xs
xsm
sm
md
lg

ส่องสถานการณ์ “รอมฎอนเลือด” ยังคงพบเห็นความล้มเหลวของหน่วยความมั่นคงมากมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้/ โดย… 
ไชยยงค์ มณีพิลึก

ในที่สุด “บีอาร์เอ็น” ก็ชักนำสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าสู่ช่วงเดือน “รอมฎอนเลือด” ตามที่วางแผนไว้จนได้

เนื่องจากความรุนแรงไม่ได้จบแค่การกราดยิงและเผารถยนต์ส่งสินค้าจาก อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่จะไปส่งสินค้ายัง จ.นราธิวาส อันทำให้คนไทยพุทธในตระกูลกิตติประภานันท์ พ่อ-ลูกสาว-หลานชาย เสียชีวิตรวม 3 ศพ เหตุเกิดที่ ต.ละหาร อ.สายบุรี จ.ปัตตานี

เหตุการณ์นี้ก็นำไปสู่การไล่ล่า ปิดล้อมและตรวจค้นของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” อย่างหนัก โดยการปิดล้อมที่บ้านหลังหนี่งที่ ต.สะเอ๊ะ อ.กรงปีนัง จ.ยะลา จบลงด้วยการฝ่ายเจ้าหน้าที่สามารถ “จับเป็น” กลุ่มคนร้ายได้ 1 คน แต่ “วิสามัญ” ไป 2 ศพ ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่สูญเสีย “ทหารพราน 1 นาย

ทว่าเรื่องไม่ได้จบลงที่เจ้าหน้าที่มีความชอบธรรมในการวิสามัญผู้ที่ไม่ยอมมอบตัวและจับปืนขึ้นยิงปะทะกัน แต่กลับมีปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนคือ กลุ่มคนร้ายได้ใช้โทรศัพท์มือถือทำการ “วิดีโอคอล” ถ่ายทอดการถูกปิดล้อมและพร้อมที่จะสู้ตาย

เป้าประสงค์สำคัญที่สุดของ “วิดีโอคอล” ครั้งนี้อยู่ที่ความต้องการให้เข้าเงื่อนไขของการเป็น “ชาอีด” หรือการต่อสู้เพื่อศาสนา อีกทั้งมีการกล่าวอำลาผู้รับชม ซึ่งย่อมหมายถึงคนในขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั่นเอง

นับเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปีของไฟใต้ระลอกใหม่ที่ “จูแว” หรือกลุ่มแนวร่วมกระทำเช่นนี้ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นตามมากลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที เนื่องจากมีการนำ “คลิปวิดีโอคอลชุดนี้” ไปเผยแพร่อย่างขวางกว้าง และแน่นอน ในยุคโลกาภิวัตน์ที่การสื่อสารรวดเร็วและไร้ขอบเขต

นั่นย่อมทำให้สามารถรับรู้กันได้ทั้งโลก และโดยเฉพาะกับ “โลกมุสลิม”

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเชื่อว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คงแก้ไขอะไรได้ไม่มากหรอก เพราะขณะทำการปิดล้อมก็ไม่ได้แสดงเจตนาที่จะ “จับเป็น” อยู่แล้ว ทั้งที่หากจะทำก็เชื่อว่าสามารถทำได้ แถมหลังเกิดเหตุยังพบว่าฝ่ายคนร้ายมีเพียงปืน 2 กระบอกที่อยู่ในมือคนตาย ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่มีกำลังพลจำนวนมากและอาวุธครบมือ

ผลของเหตุการณ์ครั้งนี้ยังแสดงผ่านการประกอบพิธีศพด้วย แม้เป็นที่รับรู้ของผู้คนทั่วไปว่าทั้ง 2 ศพเป็นคนในขบวนการก่อการร้ายที่มุ่งหวังแบ่งแยกดินแดน ผิดกฎหมายในข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร และการที่ถูก “จับตาย” เพราะไม่ยอมมอบตัว แถมยังยิงเจ้าหน้าที่ต้องเสียชีวิตไปด้วย 1 ศพ

แต่ปรากฏว่าทั้งชาว ต.สะเอ๊ะ และคนนอกพื้นที่ไกลสุดคือ ชาวนราธิวาสจำนวนมากที่มาร่วมพิธี ต่างมีความเข้าใจเป็นตรงกันข้าม สังเกตจากทั้ง 2 ศพได้รับการยกย่องและถูกจัดการเหมือนเป็นการ “ชาอีด” หรือถือเป็น “วีรบุรุษผู้พลีชีพ” ตามหลักศาสนา ซึ่งโดยข้อเท็จจริงไม่มีส่วนไหนที่เกี่ยวข้องกับศาสนาแม้แต่น้อย

ในระหว่างพิธีศพผู้เข้าร่วมมีการเรียงแถวแล้ว “จูบลงบนใบหน้าผู้ตาย” อีกทั้งยังทำการ “วิดีโอคอล” เผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางด้วย

นอกจานี้ ภายหลัง “ปีกการเมือง” บีอาร์เอ็นยังได้ปฏิบัติการ “ไอโอ” ด้วยการเผยแพร่ข่าวสารบริเวณที่เกิดเหตุ โดยเฉพาะสภาพบ้านที่ปรุพรุนไปด้วยรอยกระสุนอย่างละเอียดทุกซอกมุม แม้แต่เสื้อผ้าของคนในบ้านก็ถูกนำมาโชว์ให้เห็นรอยกระสุน เพื่อแสดงว่ามีปฏิบัติการที่ใช้ความรุนแรงของฝ่ายเจ้าหน้าที่

