xs
xsm
sm
md
lg

ยุคท็อปบูตตีตรวนสื่อ-กล้าขุดคุ้ยเจอสั่งปิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อนุกรรมาธิการฯ ร่างกฎหมายสื่อไขก๊อกลาออก แจงกรรมาธิการชุดพลอากาศเอกคณิต สุวรรณเนตร สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อ ปรับแก้เนื้อหากฎหมายจากภาคสมัครใจเป็นภาคบังคับ แถมเพิ่มอำนาจรัฐคุมสื่อผ่านตัวแทนปลัดกระทรวงนั่งในสภาวิชาชีพสื่อมวลชน เข้าทางนักการเมือง งานนี้สื่อไหนตรวจสอบเสี่ยงถูกปิด หาก พ.ร.บ.ฉบับนี้บังคับใช้ ประชาชนเสียประโยชน์ เหตุไม่มีสื่อกล้าเป็นหูเป็นตาตรวจสอบทุจริต-คอร์รัปชันอีก

การรวมพลังขององค์กรสื่อราว 30 องค์กร เพื่อคัดค้านร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ร่างโดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เมื่อ 29 มกราคม 2560

นับเป็นการรวมตัวของบุคลากรในองค์กรสื่อที่มากที่สุดในการแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว ที่จะออกมาเพื่อใช้ควบคุมสื่ออย่างเป็นทางการ ชนิดที่ไม่เคยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งรายใดที่กล้าจะออกกฎหมายควบคุมสื่อมวลชน

ทั้งนี้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กรได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ เนื้อหาสำคัญคือ ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มิได้อยู่บนพื้นฐานหลักการของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แต่กลับเน้นหลักการควบคุมสื่อมวลชนโดยใช้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่โดยอิสระของสื่อมวลชน และไม่สอดคล้องกับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย ฉบับที่ผ่านการลงประชามติ

พร้อมทั้งเรียกร้องให้ สปท.ยกเลิกการพิจารณาร่างกฎหมายของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯ โดยให้กลับไปทบทวนความจำเป็นในการออกกฎหมายดังกล่าว และหากไม่ฟังเสียงทักท้วง องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั่วประเทศจะยกระดับมาตรการในการคัดค้านร่างกฎหมายนี้ต่อไปจนถึงที่สุด

เข้าทางนักการเมือง

คนในวงการสื่อกล่าวว่า ตอนนี้เราไม่แน่ใจว่าหากกฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบและมีผลบังคับใช้ขึ้นมา จะเข้าทางใครระหว่างรัฐบาลชุดปัจจุบันหรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในครั้งหน้า แต่ถึงอย่างไรกฎหมายฉบับนี้ตัวเนื้อหานั้นจะเป็นประโยชน์กับนักการเมืองในการควบคุมสื่อได้เป็นอย่างดี จะเห็นได้ว่าฝ่ายการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคใดต่างนิ่งเงียบในเรื่องนี้

คนในวงการสื่อก็รู้กันดีว่าแม้รัฐบาลชุดนี้ก็ไม่ชอบสื่อเช่นกัน หากมองไปวันข้างหน้าก็จะมีรัฐบาลใหม่ที่อาจมาจาก 2 แนวทางคือ การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และอาจจะเป็นรัฐบาลคณะพิเศษ แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด พวกเขาก็พอใจเพราะมีอำนาจปิดสื่อได้ด้วยกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งในช่วงที่เป็นประชาธิปไตยนักการเมืองไม่สามารถออกกฎหมายในลักษณะนี้ได้
30 องค์กรวิชาชีพสื่อออกแถลงการณ์จี้ สปท.ยกเลิกพิจารณาออกกฎหมายควบคุมสื่อ
อนุกรรมาธิการลาออก-ท้วงผิดหลักการ

ทั้งนี้ผู้ที่ผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวคือ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท. ที่มีพลอากาศเอกคณิต สุวรรณเนตร เป็นประธานกรรมาธิการ ซึ่งในคณะดังกล่าวมีคนจากวงการสื่อเพียงนางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด จากค่ายเดลินิวส์ รับตำแหน่งรองประธานกรรมาธิการ คนที่สอง โดยคณะกรรมาธิการฯ ยังคงยืนยันที่จะผลักดันเรื่องนี้ต่อไป แม้จะมีการทักท้วงจากสื่อ 30 องค์กร

