xs
xsm
sm
md
lg

รอง ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าห่วง “การ์ดเกม” บิดเบือนประวัติศาสตร์ชายแดนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภาคใต้ - พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รอง ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าห่วง “การ์ดเกม” บิดเบือนประวัติศาสตร์ ใส่เรื่องจับคนมลายูเจาะเอ็นร้อยหวายไปขุดคลองแสนแสบ ชี้ไม่เป็นเรื่องจริง หวั่นเยาวชนตกเป็นเครื่องมือ ฝากสถาบันการศึกษาเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

วันนี้ (30 พ.ย.) พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (รอง ผอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ขณะนี้มีเกมไพ่การ์ดเกมที่ชื่อว่า Patani Colonial Territory ซึ่งเป็นสิ่งมีน่ากังวลอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการนำประวัติศาสตร์เชิงบาดแผลในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาผลิตเป็นเกมอย่างเรื่องจับคนมลายูเจาะเอ็นร้อยหวายไปขุดคลองแสนแสบ ซึ่งหากย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์แล้วจะพบว่า เรื่องเจาะเอ็นร้อยหวายเป็นเรื่องที่ถูกสร้างแต่งขึ้นมา เป็นเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างยาวนาน ในลักษณะเล่าต่อจากรุ่นต่อรุ่น ประเด็นนี้ได้มีการศึกษาอย่างละเอียด ทั้งในเชิงการแพทย์ และในเชิงประวัติศาสตร์ว่า การขุดคลองแสนแสบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องการนำคนมลายูที่ตกเป็นเชลยในขณะนั้นมาขุดคลองแสนแสบแต่อย่างใด

“โดยข้อเท็จจริงในเชิงทางการแพทย์ ไม่มีโอกาสที่จะเป็นไปได้เลยที่หากถูกเจาะเอ็นร้อยหวายแล้วจะทำงานได้ นอกจากนี้ เชิงประวัติศาสตร์ได้มีนักวิชาการที่ศึกษาวิจัย ระบุไว้ชัดเจนว่า การขุดคลองแสนแสบนั้นเกิดขึ้นในสมัยใด และใช้แรงงานจากที่ใด ซึ่งจากหลักฐานที่ได้บันทึกไว้พบว่าส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวจีนโพ้นทะเล และคนลาว และยังไม่ปรากฏหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่าได้มีการนำเชลยศึกมาเจาะเอ็นร้อยหวายแล้วนำมาขุดคลองแสนแสบแต่อย่างใด” พล.ต.ปราโมทย์ กล่าว

พล.ต.ปราโมทย์ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในเชิงประวัติศาสตร์ที่ถูกแต่งเรื่องขึ้นมา โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการปลุกระดมประชาชน นอกจากนี้ ยังพบมีองค์กรบางองค์กรที่ให้การสนับสนุนงบประมาณในการผลิตการ์ดเกม จากการตรวจสอบพบเป็นองค์กรที่เคลื่อนไหวทางการเมือง จากกรณีนี้ พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.รมน.ภาค 4 มีความห่วงใยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน จึงให้เน้นสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ขอความร่วมมือให้สถาบันการศึกษาได้สร้างความเข้าใจในประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง

พล.ต.ปราโมทย์ กล่าวว่า การเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นถือเป็นสิ่งที่รัฐสนับสนุนและได้พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์เพื่อสร้างความภาคภูมิใจมาโดยตลอด แต่การที่นำประวัติศาสตร์มาปั้นแต่งและบิดเบือนเพื่อให้เกิดการแตกแยกเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ดังนั้น ขณะนี้ได้ใช้เวทีสภาเพื่อสันติสุขในการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน และผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อที่จะให้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความจริงให้แก่เยาวชน พร้อมฝากไปยังผู้ปกครอง หากในช่วงนี้อาจมีกลุ่มที่หวังผลประโยชน์ทางการเมืองหยิบยกประเด็นปัญหาทางความมั่นคงมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ขอให้ช่วยกันเฝ้าระมัดระวัง


กำลังโหลดความคิดเห็น