xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ชะตา!พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ใครกันแน่พิทักษ์ผลประโยชน์ชาติ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประเด็นร้อนที่อาจนำไปสู่การเคลื่อนไหวและการปะทะครั้งใหญ่ในสังคมขณะนี้คงหนีไม่พ้นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันนี้ 30 มีนาคม 2560 ซึ่งต่างฝ่ายต่างชี้ให้เห็นผลดีและผลเสียของการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ล้วนฝากความหวังไว้ที่ “สนช.” ว่าจะเลือกพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติจริงหรือไม่?

วันนี้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ออกมาประกาศเจตนารมณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ  พร้อมชี้ถึงปัญหาของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ...โดยเฉพาะกรณีที่ สนช.ได้ผ่านวาระที่ 1 โดยไม่ระบุเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติให้ชัดเจน อันจะส่งผลให้ผลประโยชน์จากกิจการปิโตรเลียมทั้งหมดยังคงตกอยู่ในมือของทุนพลังงานกลุ่มเดิม ซึ่งหากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านการพิจารณาของ สนช. ทางเครือข่ายได้นัดชุมนุมหน้ารัฐสภาในวันที่ 30 มี.ค. พร้อมจะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล และอาจถึงขั้นชุมนุมปักหลักพักค้างหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 44 เพื่อยกเลิกกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี
ขณะเดียวกัน “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี กลับเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง สนช. สนับสนุน พ.ร.บ.ดังกล่าว แต่ขอให้ตัดมาตรา 10/1 เรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติออกไป เนื่องจากเกรงว่าจะมีการสอดไส้ให้อดีตบิ๊กทหารเข้าไปเป็นกรรมการเพื่อแสวงประโยชน์ และกองทัพอาจเข้าไปครอบงำกิจการพลังงานในที่สุด

แต่ในมุมของ คปพ. เห็นควรให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เพียงแต่ว่าในร่างฉบับนี้ก็มีข้อชวนสงสัยและน่าเป็นห่วงก็คือการที่ร่างฉบับดังกล่าวไม่ระบุให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ หรือแม้จะมีการแปรญัตติเพิ่มเข้าไปว่าจะมีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อพร้อม แต่ไม่มีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนว่าจะมีเมื่อใด ทำให้ไม่มีองค์กรที่จะมาบริหารทรัพย์สินและขายปิโตรเลียมที่จะตกเป็นของรัฐ เพราะหน่วยราชการอย่างกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะอยู่ภายใต้ระเบียบว่าด้วยการพัสดุ การจัดซื้อจัดจ้างตามระบบราชการ จึงไม่มีความคล่องตัวที่จะบริหารและขายปิโตรเลียมรายวันได้อย่างเป็นรูปธรรม

ดังเช่นตัวอย่างของกระทรวงคมนาคม ซึ่งไม่มีความคล่องตัวในเรื่องการบริหารและจัดการรายได้ในกิจการทางด่วน จึงต้องมีการตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อบริหารทรัพย์สินและดูแลรายได้ในการจัดเก็บให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ดังนั้น ในระหว่างช่วงระยะเวลาที่ยังไม่มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติจึงเท่ากับไร้องค์กรของรัฐที่จะมาบริหารและขายปิโตรเลียมให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลทำให้ต้องมอบหน้าที่การบริหารและขายปิโตรเลียมให้กับเอกชนคู่สัญญาคล้ายกับระบบสัมปทานเดิม อันเป็นการทลายอุปสรรคกฎหมายปิโตรเลียมเดิมที่ไม่สามารถจะต่ออายุสัมปทานให้กับคู่สัญญารายเดิมได้

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ หนึ่งในเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ชี้ว่า “ก่อนที่จะร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ สนช. ได้ทำการศึกษาข้อมูลและปัญหากรณีที่รัฐบาลไทยสูญเสียรายได้จากการให้สัมปทานประกอบกิจการปิโตรเลียมแก่เอกชน และรู้ว่าควรจะแก้ไขปัญหาอย่างไร แต่ในการร่างกฎหมาย สนช.กลับไม่ดำเนินการตามผลการศึกษาที่ตนเองได้ทำไว้  หากไม่มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ผลประโยชน์และสินทรัพย์ที่เกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมก็ยังตกเป็นของทุนพลังงานกลุ่มเดิมๆ โดยเฉพาะ ปตท.ซึ่งกินรวบกิจการพลังงานไทยมานานนับสิบปี

ขณะที่การพิจารณาให้สัมปทานแก่บริษัทพลังงานต่างชาติก็ยังเป็นไปในรูปแบบเดิม ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้เอกชน แต่รัฐต้องสูญเสียผลประโยชน์มหาศาล ส่วนกรณีที่หม่อมอุ๋ยเกรงว่าจะเป็นการเปิดช่องให้ทหารเข้ามาเป็นกรรมการเพื่อฉกฉวยประโยชน์นั้น ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุว่าจะให้กรมพลังงานทหารเข้ามาดำเนินการในบรรษัทน้ำมันแห่งชาติแต่อย่างใด