ทั้งที่จริงแล้วร่างกฎหมายนี้มีคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นคนร่างขึ้นมาก่อน เนื้อหาหลัก ๆ นั้นเป็นการส่งเสริมให้สื่อมวลชนควบคุมกันเอง แต่กลับถูกนำไปปรับปรุงและเพิ่มเติมสาระสำคัญจนเป็นการควบคุมสื่อมวลชน

ล่าสุดคณะอนุกรรมาธิการฯ ที่ร่างกฎหมายได้ยื่นหนังสือลาออกเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2560 โดยให้เหตุผลในการลาออกดังนี้

1. ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเป็นผู้รับขึ้นทะเบียน ออกและเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการฯ ด้านสื่อสิ่งพิมพ์ มีความเห็นว่า เป็นการบัญญัติกฎหมายที่ขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศเสรีประชาธิปไตยที่กำหนดให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น พูด เขียน พิมพ์โฆษณา หรือสื่อความหมาย ซึ่งอาจส่งผลให้บทบัญญัตินี้เป็นโมฆะเพราะขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทได้

2. ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงจำนวนและองค์ประกอบของคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ การแก้ไขบทบัญญัติในร่างของกรรมาธิการฯ ให้มีคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง นอกจากจะขัดหลักการจัดตั้งสภาวิชาชีพข้างต้นแล้ว ยังอาจส่งผลให้เกิดการแทรกแซงจากบุคคลภายนอก ซึ่งอาจเป็นการแทรกแซงจากการเมืองผ่านข้าราชการประจำ

ประเด็นสำคัญคือ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ยังขาดการพิจารณาทบทวนอย่างรอบคอบ เพราะการนำเอาร่างของ คณะอนุกรรมาธิการฯ ด้านสื่อสิ่งพิมพ์ มาปรับแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไม่ได้คำนึงถึงหลักการและโครงสร้างกฎหมายอันเป็นจุดอันตรายและมีความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อความล้มเหลวของกฎหมายฉบับนี้คือ ร่างของคณะอนุกรรมาธิการฯ ด้านสื่อสิ่งพิมพ์เป็นการออกแบบกฎหมายจากแนวคิด “ความสมัครใจ” ในการเข้ามาสู่การกำกับ ไม่ใช่แนวคิด “การบังคับให้จดทะเบียน”

ใครโกหก

ทั้งนี้เมื่อ 30 มกราคม 2560 พลอากาศเอกคณิต สุวรรณเนตร เป็นประธานกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท. ได้ออกมายืนยันว่าร่างดังกล่าวได้ผ่านการหารือและการทำประชาพิจารณ์จากผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
ส่งผลให้ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้ออกมาชี้แจงผ่านทางเฟซบุ๊กในวันรุ่งขึ้นว่า

หนึ่ง ผมและนักวิจัยในโครงการ คุณอิสร์กุล อุณหเกตุ ได้ไปอธิบายผลการวิจัยเรื่อง “การกำกับดูแลสื่อในยุคหลอมรวม” ให้แก่คณะกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2559

สอง ผมและทีมวิจัยไม่ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... และไม่ได้ร่วมทำประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายดังกล่าว (หากมีการทำประชาพิจารณ์) ที่สำคัญ ผมยังไม่ได้เห็นร่างกฎหมายดังกล่าว และไม่ทราบว่าร่างกฎหมายฉบับล่าสุดที่เป็นที่มาของการถกเถียงกันมีเนื้อหาอย่างไร นอกจากที่ได้อ่านในข่าว

สาม ข้อเสนอของคณะวิจัยจากทีดีอาร์ไอในส่วนที่เกี่ยวข้องคือ การเสนอให้มีกลไกการกำกับดูแลร่วม (co-regulation) เพื่อหนุนเสริมการกำกับดูแลตนเองของผู้ประกอบการสื่อแต่ละราย (เช่นการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของสถานีโทรทัศน์แต่ละช่อง) และการกำกับดูแลกันเอง (self-regulation) โดยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน (เช่นการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย) เพราะที่ผ่านมา การกำกับดูแลกันเองโดยองค์กรวิชาชีพสื่อนั้นไม่ค่อยมีประสิทธิผล เพราะผู้ประกอบการเข้าร่วมโดยสมัครใจ และคำตัดสินไม่มีผลผูกพัน

