xs
xsm
sm
md
lg

ฮือฮา! สวนสัตว์สงขลาเพาะขยายพันธุ์ “เต่าหกเหลือง” ออกไข่พร้อมกัน 3 แม่ 91 ฟอง (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สวนสัตว์สงขลา ประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ “เต่าหกเหลือง” ซึ่งเป็นเต่าที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของไทย หลังออกไข่พร้อมกัน 3 แม่ มากถึง 91 ฟอง ขณะนี้อยู่ในระหว่างการฟักไข่

ที่สวนสัตว์สงขลา ซึ่งมีการเพาะขยายพันธุ์ “เต่าหกเหลือง” ซึ่งเป็นเต่าบกที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพของทางภาคใต้เป็นอย่างมาก และเป็นเต่าที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของไทย โดยมีพ่อพันธุ์เต่าหกเหลืองเพียง 5 ตัว และใช้แม่พันธุ์ที่มีความแข็งแรงอีก 10 ตัว ปรากฏว่าล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา แม่เต่าหกเหลือง 3 แม่ได้วางไข่พร้อมกันมากถึง 91 ฟอง ขณะนี้อยู่ในขั้นระหว่างการฟักไข่ ซึ่งต้องเฝ้าระวัง และดูแลเป็นพิเศษ เพื่อหวังผลว่าจะสามารถได้ลูกเต่าที่มีความแข็งแรงให้มากที่สุด

นายวันชัย ตันวัฒนะ ผู้อำนวยการสวนสัตว์สงขลา กล่าวว่า เต่าหกเหลือง เป็นสัตว์ป่าหายากของไทย และเป็นเต่าบกที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของประเทศไทย โดยแม่พันธุ์เต่าหกเหลือง 3 แม่ วางไข่มากถึง 91 ฟอง สำหรับระยะเวลาฟักไข่จะใช้เวลาในการฟักไข่ประมาณ 60 วัน หลังฟักออกมาเป็นตัวจะศึกษาการเจริญเติบโตของลูกเต่าในระยะต่างๆ ตั้งแต่ตัวอ่อนเล็กๆ ไปจนโตขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งถึงเต่าวัยรุ่น และจะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป


โดยขณะนี้ไข่เต่าทั้ง 91 ฟอง ถูกนำไปที่ห้องฟักไข่ ซึ่งได้มีการแยกฟักแต่ละแม่ไว้ในกล่องโฟม โดยมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิดตามหลักวิชาการ และมีกล้องติดตั้งไว้ในกล่องโฟมเพื่อดูการเคลื่อนไหวของไข่เต่าโดยผ่านจอมอนิเตอร์ ไม่ต้องรบกวนไข่เต่า เพื่อจะได้ให้เป็นไปตามธรรมชาติ หากมีการเจาะไข่ออกมา

ด้านนายสุรศักดิ์ ยิ้มประเสริฐ นักบริหาร 6 หัวหน้างานวิจัยฯ รักษาการหัวหน้างานสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการแผนวิจัยการศึกษาชีววิทยาเต่าหกเหลือง เปิดเผยว่า สำหรับเต่าหากเหลือง 3 แม่ที่ออกไข่เป็นรุ่นที่ 2 โดยก่อนหน้านี้ เต่าหกเหลืองของสวนสัตว์สงขลา ออกลูกมาแล้ว 1 รุ่น จำนวน 8 ตัว และมีอายุได้ 1 ปี

สำหรับ “เต่าหกเหลือง” เป็นเต่าบกขนาดใหญ่ของไทยที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ชนิดหนึ่ง จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และระดับสากลจัดอยู่ในบัญชีหมายเลข 2 ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ชนิดสัตว์และพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) และเป็นสัตว์ประจำถิ่นของภาคใต้ ไปจนถึงมาเลเซีย และอินโดนีเซีย










กำลังโหลดความคิดเห็น