ที่สำคัญเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราสามารถป้องกันได้ เพราะก่อนจัดตั้งบรรษัทฯ จะต้องมีการออก พ.ร.บ.จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติก่อน ซึ่งทุกฝ่ายสามารถเข้าไปติดตามตรวจสอบ พร้อมทั้งเสนอให้มีคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนจากทุกภาคส่วนทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินกิจการให้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง   

ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล หนึ่งในแกนนำ คปพ. ชี้ว่า การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติจะมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินกิจการปิโตรเลียมของชาติทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่อย่าง แหล่งเอราวัณและแหล่งบงกชที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานในเร็ว ๆ นี้
ภาพ www.youtube.com
“ หากไม่มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้ามากำกับดูแล กระทรวงพลังงานก็ยังให้บริษัททุนพลังงานเข้ามาแสวงหาประโยชน์แบบเดิมๆ แม้จะเลี่ยงว่าไม่ใช่ระบบสัมปทานแต่ดูแล้วรูปแบบก็ไม่แตกต่างกัน เท่ากับว่ารัฐก็ยังสูญเสียรายได้มูลค่ามหาศาลเหมือนเดิม”

อย่างไรก็ดี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ให้เหตุผลในการคัดค้านการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ว่า อาจเป็นการเปิดช่องทางให้อดีตนายทหารกลุ่มหนึ่งซึ่งพยายามผลักดันให้มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้ามาแสวงประโยชน์ อีกทั้งบุคลากรในองค์กรที่ตั้งขึ้นใหม่ก็ไม่มีความพร้อมและประสบการณ์ในการดำเนินกิจการพลังงาน ขณะเดียวกันรัฐวิสาหกิจซึ่งเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงานอย่าง ปตท. ก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก

“ สาเหตุที่ไม่ควรมีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาตินั้น เป็นเพราะผมเองได้เคยเห็นข้อความในร่างที่มีผู้เตรียมการเพื่อเสนอจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งระบุว่า...บริษัทน้ำมันแห่งชาติ เป็นผู้ถือสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทุกชนิดของประเทศ  และในระยะเริ่มต้นของการดำเนินงาน ให้กรมพลังงานทหารเป็นหน่วยงานที่บริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไปก่อน…ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีการเตรียมการให้ทหารเข้ามาฮุบกิจการพลังงานของชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง นอกจากนั้นที่ผ่านมาเราได้ก่อตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่เสมือนบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งปรากฏว่าพัฒนามาได้ดีอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 เหนือกว่าบริษัทน้ำมันต่างชาติทั้งหมด ปตท.ได้พัฒนาแหล่งพลังงานใหม่คือก๊าซธรรมชาติรองรับความต้องการพลังงานที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ได้ขยายตัวไปสำรวจและผลิตในต่างแดนนำพลังงานกลับมารองรับความเจริญของประเทศได้อย่างทันเหตุการณ์ ได้ขยายเครือข่ายการขายออกไปคุมตลาดในประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ และได้ตั้งบริษัทในเครือเพื่อดำเนินกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานอีกหลายบริษัท เรามีรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่บรรษัทน้ำมันแห่งชาติได้ดีอยู่แล้ว ถ้ามีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติใหม่เกิดขึ้นมาและใช้อำนาจที่มีกฎหมายรองรับ ดึงกรรมสิทธิ์ของพลังงานทุกชนิดมาอยู่ที่บรรษัทใหม่แห่งนี้ วิสาหกิจและกิจการของบริษัทพลังงานต่าง ๆ หลายแห่งจะดำเนินอยู่ต่อไปได้อย่างไร กิจการเหล่านี้เป็นกิจการขนาดใหญ่ หากต้องหยุดลง ปัญหาอาจลุกลามจนเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจได้ และบรรษัทใหม่ซึ่งยังไม่มีประสบการณ์จะพัฒนาตนเองให้สามารถรองรับความเจริญทางเศรษฐกิจได้เพียงพอหรือ? จะสามารถรับมือกับปัญหาและพัฒนาการใหม่ ๆ ของกิจการพลังงานได้หรือ? กิจการพลังงานของเราซึ่งรุดหน้ามาด้วยดี คงจะสะดุดจนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้”  ม.ร.ว.ปรีดิยาธร  กล่าว

ดังนั้นการเสนอให้มีการจัดตั้ง บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ จึงเป็นเงื่อนไขที่ดีและเพื่อประโยชน์ของคนไทยตามที่ คปพ.เสนอมา ส่วนหม่อมอุ๋ย เชื่อว่าจะส่งผลเสียต่อการลงทุนด้านพลังงานและการพัฒนาเศรษฐกิจได้ และวันนี้ สนช. จะเป็นผู้ชี้ชะตาร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ส่วนจะมีการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติได้จริงหรือไม่...จะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า ใครกันแน่ที่พิทักษ์ผลประโยชน์ชาติอย่างแท้จริง!

กำลังโหลดความคิดเห็น