ทั้งนี้ การกำกับดูแลร่วมเป็นการผสมผสานข้อดีของการกำกับดูแลของรัฐ ซึ่งกลไกบังคับใช้มีประสิทธิภาพ เพราะมีบทลงโทษตามกฎหมาย แต่มีข้อเสียมากมาย โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้รัฐแทรกแซงสื่อ กับการกำกับดูแลกันเองขององค์กรวิชาชีพสื่อ ซึ่งมีจุดอ่อนดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้สื่อมีมาตรฐานจริยธรรมทางวิชาชีพที่ปฏิบัติได้จริง โดยยังสามารถรักษาความเป็นอิสระของสื่อจากการแทรกแซงของรัฐได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้หากออกแบบได้ดี ที่สำคัญคือต้องไม่มีตัวแทนภาครัฐเกี่ยวข้อง
คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)
ปลัดฯ ตัวแทนนักการเมือง

ภายใต้ร่างพระราชบัญญัตินี้ จะมีการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มีอำนาจในการขึ้นทะเบียน ออกและเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยโครงสร้างสภาฯ มีการแก้ไขไปจากร่างที่อนุกรรมาธิการเคยร่างไว้

ด้วยการกำหนดให้มีสมาชิก 13 คนประกอบด้วยผู้แทนสมาชิกสภาวิชาชีพเลือกกันเอง จำนวน 5 คน ตัวแทนรัฐ 4 คนคือ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกจำนวน 4 คน (เลือกโดยกรรมการ 2 ประเภทแรก)

หากพิจารณาเฉพาะขั้นตอนนี้ ถามว่าสื่อมวลชนจะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของ 4 ส่วนงานนี้ได้หรือไม่ เพราะจะมีผลต่อการลงโทษสื่อมวลชนได้ในวันข้างหน้า นอกจากนี้ตำแหน่งปลัดกระทรวงต้องทำงานใกล้ชิดกับรัฐมนตรีที่มาจากนักการเมืองโดยตรง เท่ากับเป็นการเปิดทางให้นักการเมืองไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ สามารถเข้ามาควบคุมสื่อได้ทันที

ในเรื่องเดียวกันนี้หากมองว่าสัดส่วนของสื่อมีมากกว่า เช่น 5+2 ฝ่ายรัฐมี 4+2 ปัญหาคือในฝ่ายสื่อมวลชนเองก็มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนรัฐบาล หากฝ่ายรัฐบาลโน้มน้าวหรือเสนอข้อแลกเปลี่ยนบางประการ เท่ากับรัฐบาลควบคุมสภาฯ แห่งนี้ได้สำเร็จ สื่อไหนที่ตรวจสอบรัฐบาลก็มีสิทธิ์ถูกสั่งปิดได้

มีเงินฟาดหัวสื่อ

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้อำนาจสภาวิชาชีพถือเงินไว้เพื่อสนับสนุนสื่อมวลชน โดยกำหนดให้กระทรวงการคลัง จัดสรรเงินขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือไทยพีบีเอส ในส่วนที่จะต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ให้สภาวิชาชีพฯ ในอัตราร้อยละ 5 ในกำหนดเวลา 3 ปีแรกที่จัดตั้งสภาใหญ่ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีอำนาจปรับเพิ่มรายได้ทุก 3 ปี

นี่ยังไม่นับรวมงบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์โครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลอีก ที่อาจทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างตรงไปตรงมา เพราะสื่อมวลชนส่วนใหญ่เป็นเอกชน ต้องหารายได้จากโฆษณามาเพื่อเลี้ยงกิจการ

ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แม้ว่าอาจจะมีผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นผู้เสียหายสามารถขอความเป็นธรรมในเรื่องนี้ได้ผ่านกระบวนการทางศาลยุติธรรม เห็นได้จากประกาศขอขมา หรือบรรณาธิการบางคนก็ถูกศาลพิพากษาจำคุกก็มีเช่นกัน

หากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้จริง กระบวนการทำงานของสื่อมวลชนที่ต้องตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองย่อมต้องลดลง เพราะหากนำเสนอแล้วไม่เป็นที่พอใจของนักการเมืองโอกาสที่จะถูกสั่งปิดมีความเป็นไปได้สูง สุดท้ายผู้ที่เสียประโยชน์จริง ๆ ก็คือประชาชน ที่จะไม่มีใครเป็นหูเป็นตาตรวจสอบนักการเมืองที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต คดโกงภาษีอากรของประชาชนเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

กำลังโหลดความคิดเห็น