xs
xsm
sm
md
lg

ความเปลี่ยนแปลงที่ชายแดนใต้! ท่ามกลางโควิด-19 ระลอก 3 กับปรากฏการณ์ชาวบ้านด่า อสม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย...ดร.อลิสา หะสาเมาะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี

ประเทศไทยเคยได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อครั้งเกิดการแพร่ระบาดใหม่ๆ ว่า เป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขในการป้องกันโควิด-19 ได้ดีระดับโลก หัวใจสำคัญของความสำเร็จอย่างหนึ่งก็คือ “อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน" หรือ อสม. ที่เป็นกลไกระบบสุขภาพในการดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างน้อยก็ในช่วงการแพร่ระบาดใหม่ๆ[1]

แต่สถานการณ์ของ อสม.กับการแพร่ระบาดระลอก เปลี่ยนไปแล้ว ในบางพื้นที่ชาวบ้านไม่ยอมให้ อสม.ไปเคาะประตูบ้าน และยังต่อว่า อสม.อีกด้วย

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2564 ผู้เขียนได้ลองพูดคุยกับสมาชิกในเครือข่ายผู้หญิงกับภัยพิบัติฯ เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในระลอก 3 พบว่า ในแต่ละพื้นที่มีวิธีการรับมือแตกต่างกันไป มีตั้งแต่รับมือได้ดี ไม่มีปัญหา มีความร่วมมือทำงานเป็นทีม ทั้ง อบต. ผู้ใหญ่บ้าน อสม. และผู้นำศาสนา แต่สำหรับบางหมู่บ้านที่ได้พูดคุยก็มีคนป่วยและมีผู้เสียชีวิตแล้ว

มีข้อค้นพบว่า มีปรากฏการณ์ความแตกต่างของการระบาดในระลอก 3 หรือรอบใหม่นี้ และทำให้ อสม.หนักใจมาก สาเหตุเพราะ...

- ชาวบ้านกลัวที่จะไปโรงพยาบาล
- ชาวบ้านกลัวที่จะทำการ SWAB ตรวจโรค เพราะกลัวที่จะทราบว่าตัวเองติดโควิด-19
- ชาวบ้านที่มีอาการและใกล้ชิดกับผู้ติดโควิด-19 ไม่กล้า Walk in ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล
- ชาวบ้านไม่ไปรักษาโดยบอกว่านี่คือความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า
- ชาวบ้านหลายคนรับการวินิจฉัยไม่ได้ จึงไม่ไปและไม่ให้เข้ามายุ่งในครอบครัว
- รายที่เสียชีวิตมีโรคอื่นๆ แทรกซ้อน เช่น หัวใจ หอบ และความดัน

บางหมู่บ้านเสียชีวิตไปแล้ว 3 ราย คนในบ้านถูกพาไปกักตัว และมีผู้ป่วยอาการคล้ายติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 10 หลังคาเรือนในชุมชน แต่ทั้งหมดไม่ยอมไปโรงพยาบาล แถม อสม.ที่ถือว่าเป็นหน้าด่านที่สุด ใกล้ชิดกับชุมชนที่สุดยังทำอะไรไม่ได้

ท่ามกลางการแพร่ระบาดระลอก 3 ของเชื้อโควิด-19 ปรากฏข้อมูลว่ามี อสม.โดนด่า ขอย้ำว่าถูกต้องที่ใช้คำว่า “โดนด่า” ได้เลยตัวอย่าง เช่น ชาวบ้านจะพูดทำนองว่า…อสม.มาแต่ละครั้งก็ได้เงิน หรือ อสม.ปากเสีย เพราะไปบอกเจ้าหน้าที่ว่าที่บ้านมีคนติดโควิด-19

ปรากฏการณ์เช่นนี้ในการระบาดระลอกที่ 1 และระลอกที่ 2 ที่ผ่านมาไม่เคยมีให้เห็น สำหรับการรับรู้ของผู้เขียน เพราะในทีมเครือข่ายกับภัยพิบัติฯ เรามีเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมาตลอด