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการนำเสียงพูดเด็กๆ ด้วยถ้อยคำว่า "รายอนี้หนูจะเอาชุดที่ไหนใส่" มาประกอบด้วย

มีเรื่องที่น่าแปลกใจยิ่งคือ ทุกข่าวที่ถูกนำเสนอในสื่อมวลชน สื่อสังคมออนไลน์ หรือกระทั่งใน “เพจผี” ของบีอาร์เอ็น กลับไม่มีการพูดถึงความผิดของ “เจ้าของบ้าน” ที่ให้กลุ่มคนร้ายใช้หลบซ่อน แถมทุกคนยังกลับแสดงความเห็นใจผู้คนในบ้านหลังเกิดเหตุเอาเสียด้วย

แน่นอนว่าสถานการณ์เช่นนี้ไม่เป็นผลดีกับทั้ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และมาตรการดับไฟใต้ แถมยังจะเป็น “เงื่อนไขใหม่” ให้บีอาร์เอ็นนำไปใช้กับองค์กรต่างชาติต่างๆ เช่น “เจนีวาคอลล์” และ “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)” เพื่อให้เข้ามาแทรกแซงปัญหาไฟใต้

ถึงวันนี้หน่วยงานความมั่นคงยอมรับแล้วหรือไม่ว่า นอกจากสถานการณ์ไฟใต้จะไม่ได้ดีขึ้นจริงแล้ว ยังอาจจะลุกลามบานปลายไปไกลกว่าที่คาดคิด เพราะทั้งวิดีโอคอลการสู้ตาย การจัดพิธีศพ ปฏิบัติการไอโอต่างๆ เหล่านี้คือการต่อสู้ในรูปแบบใหม่ของบีอาร์เอ็น ซึ่งหน่วยงานความมั่นคงไม่เคยมีแผนรับมือใช่หรือไม่

ถึงวันนี้หน่วยงานความมั่นคงยอมรับแล้วหรือไม่ว่า หลายปีที่ผ่านมาการแก้โจทย์ปฏิบัติการไอโอของปีกการเมืองบีอาร์เอ็นในพื้นที่ประสบความล้มเหลว ไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการตอบโต้เมื่อถูกใส่ร้ายป้ายสีหรือสร้างความเข้าใจผิดๆ ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ถึงวันนี้หน่วยงานความมั่นคงยอมรับแล้วหรือไม่ว่า บีอาร์เอ็นสร้างมวลชนในพื้นที่ไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งเห็นได้จากพิธีศพแนวร่วมที่เสียชีวิต และนี่ถือเป็นสัญญาณอันตรายมิใช่น้อย เพราะนำไปสู่การทำโฆษณาชวนเชื่อเพื่อการบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ให้เอาเยี่ยงอย่างได้

ถึงวันนี้หน่วยงานความมั่นคงยอมรับแล้วหรือไม่ว่า ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ต่างยังเพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเครื่องชี้ว่างบประมาณจำนวนมากที่ทุ่มลงไปให้แก่บรรดาผู้นำเหล่านี้ กลับไม่สามารถที่จะใช้แก้ไขการบิดเบือนคำสอนทางงศาสนาของฝ่ายบีอาร์เอ็นได้เลย

ถึงวันนี้หน่วยงานความมั่นคงเชื่อแล้วหรือไม่ว่า บีอาร์เอ็นสามารถใส่ความคิดที่เรียกว่า “ยาพิษทางอุดมการณ์” ให้แนวร่วมจนยอมที่จะสู้ตาย ถ้ายังไม่เชื่อก็กลับไปทบทวนดูเหตุการณ์ปะทะแต่ละครั้งที่จะพบความจริงว่า ทำไมแนวร่วมไม่ยอมใช้ช่องทางเดินไปสู่การยอมถูกจับกุมแบบไม่ต้องถูก “จับตาย” ที่เปิดกว้างไว้เสมอมา

ทั้งนี้ จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม แต่สิ่งที่หน่วยงานความมั่นคงต้องทำคือ หากต้องการรบเพื่อชนะมีแต่ต้อง “คิดใหม่ ทำใหม่” เท่านั้น เนื่องจากวิธีการที่ทำกันอยู่ยังตามไม่ทันการปรับเปลี่ยนของฝ่ายบีอาร์เอ็น

ที่สำคัญแค่คลิปเปิดใจ “นายวันฮาซัน อะซู” อายุ 31 ปี หนึ่งแนวร่วมที่ยอมมอบตัวในเหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งที่ถูกถ่ายกับป้าย “ศูนย์ซักถาม ฉก.ทพ.41” นำมาเผยแพร่เพื่อตอบโต้ปฏิบัติการไอโอของบีอาร์เอ็นนั้น สิ่งนี้ยังน่าจะไม่เพียงพอกระมัง เผลอๆ อาจจะถูกโต้กลับว่าเป็นการ “จัดฉาก” อีกต่างหาก


กำลังโหลดความคิดเห็น