี้และไม่อยากจะให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วเพราะมีการดำเนินการบางอย่างยังไม่เสร็จสิ้น โดยเฉพาะการจัดสรรคนที่จะมาเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว) จำนวน 250 คน และ ส.ว.กลุ่มนี้แหละที่จะเป็นกำลังหลักให้กับนายกรัฐมนตรีคนนอกและมีธงไว้แล้วว่าจะต้องเป็น “บิ๊กตู่”

ส.ว.ยุค คสช.จะไม่เหมือน ส.ว.ในยุคการเมืองที่ผ่านมา เพราะยุคนี้จะมีอำนาจพิเศษคือโหวตได้เหมือนกับ ส.ส. จึงจำเป็นต้องได้คนที่ไว้ใจและสั่งได้ เข้ามาทำหน้าที่”

สำหรับบัญชีรายชื่อว่าที่ ส.ว.ที่มีการรู้กันภายในนั้นประกอบด้วย 1. กลุ่มที่เพิ่งจะเกษียณจาก 4 เหล่าทัพ 2. กลุ่มข้าราชการบำนาญ 3. กลุ่มเพื่อนร่วมรุ่นที่กุมอำนาจอยู่ 4. กลุ่มที่มีต้นทุนสูงในสังคม มีภาพลักษณ์ดี เป็นนักสู้ รู้ลึกและรู้จริง เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นจะได้ใช้คนกลุ่มนี้ไปชี้แจงได้ 5. ประเภทไว้โต้สื่อ คล่องแคล่ว

“ตอนนี้มีการเข้าแถวรายชื่อไว้แล้ว แต่จะมีการดึงเข้าดึงออกบางคนที่เชื่อว่ายังมีความสำคัญต้องนำเข้ามา ส่วน

เมื่อบัญชีรายชื่อว่าที่ ส.ว.ยังสามารถชักเข้าชักออกได้บ้าง ทำให้บรรดาหัวหน้ากลุ่มที่เป็นนายทหารระดับสูงที่ต้องการดึงเพื่อนๆ ภาคเอกชนที่เคยเป็นเพื่อนร่วมรุ่นใน วปอ.เข้าไปเป็น ส.ว.ยุคต่อไปนั้น จึงพยายามให้เพื่อนสร้างผลงาน และนำไปเสนอหรือบางพวกที่พูดมากๆ มีอะไรก็ประเภทออกสื่อไว้ก่อน พวกนี้มีโอกาสได้เข้ามาน้อยและจะเลือกที่จำเป็นที่สุด”คนก็นำไปพบนายกฯ ตู่ เพื่อให้นายกฯ ได้จดจำชื่อเหล่านี้ไว้ และไม่คัดชื่อออกเมื่อถึงวาระสำคัญ

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในรูปแบบของการทำธุรกิจร่วมกัน และพวกนี้จะมีการใช้นอมินีเข้าไปถือหุ้นและจะมีความระมัดระวังมากกว่าในยุคก่อนๆ อีกทั้งยังมีกลุ่มที่รวมตัวกัน เพื่อผลักดันหรือคัดค้านการออกกฎหมายบางฉบับ เพื่อผลประโยชน์ของพวกพ้อง เพราะการรวมตัวกันแบบนี้เวลามีปัญหาก็จะปรึกษาหารือกันในกลุ่ม และจะมีการขอให้โหวตรับหรือไม่รับ เวลามีการลงมติในการออกกฎหมายต่างๆ

“กลุ่มผลประโยชน์ย่อมเกิดขึ้นได้ เมื่อคนเหล่านี้มีผลประโยชน์ร่วมกันก็คุยกันง่าย เห็นชัด ๆ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ ก็มีตัวแทนนายทุนอยู่ในนี้ พวกเขาจะระมัดระวังเพื่อไม่ให้พวกตัวเองเสียผลประโยชน์ หรือกฎหมายเลือกตั้ง ก็มีการแตะกันไว้”

3. บิ๊กป้อมคือจุดอ่อน โดยเฉพาะในประเด็นการครอบครองนาฬิกาหรูและแหวนเพชร ได้สร้างความเคลือบแคลงให้สังคมอย่างมาก แม้บิ๊กตู่จะออกมาชี้แจงแล้วก็ตามและล่าสุดยังนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่าง รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กับ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ภายหลังถูกอธิการบดีสั่งระงับผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่องนาฬิกาหรูบิ๊กป้อม โดยได้อธิบายไว้ชัดเจนว่าการทำโพลได้ทำบนความถูกต้องมีหลักฐานทางวิชาการที่รัดกุม จึงไม่จำเป็นต้องเลีย top boot หากไม่สามารถธำรงสิ่งเหล่านี้ไว้ได้ก็ไม่มีเหตุผลที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไป

“เรื่องนาฬิกาหรู บิ๊กป้อมตายน้ำตื้น เกิดจากความประมาทมากเกินไป ถ้าเรื่องนี้บิ๊กตู่เป็นคนทำ จะส่งผลหนักกว่านี้เรียกว่ารัฐบาลพังทันที แต่เมื่อไปเกิดกับบิ๊กป้อม ก็แค่เป็นการลดทอนอำนาจรัฐบาล และทำให้กองหนุนรัฐบาลหายไปบ้าง

4.รัฐบาลอยากสืบทอดอำนาจและกลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก พร้อมๆ กับข่าวที่จะมีการเลื่อนการเลือกตั้งจากปลายปี 2561 ไปเป็นกุมภาพันธ์ 2562 ตรงนี้แหละเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ฉุดรัฐบาลขาลง เพราะกลุ่มที่เสียผลประโยชน์อย่างพรรคการเมืองใช้เรื่องนี้ปลุกกระแส นักศึกษาและกลุ่มพลัง เพื่อดึงบรรดามวลชนที่ไม่ชอบการปกครองโดยรัฐบาลทหาร และยึดหลักการประชาธิปไตย ออกมาชุมนุมเรียกร้อง ผสมผสานกับกลุ่มพลังอื่น ๆ เพื่อกดดันรัฐบาลโดยเพิกเฉยต่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ห้ามการชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จนนำไปสู่การดำเนินคดีกับมวลชนที่ออกมาเคลื่อนไหว และอาจกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดแนวร่วมต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากขึ้น

ดังนั้นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จึงจำเป็นต้องประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทุกรูปแบบ เพื่อประกอบการตัดสินใจในเรื่องการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ซึ่งจะเป็นการลดแรงเสียดทานรัฐบาลและเพื่อไม่ให้นำไปสู่การใช้ความรุนแรง!

ต้องติดตามดูว่ากระแสต่อต้าน ทั้งทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก เสียงประชาชน ดูกระแสพรรคการเมืองที่ใช้สงครามข่าวสารปลุกพลังต้านขึ้นหรือเปล่า รวมทั้งต่างชาติมีการต่อต้านอะไรหรือไม่”

แหล่งข่าวบอกอีกว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้รัฐบาลตัดสินใจเลือกตั้งเมื่อใดนั้น ยังได้นำเหตุการณ์การเลือกตั้งเมื่อ 23 ธันวาคม 2550 จำนวน 480 คน หลังการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ซึ่งมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ได้จัดการเลือกตั้งมาประกอบการพิจารณาด้วย

“การเลือกตั้งครั้งนั้น อยู่บนความไม่พร้อมหรือไม่ และผลการเลือกตั้งก็ทำให้พรรคพลังประชาชน ก็คือเพื่อไทยในเวลานี้ ชนะเลือกตั้งได้ 233 ที่นั่ง เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้เพียง 165 ที่เหลือเป็นพรรคอื่นๆ และก็ทำให้เกิดปัญหาความแตกแยกตามมาไม่จบไม่สิ้น

อย่างไรก็ดีจากการประเมินของฝ่ายทหาร และพรรคประชาธิปัตย์ พบว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปพรรคเพื่อไทยจะได้ที่นั่งมากสุด 230 จาก 500 คน ส่วน 270 ที่เหลือนั้น พรรค ปชป.น่าจะได้ 170 ที่นั่ง ซึ่งการที่เพื่อไทยจะชนะเลือกตั้ง เป็นเพราะกลุ่มรากหญ้ายังพร้อมจะเทใจและเทคะแนนให้พรรคเพื่อไทย

“เวลานี้จึงต้องให้เวลากับรัฐบาลบิ๊กตู่ ที่ได้ผลักดันโครงการต่างๆ ไปสู่กลุ่มรากหญ้าโดยเฉพาะโครงการไทยนิยมยั่งยืน จะเป็นการช่วยรากหญ้าจริงๆ ซึ่งบิ๊กตู่จะนำทีมลงไปทั่วประเทศ และหากผลการทำงานเป็นไปตามเป้าก็จะทำให้เศรษฐกิจรากหญ้าขับเคลื่อนได้และมีผลต่อจีดีพีของประเทศดีขึ้น

จากนี้ไปต้องจับตาดูว่า ปมขัดแย้งทางการเมืองและการชุมนุมของกลุ่มพลังต่าง ๆ จะนำไปสู่ความรุนแรงหรือไม่ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. จะตัดสินใจให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ และเมื่อใด ล้วนขึ้นอยู่กับผลการประเมินสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น!



กำลังโหลดความคิดเห็น