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่ทำให้ อสม.ทำงานได้ยากลำบากคือ ชาวบ้านปกปิดข้อมูลการป่วย และปิดบ้านไม่ยอมให้ใครเข้าเยี่ยม ไม่อยากให้ใครเอาเชือกมากั้น เพราะกลัวคนในชุมชนจะรังเกียจ

คนป่วยที่มีอาการคล้ายติดเชื้อโควิด-19 ก็ไม่ให้ใครเข้าใกล้ไม่ให้ใครเข้าบ้าน จนเพื่อนบ้านสังเกตเห็น แต่ก็ทำอะไรไม่ได้

ทีมงานเครือข่ายบางคนที่ไม่ใช่ อสม.ก็มีความกังวลใจว่า การที่เขาจะเข้าไปพูดคุย ไปเยี่ยมเยียน ไปแนะนำได้หรือไม่ เพราะขนาด อสม.ที่มีหน้าที่โดยตรงยังโดนต่อว่าเลย

สำหรับในพื้นที่ของ จ.ปัตตานี จากที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันไม่ได้มีปัญหาเรื่องโรงพยาบาลในการรักษาคนไข้ที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ชาวบ้านเองต่างหากที่ไม่ยอม Walk-in เข้าไป เพราะกลัวหมอบอกว่าตัวเองติดเชื้อโควิด-19

อสม.บางคนก็ต้องยอมรับว่า ตัวเขาเองก็ไม่กล้ารับวัคซีน เรื่องนี้พอจะไปพูดคุยกับชาวบ้าน เขาก็ถูกชาวบ้านย้อนถามกลับมาว่า ให้ อสม.ทุกคนฉีดวัคซีนให้เสร็จก่อนแล้วตนเองถึงจะฉีดตาม

อสม.ที่เป็นผู้หญิงบางคนถึงขั้นทะเลาะกับสามีก็มี เพราะว่าชาวบ้านฝากด่าภรรยาที่มีบทบาทเป็น อสม.ในชุมชน ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ทำให้ อสม.ที่เป็นผู้หญิงรู้สึกถูกโดดเดี่ยวบางคนถึงขั้นก่นบ่นว่า ตอนนี้ไม่มีใครปกป้องตัวเขาเลย แม้กระทั่งสามีของเขา

ความจริงแล้ว อสม.หลายคนอยากฉีดวัคซีน แต่กลับยังฉีดไม่ได้ เพราะรัฐบาลไม่มีวัคซีนให้ฉีด

ในส่วนของวิถีชาวบ้านเองในหมู่บ้านก็ไม่ได้มีวัฒนธรรมการสวมหน้ากากอนามัยและยังใช้ชีวิตปกติ ยังนั่งอยู่ในร้านน้ำชา รวมกลุ่มกัน แม่ค้าในหมู่บ้านใส่บ้างไม่ใส่บ้าง ไม่มีเจลแอลกอฮอล์สำหรับลูกค้าได้ล้างมือ

สำหรับในพื้นที่ที่มีการดูแลอย่างดี มีหัวหน้าอนามัยที่ดี มีปลัดอำเภอที่ดี ก็พอที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ในระดับหนึ่ง

นี่ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ อสม.ทำงานยากขึ้นมาก และก็ิ่งมาเจอในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ะลอกที่ นี่แหละ รู้สึกเอ็นดู อสม.ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้บ้านเราจริงๆ

ไม่รู้ว่า อสม.ในพื้นที่อื่นๆ มีปัญหาแบบเดียวกันหรือเปล่า หากใครมีประสบการณ์ดีๆ ลองแลกเปลี่ยนกันมาเพื่อเป็นความรู้นำสู่แนวทางการแก้ไขปัญหา

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
[1]hfocus. (2020).องค์การอนามัยโลก ชม อสม.ไทย’ เป็นพลังฮีโร่เงียบ สู้โควิด-19’.สืบค้นจาก https://www.hfocus.org/content/2020/04/18972 สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2564.


กำลังโหลดความคิดเห็น